ผู้ว่าแบงก์ชาติเตือนเอกชนกู้ข้ามสกุล 'เสี่ยงสูง'

ผู้ว่าแบงก์ชาติเตือนเอกชนกู้ข้ามสกุล 'เสี่ยงสูง'

"แบงก์ชาติ" ระบุแนวโน้มค่าเงินผันผวนมากขึ้น รับเข้าไปดูแลช่วงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็ว เตือนเอกชน อย่ากู้เงินหลากสกุลเข้าลงทุน "เสี่ยงสูง"

นับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐและได้แถลงนโยบายให้ความสำคัญกับสหรัฐก่อน รวมทั้งมีนโยบายกีดกันการค้ากับหลายประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนอย่างมาก เนื่องจากเกิดความไม่แน่นอนในนโยบายของนายทรัมป์ โดยค่าเงินบาทจากปลายปีที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแต่พอต้นปีนี้กลับมาแข็งค่าที่ 35 บาทต่อดอลลาร์

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และเริ่มมีการกระจายตัวมากขึ้นจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ในรูปกลุ่มจังหวัด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เมื่อวันพุธที่ผ่านมามีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ซึ่งเป็นระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ

วิรไทชี้สัญญาณค่าเงินผันผวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในปีนี้ แนวโน้มทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน จะมีความผันผวนมากขึ้น จึงอยากจะเน้นย้ำให้ผู้ที่นำเข้าหรือส่งออกควบคุมความเสี่ยง เพื่อป้องกันความเสียหายกับธุรกิจ

“ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงกับผู้ประกอบการ โดยในการประชุมกนง.ที่ผ่านมาก็ห่วงในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก”นายวิรไท กล่าวในงานสัมมนา"ทิศทางเศรษฐกิจปี 2560 บนความท้าทายในงาน THE WISDOM Wealth Avenue จับจังหวะโลก เจาะจังหวะการลงทุน วานนี้ (9 ก.พ.)

นายวิรไทกล่าวว่า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเกิดจากความไม่แน่นอนของภาคการเมืองและภาคเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งส่งผลโดยตรง ทั้งนี้ต้องย้ำกับภาคธุรกิจว่า นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของไทย เป็นแบบลอยตัว ดังนั้นนักลงทุนต้องระมัดระวังความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการเงิน อย่างการกู้เงินในเงินสกุลหนึ่งแล้วมาลงทุนในอีกเงินสกุลหนึ่ง อาจเกิดความเสี่ยง ซึ่งนักลงทุนต้องปิดความเสี่ยงดังกล่าว

รับเข้าดูแลบาทช่วงเปลี่ยนแปลงเร็ว

สำหรับการดูแลค่าเงินนั้น ธปท.ยังคงดำเนินการตามนโยบาย คือจะต้องเอื้อกับการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งอาจมีการเข้าไปดูแลในบางครั้งที่อัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในระยะสั้น

"การบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญ ธนาคารกลางจะเข้าไปดูแล เมื่อมีความผันผวนสูงในระยะเวลาอันสั้นและจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพราะฉะนั้นอย่าชะล่าใจว่าจะมีใครดูแลความเสี่ยงให้ตลอดเวลา ขณะนี้เราใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลาโดยเฉพาะผลกระทบจากปัจจัยภายนอก”นายวิรไทกล่าว

เศรษฐกิจโลกเผชิญ 3 ต่ำ 2 สูง

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาเผชิญกับปัญหาที่ถูกเรียกว่า 3 ต่ำ 2 สูง โดยในความเสี่ยงด้านต่ำนั้น คือการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับต่ำในหลายประเทศ ส่วนที่ 2 คืออัตราเงินเฟ้อต่ำ และ 3 อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ

ส่วนความเสี่ยงในด้านสูงนั้น จะมาจากความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกที่สูงขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ และ2 ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในระดับที่สูงมากขึ้น เห็นได้จากการทำการสำรวจผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 8 คน มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร ครึ่งโลกรวมกัน

