วิถีพ่อมดในเมืองใหญ่

วิถีพ่อมดในเมืองใหญ่

ภาพพ่อมดแม่มดร่ายเวทย์บนหม้อยาใบใหญ่ แมวดำ และคำสาป ในภาพยนตร์และนิทานหลอมการรับรู้ศาสตร์เหล่านี้ให้เป็นราวกับมนต์ดำที่น่ากลัว

ที่จริงแล้วพ่อมดแม่มดคือวิถีชีวิตและภูมิปัญญาโบราณ ซึ่งคนในอดีตไม่ว่าในดินแดนใดๆ พยายามศึกษาธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาอย่างมาก

เราได้มาคุยกับ ไวน์ – อธิวัน คงสอน พ่อมดหนุ่มเจ้าของร้าน Ace of Cup, The Witch Café คาเฟ่ที่ไม่ได้เพียงตกแต่งด้วยธีมของพ่อมดแม่มด แต่สิ่งที่อยู่ในร้านล้วนมีความหมาย เจ้าของร้านก็ยังสมาทานวิถีของพ่อมดมาปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน และตั้งใจสร้างที่นี่ให้เป็นพื้นที่รวมตัวกันของผู้ที่สนใจศึกษาศาสตร์นี้เป็นที่แรกในประเทศไทย

พ่อมดไวน์เล่าว่า พวกเขาเริ่มต้นมาจากการรวมตัวกันของคนที่สนใจศาสตร์เวทย์มนต์ตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงปี 2542 – 2543 ก่อนกระแสของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เสียอีก โดยพูดคุยกันผ่านเว็บบอร์ด มีการศึกษาอย่างจริงจัง จัดมีทติ้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ แนะนำหนังสือกัน (ที่เป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ โดยมีร้านคิโนะคุนิยะเป็นเพื่อนยากของพวกเขา)

ศาสตร์พ่อมดคืออะไร?

ในเมื่อไม่อาจเรียกว่าศาสนาได้ ไวน์อธิบายว่า “ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Practice คือการปฏิบัติ ไม่ใช่ศาสนา แต่คือวิถีชีวิต ว่ากันตามจริง เวทย์มนต์ปรากฏอยู่ในทุกความเชื่อ กระทั่งพุทธศาสนาก็ยังมีเรื่องคาถา การสวดมนต์ อำนาจ คริสต์ก็มี ผมมองว่าเรื่องเวทย์มนต์คือวิถีชีวิต”

“คำว่าพ่อมดแม่มด หรือ Witch รากศัพท์เดิมมีความหมายบวก ที่มาคือคำเดียวกับภาษาบาลี - สันสกฤต ของคำว่า วิชชา หรือวิทยา ครับ เพราะเป็นภาษาสายอินโดยูโรเปียนเหมือนกัน หมายถึงผู้รู้หรือปัญญา ใช้เรียกคนที่มีความรู้บางอย่างมากกว่าคนทั่วไป เช่น มีความรู้เรื่องสมุนไพรที่ทำให้หายป่วย รู้เรื่องของสสาร การปรุง เหมือนนักเล่นแร่แปรธาตุ เรียกว่าเป็นผู้รู้ที่พยายามค้นหาความจริงในธรรมชาติ ทำความเข้าใจกระบวนการ และนำมาใช้ได้”

จริงอยู่ว่าพ่อมดแม่มดมีหลายสาย แต่ที่ร้านของไวน์พยายามทำให้กว้าง โดยเรียกรวมว่า เพแกน (Pagan) หมายรวมความเชื่อที่อยู่นอกกระแสหลัก เป็นศาสนาท้องถิ่น เทพเจ้าท้องถิ่น ความเชื่อดั้งเดิม ด้วยความที่ว่ากลุ่มของไวน์เป็นพ่อมดแม่มดรุ่นแรกในเมืองไทย จึงพยายามทำให้กว้างเข้าไว้ ใครสนใจสายไหนเข้ามาก็พูดคุยกันได้ทุกหัวข้อ

ปฏิทินธรรมชาติของพ่อมด

ในวันที่เรามาคุยกับไวน์นั้นตรงกับวัน อิมม็อค (Imbolc) ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองวันสิ้นสุดฤดูหนาวตามปฏิทินของพ่อมด ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นปฏิทินที่ยึดเอาวันสำคัญทั้ง 8 ซึ่งเป็นวันทางภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ของประเทศตะวันตกที่มีฤดูกาลแตกต่างกันอย่างชัดเจน

“ด้วยความที่เราอยู่กับธรรมชาติ สังเกตความเปลี่ยนแปลงของโลก วันสำคัญทั้ง 8  จริงๆ เป็นวันทางภูมิศาสตร์ คือ วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันที่กลางวันกลางคืนเท่ากัน ซึ่งมาจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่ทำมุมกับโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับฤดูกาลครับ ก็คือวันสิ้นฤดูและวันเริ่มฤดูใหม่ เช่น วันสิ้นฤดูร้อนเริ่มฤดูใบไม้ร่วง วันสิ้นฤดูใบไม้ร่วงเริ่มฤดูหนาว วันสิ้นฤดูหนาวเริ่มฤดูใบไม้ผลิ วันสิ้นฤดูใบไม้ผลิเริ่มฤดูร้อน และวันกลางฤดูต่างๆ รวมเป็น 8 วัน”

