“TARIS” ธุรกิจโรงแรมสายพันธุ์ “ข้าวไก่แจ้”

“TARIS” ธุรกิจโรงแรมสายพันธุ์ “ข้าวไก่แจ้”

“Taris Art Hotel”โรงแรมน้องใหม่ใน จ.แพร่ คือธุรกิจล่าสุดของ“ข้าวไก่แจ้” ไอเดียคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม เติมเม็ดเงินสู่ธุรกิจครอบครัว

“ข้าวไก่แจ้ ไปทำโรงแรมอยู่ที่ จ.แพร่”

หนึ่งเรื่องเซอร์ไพรส์จาก “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีอาร์ ไทย ฟู้ดส์ จำกัด ทายาท “ข้าวไก่แจ้” แห่งเมืองชล หลังประมาณ 2 ปีก่อน เขาเพิ่งส่งข้าวต้มมัดนวัตกรรม และสแน็คสายพันธุ์ไทยแบรนด์ “แม่นภา” มาเขย่าตลาดไปหยกๆ

ผ่านไป 2 ปี “แม่นภา” ส่งไปขายในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก กับตัวสินค้าที่หลากหลายขึ้น ขยับจากยอดขายประมาณ 20 ล้านบาท ในปีแรก เพิ่มเป็น 60 ล้านบาทในปีถัดมา ขณะที่ปีนี้เจ้าตัวก็ตั้งเป้าว่า จะไปถึง 100 ล้านบาท! ให้ได้

แล้วทำไมจู่ๆ ถึงคลอดอีกธุรกิจมาเซอร์ไพรส์กันซะอย่างนั้น!

“ความจริงผมชอบลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว และทำมาก่อนที่จะมีแม่นภาด้วยซ้ำ” คนหนุ่มเฉลย

ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่า ธุรกิจครอบครัวข้าวไก่แจ้ไม่ได้มีแค่ของกินได้ แต่พวกเขายังเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายย่อมๆ โดยเมื่อประมาณ 4 ปี ก่อน ได้เริ่มจากไปซื้ออพาร์ทเมนท์เก่าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครมารีโนเวท แล้วปล่อยเช่าให้กับหนุ่มสาวโรงงาน เรียกว่า เป็นห้องเรียนวิชา “ธุรกิจอพาร์ทเมนท์ให้เช่า” ของชาวไก่แจ้

จากนั้นก็เริ่มท้าทายตัวเองให้เก่งขึ้น โดยหันมาจับตลาดบนทำ “เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์” ที่ให้บริการเต็มรูปแบบเหมือนโรงแรม 4 ดาว จำนวน 104 ห้อง มุ่งจับกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในศรีราชา ใช้ชื่อเข้ากับสถานที่ว่า “ราชา เรสซิเดนซ์ ศรีราชา” (Racha Residence Sriracha) ธุรกิจที่แรกทำเงินให้ต่อเดือนก็แค่ห้องละ 2 พันบาท แต่ที่ใหม่ ต่อวันพวกเขาทำได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท ส่วนลูกค้ารายเดือนก็มีตั้งแต่ห้องเล็กเริ่มต้นเช่าที่ 2 หมื่นบาท จนถึงห้องใหญ่ปล่อยเช่าได้สูงถึง 6-7 หมื่นบาท โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการเข้าพักสูงถึง 80% และ ผู้เช่า 70-80% คือ “คนญี่ปุ่น”  

ห้องเรียนใหม่สอนวิชาที่เข้มข้นขึ้น ชนิดที่คนหนุ่มว่า..“ดูแลลูกค้าญี่ปุ่นได้ ชาติอื่นก็ง่ายหมด”

เพราะขึ้นชื่อในเรื่อง “ความเยอะ” เจ้าระเบียบ และต้อง “เป๊ะ” ในทุกเรื่อง

เวลาเดียวกัน ยังได้เรียนรู้ความยากของการทำเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ที่การอยู่ใน “ย่านไข่แดง” ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง

“ตอนนั้นคิดแค่ว่า สร้างเสร็จ ลูกค้าคงเต็ม นั่งนับเงินสบายๆ เพราะทำเลเราดี ไม่ต้องทำตลาดคนก็เข้าหาอยู่แล้ว ปรากฏเปิดมา 2-3 เดือนแรก แทบไม่มีลูกค้าเลย มีคนเช่าอยู่แค่ห้องสองห้อง สุดท้ายอยู่ไม่ไหว ต้องเริ่มหาทีมขายเข้ามาช่วย และเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังหลังจากนั้น” เขาบอกการเติมตัวเร่งสำคัญใส่ธุรกิจที่พักให้เช่า

หลังจากนั้นก็ขยายไปทำอพาร์ทเมนท์ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด(ระยอง) โดยคอนเซ็ปต์ยังคงเดิมคือ ซื้อ อพาร์ทเมนท์เก่า มารีโนเวทใหม่ จำนวน 250 ห้อง ปล่อยเช่าทั้งรายวันและรายเดือน โดยค่าเช่าประมาณ 4-5 พันบาท ต่อเดือน

จุดร่วมเดียวกันของทั้ง 3 โครงการ คือ “เน้นลงทุนในเมืองคนทำงาน” ไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยว

