คลังไฟเขียวไอแบงก์ให้กู้รายใหญ่วงเงิน 500 ล้านต่อราย

คลังไฟเขียวไอแบงก์ให้กู้รายใหญ่วงเงิน 500 ล้านต่อราย

คลังเตรียมผ่อนปรนให้อิสลามแบงก์ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายใหม่ได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อราย จากเดิมให้กู้ได้ไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อราย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอแผนฟื้นฟูกิจการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)  โดยแผนดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในระดับนโยบายของกระทรวง เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการของธนาคารอิสลามผ่านการพิจารณาแล้ว ธนาคารจะต้องเดินตามแผนที่วางไว้ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2560 จะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องหนี้เสีย เงินทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง และการปล่อยสินเชื่อ

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)กล่าวว่ากรอบการปล่อยสินเชื่อไอแบงก์จะเปิดวงเงินได้กว้างขึ้นเป็นไม่เกิน 500 ล้านบาท ต่อราย จากเดิมไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อราย แต่จะกำหนดให้ปล่อยได้เฉพาะลูกค้าใหม่เท่านั้น และวางแนวทางสำหรับกลุ่มธุรกิจที่จะปล่อยสินเชื่อด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียเหมือนอดีต

“เราจะให้ปล่อยสินเชื่อให้รายใหญ่ได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นรายใหญ่มาก ซึ่งเราจะให้กรอบการทำงาน เช่น ปล่อยในธุรกิจกลุ่มใด ถ้าเป็นรายใหญจริง ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ และวงเงินที่ปรับเพิ่มเป็นไม่เกิน 500 ล้านบาท เราให้เฉพาะลูกค้าใหม่ และในแผนยังจะบอกถึงแนวทางรุกสินเชื่อในภาคใต้ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือในการขยายสาขาย่อยกับแบงก์รัฐอื่นๆด้วย”

สำหรับผู้ร่วมทุนในแผนจะเขียนไว้ชัดเจนเช่นกันว่า ปีนี้ธนาคารจะต้องหาผู้ร่วมทุนได้ แต่ไม่ได้ระบุว่า พันธมิตรจะต้องนับถือศาสนาอิสลาม แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการทำธุรกิจการเงินที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ มีผู้สนใจเข้ามาเจรจาร่วมทุนกับธนาคารแล้ว แต่ยังบอกไม่ได้ว่า เป็นใคร

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารธนาคารอิสลามระบุว่า ภายในปีนี้ ธนาคารจะได้พันธมิตรร่วมทุน โดยคลังจะถือหุ้นไม่น้อยว่า 25.5%เพื่อคงสิทธิ์ในการโหวต ปัจจุบัน คลังถือหุ้นอยู่ 48.5%,ธนาคารออมสิน ถือหุ้น 39%,ธนาคารกรุงไทย 9% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย 

โดยพันธมิตรที่จะเข้ามาไม่ใช่แค่มีเงินทุน แต่ต้องมีความเชี่ยวชาญในการบริการการเงินตามหลักชะลิอะห์ และมีเครือข่ายที่สามารถส่งมอบบริการที่หลากหลาย โดยกลุ่มผู้สนใจอยู่ในประเทศมุสลิมหลายประเทศ

สำหรับราคาหุ้นของธนาคาร ที่ปรึกษาทางการเงิน ได้ประเมินคุณค่าและมูลค่าของธนาคาร ( Fair Price Value) โดยคำนวณจาก สินเชื่อรวม หักหนี้เสียออกไปแล้ว เหลือหนี้ดีอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท คูณด้วย 9-11 เท่า จะได้ราคาตลาด แล้วบวกด้วย Control Premium value( คุณค่าที่ได้จากการการถือหุ้นใหญ่จนมีอำนาจ control กิจการได้)

ก่อนการดำเนินการเรื่องพันธมิตรร่วมทุนจะแล้วเสร็จ ธนาคารจะต้องขายหนี้เสีย 4 หมื่นล้านบาท ให้กับเอเอ็มซีที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดตั้ง ในราคา Book Value ซึ่งเป็นไปตามมติของ คนร.โดยหลังจากขายหนี้เสียแล้ว จะทำให้เหลือหนี้ดีราว 5 หมื่นล้านบาทกับหนี้เสียที่เป็นลูกหนี้มุสลิมรายย่อย ราว 3.4 พันล้านบาทที่ยังอยู่ภายใต้การจัดการของธนาคาร และทำให้มีเงิกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS ratio อยู่ในเกณฑ์ ของแบงก์ชาติที่ 8.5% จากปัจจุบันติดลบ 21% 

ปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อ และเงินฝาก ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน คือ 9 หมื่นล้านบาท มีผลขาดทุนสะสมอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลาม กล่าวว่า ได้เข้าไปรายงานฐานะการเงินกับที่ประชุมซูเปอร์บอดร์ดแล้ว ซึ่งในปี 2559 ยังคงมีผลขาดทุนอีกประมาณ 3 พันล้านบาท เป็นผลขาดทุนลดลงจากปี 2557 มีผลขาดทุนอยู่ที่ 9 พันล้านบาท ปี2558 เหลือขาดทุน 4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนที่มีอยู่นั้นเกิดจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่

แผนธุรกิจที่จะต้องดำเนินในตอนนี้ คือทำให้เงินกองทุนไม่ติดลบ ปัจจุบันได้ดำเนินการแยกเอ็นพีเอฟทีไม่ใช่ของชาวมุสลิมออกมาแล้ว และโอนเข้าไปอยู่ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาอิสลามแล้ว และการดำเนินการต่อไปคือ การเพิ่มทุนเปิดขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง(พีพี)หรือพันธมิตร ที่สนใจลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ

“สาเหตุที่ต้องปรับเงื่อนไข เพราะขั้นตอนดำเนินการใช้เวลานานเกินไปและยุ่งยาก ถ้าต้องการให้เห็นความชัดเจนในปีนี้ก็ต้องเร่งดำเนินการ และมีผู้ให้ความสนใจตั้งแต่เปิดให้เข้ามาเป็นพันธมิตรตั้งแต่ครั้งก่อนแล้ว 4 ราย แต่ทุกคนยืนยันว่า จะเข้าร่วมทุนก็ต่อเมื่อเงินกองทุนไม่ติดลบ”

คุณสมบัติพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุน คือ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธนาคาร และผู้ที่เข้ามาจะต้องช่วยสนับสนุนฟื้นฟูธนาคารให้มีการเติบโตให้เร็วที่สุด นอกจากนี้สัดส่วนการเสนอขายหุ้นให้กับพันธมิตร มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ ไม่เกิน 74.5% แต่ถ้ามีผู้ลงทุนสนใจสามารถเจรจาเพิ่มสัดส่วนได้ถึง 80%ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาอีกครั้ง

แผนการดำเนินธุรกิจจะเน้นลดต้นทุน โดยเฉพาะผลตอบแทนจากเงินฝาก ซึ่งตอนนี้ลดลงได้กว่า 50% ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจดีขึ้น ขณะที่ได้ขอปลดล็อกวงเงินสินเชื่อ เพื่อจะทำให้ธนาคารมีผลประกอบการที่ดีขึ้นต่อไป