'หุ้นใหญ่'พีอีต่ำกว่า10เท่าแบงก์กรุงไทยแชมป์ราคาพุ่งแรง

'หุ้นใหญ่'พีอีต่ำกว่า10เท่าแบงก์กรุงไทยแชมป์ราคาพุ่งแรง

เปิดโผ 4 หุ้นใหญ่ในเซ็ท50 ค่าพีอียังต่ำกว่า10เท่า ‘กรุงไทย-ไทยออยล์-เอสพีอาร์ซี-การบินไทย’ พบ‘หุ้นแบงก์กรุงไทย’ราคาวิ่งตั้งแต่ต้นปี10%

จากการสำรวจสถิติอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของหุ้นในกลุ่มเซ็ท 50 พบว่า มีหุ้น 4 บริษัทที่ยังมีค่าพีอีต่ำกว่า 10 เท่า ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย (KTB) ไทยออยล์ (TOP) บริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) และบริษัทการบินไทย (THAI) ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนค่าพี/อีโดยรวมของตลาดปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 19 เท่า

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย ถือเป็นหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาได้โดดเด่นที่สุดในกลุ่มนี้ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาได้ประมาณ 10% จาก 17.7 บาท มาอยู่ที่ 19.5 บาท ทำให้ค่าพี/อีขยับขึ้นจาก 7.83 เท่า มาอยู่ที่ 8.63 เท่า ขณะที่ อีก 3 บริษัท หุ้นไทยออยล์ หุ้นการบินไทย และหุ้นเอสพีอาร์ซี มีค่าพอี 7.8 เท่า 7.07 เท่า และ 7.36 เท่า ตามลำดับ

บล.โกลเบล็ก ระบุว่าหุ้นกรุงไทยมีการเติบโตโดยประมาณการปี 2560 ใช้สมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อราว 5% ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่าน่าจะลดลงเล็กน้อย 0.02% จาก 2.94% ในปี 2559 เนื่องจากเงินฝากดอกเบี้ยสูงที่จะครบกำหนดมีไม่มาก และสินเชื่อภาครัฐมีผลตอบแทนต่ำ รวมทั้งคาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ราว 3.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 4% จากปีก่อน ทำให้ประมาณการกำไรปี 2560 เพิ่มขึ้น 12% เป็น 3.33 หมื่นล้านบาท เติบโต 3.3% และคาดเติบโต 13% เป็น 3.76 หมื่นล้านบาทในปี2561

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดว่าบริษัทไทยออยล์ มีกำไรสุทธิปี 2559 จะเพิ่มขึ้น 63% เป็น 1.99 หมื่นล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกำไรจากสต็อกน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท จากที่มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน 7 พันล้านบาทในปี 2558 นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าสองเฟสใหม่ 124 เมกะวัตต์ และ115 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เดือน เม.ย. และ มิ.ย. 2559 จะช่วยหนุนให้อิบิทด้ารวมเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1.9 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามคาดว่ากำไรสุทธิปี2560 จะลดลง 19% เหลือ 1.61 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกำไรจากสต็อกน้ำมันจะลดลงเหลือเพียง 1.8 พันล้านบาท ค่าใช้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ซึ่งยกเว้นภาษี 1.9 พันล้านบาทเมื่อปีก่อน

บริษัทการบินไทย มีประเด็นที่น่าจับตามองคือ การปรับเปลี่ยนตำแหน่งหัวเรือใหญ่ ซึ่งนายจรัมพร โชติกเสถียร แจ้งลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หลังจากดำรงตำแหน่งมาได้ 2 ปี ซึ่งระหว่างนี้ผลประกอบการดีขึ้นจากที่เคยขาดทุน 1.2 -1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีกลับมามีกำไรสุทธิ 1.47 พันล้านบาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินว่า บริษัทการบินไทย ยังอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยเน้นการเพิ่มปริมาณการโดยสาร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายกำไรโดยเฉพาะช่วงที่ไม่ได้เป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ หลังจากรอบ 11 เดือน ปี 2559 รายได้ต่อหน่วยต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% เมื่อได้ปฏิบัติแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจปี 2559 จึงต้องติดตามว่าผลของการปรับโครงสร้างธุรกิจปี 2560 จะสำเร็จหรือไม่

ส่วนผลกระทบน้อยจากเรื่องการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินจากกรมสรรพสามิตสำหรับเฉพาะการบินในประเทศ เพราะหากรวมไทยสไมล์แล้วมีสัดส่วนบินในประเทศที่เป็นเพียง 5% จากทั้งหมด แต่การถือหุ้นนกแอร์ (NOK) ที่เน้นบริการสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศในสัดส่วน 39.2% จึงกลับมาได้รับผลกระทบด้านลบ เพราะสัดส่วนการให้บริการของนกแอร์เป็นการบินในประเทศที่ 80%