‘ศรีวัฒนประภา’ครองพอร์ตหุ้น2.5หมื่นล้าน

‘ศรีวัฒนประภา’ครองพอร์ตหุ้น2.5หมื่นล้าน

สำรวจพอร์ตลงทุนหุ้นของตระกูล"ศรีวัฒนประภา" ถือหุ้น 8 บริษัท มูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้าน

หลังจากสร้างความฮือฮาด้วยการนำสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์ฟุตบอลฟรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อปี 2559 ตระกูลศรีวัฒนประภา เจ้าของธุรกิจดิวตี้ ฟรี ในนาม คิง เพาเวอร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสร ได้ประกาศเข้าฮุบกิจการของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) AAV ต่อทันที ยิ่งทำให้ตระกูลศรีวัฒนประภา เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับแวดวงตลาดทุน แม้ในระยะหลังมานี้ ก่อนที่จะเป็นกระแสจากการประกาศเข้าซื้อ AAV ตระกูลศรีวัฒนประภาอาจจะไม่ได้เป็นที่พูดถึงมากนัก แต่เมื่อไล่ดูรายชื่อการถือครองหุ้นก็พบว่าเจ้าพ่อธุรกิจดิวตี้ ฟรี ถือหุ้นใหญ่อยู่ในหลายบริษัททีเดียว

ากการปิดสมุดทะเบียนล่าสุด พบว่า มูลค่าการถือครองหลักทรัพย์ทั้งหมดของตระกูลศรีวัฒนประภา สูงกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการถือครองในหุ้นทั้งหมด 8 บริษัท ได้แก่ เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ที่เพิ่งเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อกลางปี 2559 เมื่อคิดเป็นมูลค่าการถือครองรวม ณ ราคาในปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.17 หมื่นล้านบาท ในสัดส่วน 39.82% ถัดมาคือ ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีมูลค่าการถือครองรวม 8.6 พันล้านบาท ในสัดส่วน 1.43% ถัดมาคือ พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มูลค่าการถือครองรวมประมาณ 4 พันล้านบาท ในสัดส่วน 4.38%

ส่วนที่เหลืออีก 5 บริษัทนั้นมีมูลค่าการถือครองแต่ละบริษัทต่ำกว่าหลักพันล้านบาท ได้แก่ แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) มีมูลค่าการถือครองประมาณ 500 ล้านบาท ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 2.1% โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มีมูลค่าการถือครอง 290 ล้านบาท สัดส่วนถือหุ้น 0.53% บีซีพีจี (BCPG) มูลค่ารวม 260 ล้านบาท สัดส่วน 1.01% และสามารถเทเลคอม (SAMTEL) มูลค่าการถือครอง 70 ล้านบาท สัดส่วน 0.98%
ส่วนอีกบริษัท คือ ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ และถูกพักการซื้อขาย โดยในหุ้นตัวนี้ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วน 18.63% โดยดับบลิวพี เปลี่ยนชื่อจาก ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNI) หลังจากที่ได้ควบรวมกับเวิร์ลแก๊ส (ประเทศไทย) เมื่อ 3 ปีก่อนหน้านี้

เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองในหุ้นทั้ง 8 บริษัทนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคงจะหนีไม่พ้น เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ซึ่งถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับหนึ่งทั้งคู่ ส่วนอีก 6 บริษัทที่เหลือนั้นน่าจะเป็นเพียงการลงทุนเท่านั้น

สำหรับ AAV มีการคาดการณ์กันว่าจะได้เห็นการต่อยอดทางธุรกิจระหว่างธุรกิจดิวตี้ ฟรี และสายการบิน โดย ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท และอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งที่ตัดสินใจขายหุ้นออกไปว่า

“การเป็นพันธมิตรกับกลุ่มคิง เพาเวอร์ หนึ่งบวกหนึ่งไม่ใช่สองแน่ๆ อาจจะเป็นสี่หรือห้าเลย ในอนาคตจะได้เห็นการขยายเที่ยวบินในต่างประเทศที่เร็วยิ่งขึ้นจากคอนเนคชั่นของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ และอาจจะเห็นการเติบโตได้มากกว่าเป้าที่วางไว้ 20% ต่อปี”

อย่างไรก็ตามราคาหุ้น AAV ถูกดันขึ้นไปแตะ 7.8 บาท ด้วยความคาดหวังต่อกลุ่มคิง เพาเวอร์ แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ราว 6 บาท ซึ่งก็คงต้องตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว AAV จะก้าวต่อไปอย่างไร
ส่วน WP ในขณะนี้ สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ 2 ปีติดกัน โดยปี 2558 มีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกของปี 2559 มีกำไรสุทธิ 37 ล้านบาท โดยหากพิจารณาจากเกณฑ์ในการขอกลับมาซื้อขายอีกครั้ง บริษัทต้องทำกำไรติดต่อกันอย่างน้อย 4 ไตรมาส ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่า WP จะกลับมาซื้อขายได้อีกครั้งเมื่อใด

ต่อจากนี้ เราคงจะได้เห็นบทบาทของตระกูลศรีวัฒนประภา ในแวดวงของตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ AAV ซึ่งคงจะต้องติดตามกันต่อไปว่านโยบายในการสร้างการเติบโตจะเป็นอย่างไร