นอกจากนี้หลายประเทศเริ่มปรับนโยบายจากเดิมที่เน้นการค้าระหว่างประเทศ เป็นการพึ่งพิงการเติบโตในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจโลกเริ่มมีการคลายตัวมากขึ้น อย่างการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีทิศทางที่ดี นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี คนใหม่ของสหรัฐที่จะเน้นการลงทุนการจ้างงานที่มากขึ้น ทิศทางเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่กลุ่มโอเปก เริ่มควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลกไม่ให้มากจนเกินไป

อย่างไรก็ตามแนวโน้มเศรษฐกิจในหลายประเทศจะมีความเปราะบางมากขึ้น จากนโยบายการเงินและปัญหาทางการเมืองที่มีมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่มีความรวดเร็วและจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว โครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น และ การมีชนชั้นกลางที่มากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ประเทศไทยเมื่อเทียบความเสี่ยงกับต่างประเทศจะพบว่ามีแนวโน้มที่ดีกว่า แม้ว่าการเติบโตของจีดีพีในช่วงที่ผ่ามาจะเติบโตของจีดีพีน้อยกว่าระดับ 5% ต่อปี แต่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางที่ขยับขึ้นเข้าใกล้เป้าหมาย

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาดุลบัญชีเดินสะพัด ปรับเพิ่มขึ้น 10% ของจีดีพี ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้สินระยะสั้นสูงถึง 3.2 เท่า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดแรงปะทะจากเศรษฐกิจภายนอกได้

คลังสั่งตุนสภาพคล่องรับมือทรัมป์

ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแผนการดูแลเศรษฐกิจเพื่อเตรียมรองรับการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ โดยกล่าวว่า ได้มีการหารือถึงการเตรียมแผนรองรับความผันผวนต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย โดย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ ธปท. เตรียมสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอที่จะรองรับความผันผวนในเรื่องดังกล่าวแล้ว

“นอกจากทุนสำรองระหว่างประเทศแล้ว ยังต้องเตรียมสภาพคล่องของเงินบาทและเงินดอลลาร์ที่มีอยู่ในระบบสถาบันการเงินด้วย และ ต้องดูแลไม่ให้ต้นทุนผู้ประกอบการกระตุกด้วย โดยแผนการดูแลในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นแผนระยะสั้นที่เราเตรียมรองรับไว้”

ส่วนแผนระยะยาวนั้น คงเป็นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกดำเนินการ ซึ่งเราเองก็ได้เตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยดำเนินการผ่านการใส่งบประมาณเข้าไปเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนและการใช้จ่ายในระดับท้องถิ่น และ พยายามดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนให้มากขึ้น

สำหรับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของทรัมป์ ต่อการค้าหลังทรัมป์มีนโยบายยกเลิก TPP มองว่า ไทยจะไม่ตกขบวนในเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศ ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่สหรัฐอาจมีปัญหาด้านการค้าระหว่างกัน ก็ต้องรอดูว่า จะออกมาในรูปแบบใด แต่ในแง่นโยบายของทรัมป์ที่มีแผนในเรื่องของการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น มองว่า น่าจะเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบของไทยไปยังสหรัฐ

ห่วงไทยเสียเปรียบเวียดนาม-มาเลย์

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า นโยบายของทรัมป์ที่จะเน้นการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้น อาจมีผลให้ไทยเสียเปรียบเวียดนามและมาเลเซียในการแข่งขันการค้ากับสหรัฐได้ และ กรณีการขึ้นภาษีนำเข้าต่อประเทศจีนในระดับ 45% จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 3%นั้น มองว่า มีทั้งผลบวกและลบกับไทย โดยเชิงบวก ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าในกลุ่มที่สหรัฐกีดกันจากจีนได้มากขึ้น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องจักร ยางพารา มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ เป็นต้น แต่กลุ่มนี้ ก็จะมีเวียดนาม และ มาเลเซียที่จะเข้ามาแข่งขันกับไทยด้วย ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบ คือ กลุ่มสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยเพื่อนำไปผลิตและส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งก็คือ กลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเด็กเล่น เป็นต้น

นายอัทธ์มองว่า สหรัฐจะหันมาใช้นโยบายดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งคาดว่า จะดำเนินการหลัง 100 วันที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินหยวน และค่าเงินสกุลอื่น รวมถึง เงินบาทของไทยปรับค่าแข็งขึ้น และ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก