ปชช.ร้อยละ 94 หนุนฟื้น 'พระราชพิธีการถวายเทียนรุ่ง'

ปชช.ร้อยละ 94 หนุนฟื้น 'พระราชพิธีการถวายเทียนรุ่ง'

วธ.เผยผลโพล "วันมาฆบูชา" ประชาชน ร้อยละ 94 หนุนฟื้น "พระราชพิธีการถวายเทียนรุ่ง"

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็น เด็ก เยาวชนและประชาชน เกี่ยวกับ “วันมาฆบูชา” จากกลุ่มตัวอย่าง2,972 คน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยผลสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 36.31 ทราบว่า วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงแสดง“โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือเดือน3 รองลงมาร้อยละ 32.97 เป็นวันที่มีการเผยแพร่หัวใจของหลักคำสอนพระพุทธศาสนา คือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อมการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และร้อยละ 30.72 เป็นวันที่มีพระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ส่วนกิจกรรมที่ประชาชนจะทำในวันมาฆบูชาพบว่า ร้อยละ 69.10 บอกว่าตั้งใจจะทำบุญ รองลงมาร้อยละ 67.11 ไปตักบาตร ร้อยละ 54.24 เวียนเทียน

 นายวีระกล่าวอีกว่า ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนร้อยละ 53.22ทราบว่าประเทศไทยร่วมกับประเทศอาเซียน จัดงานพระพุทธศาสนามาฆบูชาอาเซียนใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก เชียงราย แม่ฮ่องสอน สระแก้ว สุรินทร์ มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย อุบลราชธานี นครพนม เลย ศรีสะเกษ ระนอง สงขลา และสตูล ระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์นี้  ทั้งนี้กิจกรรมที่ประชาชนอยากเข้าร่วมในงานมาฆบูชาของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด อันดับแรก ร้อยละ 35.60คือกิจกรรมด้านศาสนพิธี ได้แก่ พิธีทำบุญตักบาตร พิธีเวียนเทียน พิธีเจริญพระพุทธมนต์และการแสดงพระธรรมเทศนา รองลงมาร้อยละ 34.35 เข้าร่วมกิจกรรมด้านส่งเสริมศีลธรรม อาทิ การลดละเลิกอบายมุข ประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย การแสดงตนเป็นพุทธมามะกะ เป็นต้น และร้อยละ 29.85 เข้าร่วมกิจกรรมด้านองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนา โดยเข้าชมนิทรรศการวันมาฆบูชา 

นอกจากนี้การสำรวจยังได้สอบถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการฟื้นฟูและเผยแพร่องค์ความรู้ “พระราชพิธีการถวายเทียนรุ่ง” (เทียนรุ่ง คือ เทียนจุดบูชาตั้งแต่หัวค่ำจนถึงรุ่งเช้า (ตลอดคืน) ซึ่งกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง จัดเตรียมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงเจิมและพระราชทานอุทิศไปจุดบูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชาตามวัดสำคัญในกรุงเทพฯ ที่ได้บำเพ็ญสืบต่อกันมา ประชาชนร้อยละ94.41 เห็นด้วยกับการฟื้นฟูและเผยแพร่องค์ความรู้ “พระราชพิธีการถวายเทียนรุ่ง” รวมทั้งมีเสนอแนะให้ฟื้นฟูประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและรับรู้ถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องโดยจัดกิจกรรมประเพณีทุกครั้งที่เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาและการแสดงพระธรรมเทศนาควรจัดแบบเต็มรูปแบบ

ขณะเดียวกันการสำรวจได้สอบถามประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ต้องการให้ วธ.จัดขึ้นเป็นพิเศษใน วันมาฆบูชาพบว่า ร้อยละ 66.18 ทำบุญ ตักบาตรเพราะช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย และเสริมสร้างความสามัคคี รองลงมาร้อยละ65.70 สวดมนต์ ฟังเทศน์ เวียนเทียน เป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมอันดี ร้อยละ48.21 จัดนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนา ช่วยให้ความรู้แก่เด็ก ร้อยละ 45.03 กิจกรรมสวดมนต์และแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ และร้อยละ 14.11บวช/อุปสมบท เป็นการสืบสานพระพุทธศาสนา