ปฏิทินเริ่มต้นจากสังคมเกษตรกรรม จึงเกี่ยวข้องกับฤดูกาลการเก็บเกี่ยว แล้วแม่มดซึ่งมีการเฉลิมฉลองวันทั้ง 8 นี้เช่นกันเกี่ยวข้องอะไรกับการเก็บเกี่ยว ในเมื่อไม่ใช่พ่อมดแม่มดทุกคนที่ทำไร่เลี้ยงสัตว์

“เพราะวันทั้ง 8 เป็นหมุดของธรรมชาติ ประเทศที่ละติจูดสูงๆ จะเห็นว่าหน้าหนาวนี่ขาวโพลน ต้นไม้ไม่มีใบ ส่วนหน้าร้อนก็เขียวมีชีวิตมาก จุดนี้แหละที่พ่อมดแม่มดนำมาเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาจิตวิญญาณ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและสัจธรรมของโลก จากความตาย กลับมาสู่ความมีชีวิต และกลับไปตายอีกครั้ง ฉะนั้น การเฉลิมฉลองวันทั้ง 8 ก็ไม่ใช่แค่ฤดูกาล แต่ยังเป็นหมุดในการพัฒนาทางจิตวิญญาณของเรา ว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งการใช้ชีวิต ช่วงเวลานี้เป็นช่วงแห่งการพิจารณาตนเอง ช่วงเวลาแห่งการละทิ้งสิ่งเก่าๆ เป็นต้น”

พ่อมดแม่มดในเมืองใหญ่

แม้จะเป็นศาสตร์โบราณ แต่ก็มีการสืบทอดกันมา และปรับตัวให้เข้ากับสังคมร่วมสมัย ไวน์เล่าว่า

“ตอนนี้มีคำใหม่ที่เรียกว่า Urban Witch พ่อมดแม่มดที่อยู่ในเมือง แม่มดไม่ได้จำเป็นต้องอนุรักษ์นิยมนะครับ คำดั้งเดิมของเราคือผู้มีความรู้ ฉะนั้น เราต้องปรับตัวให้เข้ากับโลก ถึงกับมีตำรา Magic in the Kitchen ตำรา Wicca in the Kitchen สามารถทำเมจิคในครัวเราได้ หรือ Supermarket Witch ซึ่งเราสามารถหาของมาประกอบเวทย์มนต์ของเราได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่จำเป็นต้องเข้าป่าไปหาสมุนไพรเหมือนแต่ก่อน” แถมพ่อมดแม่มดสมัยนี้ก็สั่งของออนไลน์กัน และใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลสื่อสารศาสตร์นี้ด้วย

หลายประเทศในเอเชียก็มีคาเฟ่แนวพ่อมดและพื้นที่ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนในเมืองไทย กลุ่มของพ่อมดไวน์นับว่าเป็นรุ่นแรก จึงยังไม่มีความจริงจังในการศึกษาด้านนี้มากพอ “เพราะยังไม่มีฐานความเชื่อเดิม คนนอกจะมองว่าเป็นกระแส” การที่จะสร้างชุมชนพ่อมดแม่มดในเติบโตขึ้น ไวน์บอกว่าต้องอาศัยรุ่นที่ 2 “รุ่นลูก รุ่นหลานที่โตมากับวิถีชีวิตแบบนี้ คุ้นเคย และยอมรับความแตกต่างนี้ได้” สิ่งที่ไวน์รุ่นแรกอย่างไวน์ต้องทำคือสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นพ่อมดแม่มด

ถามไวน์ว่าเมื่อเขาหันมาปฏิบัติตัวตามวิถีของพ่อมดแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างไรบ้างไหม เขานิ่งคิด

“ผมว่าเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ผมสนใจศึกษาเวทย์มนต์และจิตวิญญาณก็จริง แต่ผมก็สนใจปรัชญา ศาสนา สังคมวิทยา และศาสตร์อื่นๆ ด้วย ผมมองว่าประเด็นสำคัญที่สุดคือการรู้ให้กว้าง พอเรารู้กว้างแล้วเราจะยอมรับความแตกต่าง จุดที่ดีที่สุดที่ผมหวังไว้ ไม่ใช่การที่คนจะมาสนใจเวทย์มนต์ทุกคน แต่หวังให้คนที่สนใจเวทย์มนต์ หรือคนที่สนใจเรื่องนี้อยู่ในสังคมได้อย่างไม่แปลกแยก ถ้าจะไปให้ถึงจุดนั้น สังคมก็ต้องยอมรับความแตกต่างให้ได้ และพอเราศึกษาเวทย์มนต์ซึ่งมีหลายแขนงมาก เราก็จะรู้ว่าต่อให้มีความเชื่อต่างกัน วิธีการต่างกัน แต่ผลลัพธ์เหมือนกัน เราจะเข้าใจในวิถีทางของผู้อื่น เราจะยืดหยุ่นมากขึ้น และใช้ชีวิตสบายใจขึ้น”