เปิดพอร์ต‘สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย’

เปิดพอร์ต‘สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย’

สำรวจพอร์ตลงทุนของเสี่ยป๊อบ "สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย"เน้นลงทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก

สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย หรือ เสี่ยป๊อป เป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงตลาดทุนมาอย่างยาวนาน

ล่าสุดกลับมาเป็นกระแสที่หลายคนสนใจอีกครั้ง จากการทำดีลของบริษัทโพลาริส แคปปิตัล (POLAR) เข้าซื้อ เดย์ โพแอทส์ เจ้าของนิตยสาร a-day ในราคารวม 308.7 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าราคาซื้อขายแพงเกินไปหรือไม่ รวมถึงการตั้งข้อสังเกตด้วยว่าดีลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เสี่ยป๊อป เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ต่างถือหุ้นอยู่ในทั้งบริษัทที่ซื้อและขาย เดย์ โพแอทส์

ขณะที่บทบาทนักลงทุนในตลาดหุ้นของ ‘สุรพงษ์’ จากการปิดสมุดทะเบียนล่าสุด ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน 4 แห่ง ได้แก่ เฟอร์รั่ม (FER) สัดส่วน 3% กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) สัดส่วน 2.16% โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) สัดส่วน 1.32% และนิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) NPP ในสัดส่วน 16.43% และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 พ่วงด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท ชื่อของ สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ปรากฏเข้ามาถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) ตั้งแต่ปี 2555 หลังจากที่บริษัทสามารถกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง จากที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการไประยะหนึ่ง โดยเสี่ยป๊อปยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และยังมีรายงานการซื้อหุ้นเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

โดยหลังจากวันปิดสมุดทะเบียนเมื่อ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา เสี่ยป๊อป ถือหุ้นนิปปอน แพ็ค เพิ่มขึ้นจาก 10.22% เป็น 16.43% และหลังจากนั้นยังมีรายงานการซื้อเพิ่มอีกเกือบ 15 ล้านหุ้น หรือประมาณ 1.5% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เดิมที นิปปอน แพ็ค เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกในรูปแบบต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจขยายธุรกิจใหม่เพิ่มเติม คือ ธุรกิจอาหาร โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าไปซื้อหุ้นในธุรกิจร้านอาหาร สัดส่วน 55% ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีธุรกิจหลักคือร้าน เอ แอนด์ ดับบลิว นอกจากนี้ยังเข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ในสัดส่วน 45% ภายใต้บริษัท ไทยลักซ์ ฟู้ดโปรดักส์

นอกจากในส่วนของ นิปปอน แพ็ค ซึ่งลงมือบริหารด้วยตนเอง การถือหุ้นในอีก 3 บริษัทที่เหลือ เมื่อดูจากสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว น่าจะเป็นเพียงการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนเท่านั้น และเมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าการลงทุนของ สุรพงษ์ ต่างเน้นไปที่หุ้นขนาดกลางถึงเล็กทั้งหมด

อย่าง กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ประกอบธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า รวมถึงก่อสร้างและลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งสุรพงษ์เข้าไปถือหุ้นตั้งแต่ต้นปี 2559 หลังจากนั้นราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแล้วประมาณ 20% เช่นเดียวกับ โพลาริส แคปปิตัล ซึ่งสุรพงษ์ เพิ่งเข้าไปถือหุ้นเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมานี้ ส่วน เฟอร์รั่ม อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจมาสู่พลังงานเต็มตัว ทั้งในรูปแบบของการให้บริการสถานีบริการน้ำมัน และพลังงานทดแทน โดยสุรพงษ์เข้ามาถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558

ล่าสุด กันกุลถูกกดดันจากกระแสข่าวว่าธุรกิจพลังงานลมของบริษัทอาจจะสะดุดจากกรณีที่การใช้ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่เหล่านั้นจะไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินในพื้นที่โฉนดและพื้นที่เช่าชนิด น.ส.3 ก เป็นส่วนใหญ่ ปราศจากการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ สปก.ในการพัฒนาโครงการ และประเด็นดังนั้นกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบหรือสร้างความไม่แน่นอนอันเกี่ยวเนื่องกับโครงการในอนาคต โดยบริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้ ทำให้ราคาหุ้นเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ราว 3-4% หลังจากปรับตัวลดลงประมาณ 18% ก่อนหน้านี้

จะเห็นว่าหุ้นที่ สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ถืออยู่นี้ ส่วนมากเป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ส่วนผลลัพธ์ของการตัดสินใจเข้าลงทุนในหุ้นขนาดเล็กเหล่านี้จะออกมาอย่างไร คงจะต้องรอดูตัวเลขผลประกอบการในอนาคต