ระวังโปรตีนกลูเตนในเบเกอรี่

ระวังโปรตีนกลูเตนในเบเกอรี่

เตือนท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง อย่านิ่งนอนใจอาจเป็นโรคเซลิแอคได้ เหตุจากแพ้โปรตีนกลูเตนที่มีอยู่ในเบเกอรี่และอาหารจำพวกแป้งบางชนิด

เตือนท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง อย่านิ่งนอนใจอาจเป็นโรคเซลิแอคได้ เหตุจากแพ้โปรตีนกลูเตนที่มีอยู่ในเบเกอรี่และอาหารจำพวกแป้งบางชนิด ปล่อยไว้มีผลทำให้ลำไส้เล็กถูกทำลายได้

พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่นิยมบริโภคอาหารประเภท เบเกอรี่ อาทิ เค้ก พาย ขนมปัง ข้าวโอ๊ต ซีเรียล ซึ่งในอาหารจำพวกแป้งเหล่านี้จะมีโปรตีนที่เรียกว่า กลูเตน (Gluten) ที่ ช่วยทำให้อาหารเหนียว นุ่ม และยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่รับประทานมังสวิรัติ และอาหารเจ แต่สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

การแพ้กลูเตนอาจก่อให้เกิดโรค ที่เรียกว่า โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โดยกลูเตนจะทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบ จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง (Autoimmune Disease) โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสร้างแอนติบอดีเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อบุเซลล์ที่ลำไส้เล็ก (microvilli) ส่งผลให้เกิดการอักเสบและฝ่อในที่สุด ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การดูดซึมอาหาร เกลือแร่ วิตามิน ได้ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการ ท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้องที่เกิดจากก๊าซในกระเพาะอาหาร โลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากดูดกลืนโฟลิค และวิตามิน B12 ได้ไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง กระดูกพรุน ระบบประสาททำงานผิดปกติ ผิวหนังเป็นผื่นบริเวณข้อศอกและเข่า ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ โกธรง่าย ซึมง่าย ในกรณีที่เกิดในเด็กจะทำให้เด็ก โตช้า ตัวเล็กกว่าเด็กปกติทั่วไป ในผู้ป่วยโรคเซลิแอค บางรายจะไม่มีอาการเลยก็ได้แต่โรคดังกล่าวยังคงมีการทำลายลำไส้เล็กอย่างต่อเนื่อง

พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเซลิแอคประมาณ 1-2% ประชากรไทยพบโรคนี้ได้ 0.3% พบได้มากในคนผิวขาว เป็นได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากสุดในกลุ่มช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยหากมีพ่อ แม่ พี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสที่คนอื่นๆในครอบครัวจะเป็นโรคนี้ด้วยถึง 10%

ณิศรา ตีระวัฒนพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ หรือ N Health เปิดเผยว่า การวินิจฉัยโรคเซลิแอคนั้นทำได้โดยตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อในลำไส้เล็กเพื่อตรวจยืนยัน เนื่องจากโรคเซลิแอค จะมีอาการใกล้เคียงกับโรคอื่นๆของ ระบบลำไส้ ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการ จึงมีคนไข้ที่อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลิแอค หากไม่ได้รับการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นก่อน โดยสามารถตรวจได้ที่ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั่วไป


อย่างไรก็ตาม หากตรวจดูอาการของตนเองแล้วพบว่า มีอาการเข้าข่ายแพ้กลูเตน ควรปรึกษาแพทย์พร้อมประวัติการรักษาเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับช่องท้อง เพื่อให้ได้รับการ วินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากตรวจแล้วพบว่าแพ้กลูเตน ก็จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งอาจจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคนมด้วย เพราะผู้ ที่เป็นโรคเซลิแอค จำนวนมากมีอาการแพ้นม เนื่องจากไม่สามารถย่อยแลคโตสได้ นอกจากนี้ควรได้รับการแนะนำจากนักโภชนาการที่มีประสบการณ์โดยตรงในการจัด อาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคโรคเซลิแอค และควรอ่านฉลากอย่างระมัดระวังก่อนที่จะบริโภคอาหารทุกชนิด