แบงก์แลนด์ชี้มี.ค.รู้ผลร่วมทุนแจ้งไต้หวันช้าเหตุรออนุมัติ

แบงก์แลนด์ชี้มี.ค.รู้ผลร่วมทุนแจ้งไต้หวันช้าเหตุรออนุมัติ

แลนด์แอนด์เฮ้าส์แบงก์ แจงแผนร่วมทุนไต้หวันคาดเสร็จก.ย.เหตุล่าช้าซีทีบีซี รอกระบวนอนุมัติร ลุ้นผลชัดเจนมี.ค. หากยืดเยื้อมีแผนสองรองรับแล้ว

นางศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ CTBC Bank ว่า ได้รับการแจ้งจาก CTBC ว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาจากทางการไต้หวัน คาดว่า ความร่วมมือเป็นพันธมิตรในการเพิ่มทุนครั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย.ปีนี้ ถือว่า ล่าช้าออกไปจากเดิมคาดว่าจากแล้วเสร็จปลายปีก่อน

ตามบันทึกข้อตกลงนั้น  CTBC Bank ธนาคารอันดับ 1 ในไต้หวัน ได้ลงนามเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารที่ราคา 2.20 บาท/หุ้น คิดเป็น 16,599 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น 35.6% โดยจะถือหุ้นเท่ากับบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ รวมทั้งจะเข้ามาร่วมบริหารเพื่อต่อยอดธุรกิจธนาคารทั้ง

ลูกค้าไพรเวทแบงกิ้ง เทรดไฟแนนซ์ในกลุ่มลูกค้าไต้หวันและต่างชาติ

อย่างไรก็ตามธนาคารได้แจ้งกับสำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ถึงสาเหตุที่ล่าช้าแล้ว ระหว่างนี้ธนาคารยังจะรอความชัดเจน ถ้ามีแนวโน้มล่าช้าออกไปหรือไม่ได้เป็นประโยชน์กลุ่มการเงิน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แล้ว ธนาคารสามารถที่จะถอนตัว (Exit)ได้ในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้มีแผนสำรองเตรียมพร้อมไว้แล้ว

ไม่ว่าธนาคารจะมีพันธมิตรรายใหม่หรือไม่ ก็ยังมุ่งมั่นสร้างการเติบโตต่อไป เห็นได้จากปี 59 สินเชื่อโต 6% ขณะที่ตลาดโตเฉลี่ย 2% และยังมีคุณภาพสินเชื่อที่ดี หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ต่ำกว่า 2% ขณะที่ตลาดสูงถึง2.98% ดังนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้การผู้ร่วมทุนไต้หวันล่าช้าออกไป

“ธนาคารยังต้องการเติบโตอยู่ แต่ถ้าล่าช้าเกินกรอบเวลานี้ไปแล้ว แผน 2 คงต้องทำเพื่อให้กลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เติบโตต่อไปได้”

แต่หากในเดือนมี.ค.นี้ CTBC ได้รับการพิจารณาจากทางการไต้หวัน จะเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาอนุมัติ และส่งเรื่องไปที่ ก.ล.ต.เพื่อเปิดประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติเพิ่มทุน

    ด้านกลยุทธ์ในปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต6-10% จากปีก่อนที่ 5.7% หรืออยู่ที่157,000 ล้านบาท และยังคงควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และสินเชื่อ โดยจะคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ไว้ไม่เกิน 1.8% จากปีก่อน NPL ลดลงมาอยู่ที่1.76%

ส่วนการตั้งสำรองในปีนี้ เตรียมไว้อีก200-300ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตสินเชื่อและดูแลคุณภาพสินเชื่อ จากปัจจุบันเงินสำรองหนี้เสียอยู่ในระดับสูงถึง 120%

แผนธุรกิจปี 60 กลยุทธ์การขยายสินเชื่อ ฐานเงินฝาก และรายได้ค่าธรรมเนียม กำหนดเป้าหมายลูกค้าที่ชัดเจน หรือการทำ customer segmentation เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการลูกค้า ลดต้นทุนการเงินด้วยการขยายฐานเงินฝากต้นทุนต่ำ บริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยรักษาระดับ cost to income ไม่เกิน45% 

“สินเชื่อปีนี้จะมุ่งเติบโตรายย่อย แม้ว่ากระบวนการพิจารณาสินเชื่อยังเหมือนเดิม แต่พบว่า คุณภาพลูกค้าจะเข้าถึงสินเชื่อได้ลดลง ปัจจุบันธนาคารพบว่า ยอดอนุมัติสินเชื่อลดลงจาก 50% มาอยู่ที่30-40% จากปีก่อน แต่ถ้าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวตามที่ภาครัฐคาดไว้ และธนาคารพยายามจัดโปรแกรมรีไฟแนนซ์เข้าไปช่วยลดภาระการผ่อน ขยายเวลาให้ลูกค้าเดิมชั้นดีผ่อนมา 3-4 ปี หรือเพิ่มวงเงินกู้ on top บนสินทรัพย์ที่ลูกค้าเดิมมีอยู่ โดยได้เริ่มส่งจดหมายแจ้งถึงลูกค้าเดิมทุกรายเมื่อต้นเดือนนี้แล้ว ว่ามีความสนใจมากน้อยแค่ไหน ก็น่าจะทำให้สินเชื่อรายย่อยปีนี้ยังเติบโตได้”

ส่วนปี 2559 มีกำไรสุทธิ 2,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น63.6%