ทว่าต่างกันกับโครงการล่าสุดที่แพร่ “ธาริส อาร์ท โฮเทล”(Taris Art Hotel) โรงแรมแห่งแรกของธุรกิจเครือข้าวไก่แจ้

“เอาตรงๆ นะ ผมไม่เคยไปแพร่มาก่อนเลยในชีวิต ตอนนั้นมีคนรู้จักบอกว่า มีโรงแรมหนึ่งที่แพร่เขาจะขาย ยังแอบคิดเลยว่า แพร่นี่นะ ไม่ได้อยู่ในสาระบบของการท่องเที่ยว แม้แต่ผมเองก่อนหน้านี้ยังไม่คิดจะไปด้วยซ้ำ แล้วจะทำโรงแรมนี่นะ”

คนหนุ่มสารภาพตรงๆ เมื่อนึกถึงจังหวัด “แพร่” ในความรู้สึกแรก จนวันที่ได้จูงมือภรรยา “ชญานิศ ธัญญวัฒนกุล” บินไปเยี่ยมเยือนเมืองแพร่ครั้งแรก แล้วต้องยอมรับออกมาว่า “หลงเสน่ห์” เมืองแห่งนี้เอามากๆ”

ทั้งความสโลว์ไลฟ์ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เสน่ห์เมืองเก่า ผู้คน ความสวยงามของบ้านเรือน อารยะธรรมเก่าแก่ วัดวาสำคัญๆ อย่าง “พระธาตุช่อแฮ” ก็เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว ที่สำคัญยังเป็นหนึ่งใน “12 เมืองต้องห้าม (พลาด) พลัส” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สะท้อนถึงศักยภาพ ในความเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ยัง “เวอร์จิ้น” อยู่มากๆ

 กลับมาดูศักยภาพของสินทรัพย์ที่ประกาศขายอย่าง “โรงแรมนครแพร่” โรงแรมเก่าแก่ที่อยู่คู่คนแพร่มากว่า 30 ปี อยู่ใจกลางเมือง ตอบโจทย์ทั้งเรื่อง “ขนาด” และ “โลเคชั่น” กับจำนวนห้องพัก 150 ห้อง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แถมยังประกาศขายในราคาที่ไม่แพง จนเจ้าตัวยอมรับว่า เงินจำนวนนี้ถ้าลองไปใช้ในชลบุรี แทบจะลงทุนอะไรไม่ได้ด้วยซ้ำ 

“ลองมาดูจำนวนนักท่องเที่ยวในแพร่ พบว่า เติบโตขึ้นทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 10% มีเที่ยวบิน วันละ 2 ไฟลท์ การเดินทางก็สะดวกสบาย ขณะที่โรงแรมที่พักในแพร่ส่วนใหญ่จะเป็นแนวล้านนา แต่เราจะเข้าไปสร้างความแตกต่าง โดยทำเป็นโรงแรมสไตล์ โมเดิร์นคลาสสิค ระดับ 4 ดาว ซึ่งยังไม่มีมาก่อนใน จ.แพร่ และจะทำให้เป็นแลนด์มาร์คของที่นี่ให้ได้”

เขาบอกความต่าง ของน้องใหม่ที่ชื่อ “ธาริส” ซึ่งใช้เงินเทคโอเวอร์และรีโนเวทไปประมาณ 150 ล้านบาท โดยหวังเจาะกลุ่มทั้งนักท่องเที่ยวต่างถิ่น คนเมืองแพร่ ภาคเอกชน และราชการ ที่ต้องการห้องประชุมสัมมนา และสถานที่จัดลี้ยง เป็นต้น 

แม้มุ่งเน้นความต่าง แต่ยังยืนยันว่าไม่ได้คิดไปทำลายเสน่ห์ของเมืองแพร่ ทว่าขออยู่ร่วมอย่างกลมกลืน เช่น การใช้ภาพศิลปะสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ มาประดับตรงทางเดิน การคงเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าไว้ในห้องพัก เพื่อสะท้อนถึงเมืองแพร่ที่เป็นแหล่งค้าไม้ในสมัยโบราณ ขณะอนาคตก็เตรียมเปิดให้ศิลปินท้องถิ่นได้มาจัดแสดงผลงานศิลปะกันแบบฟรีๆ อีกด้วย

ข้าวไก่แจ้ แม่นภา และธาริส ยังประสานธุรกิจกันได้อย่างลงตัว ตั้งแต่ ใช้ข้าวไก่แจ้ บริการลูกค้าในโรงแรม มีขนมแม่นภาเป็นอาหารเช้า และของกินเล่นในมินิบาร์ ลูกค้าคนสำคัญของข้าวไก่แจ้ และแม่นภา ยังจะได้ Gift Voucher มาใช้บริการที่โรงแรมธาริสอีกด้วย นี่คือ “เหลี่ยมยุทธ์” ในการทำธุรกิจของพวกเขา

“ธาริส” คือเชนโรงแรมของข้าวไก่แจ้ ที่เตรียมขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต ในพื้นที่ซึ่งยังมีโอกาส แม้ยอมรับว่า ถ้าวันนี้ขายธาริสไปก็ได้กำไรแล้ว ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังยืนยันว่า นั่นไม่ใช่สไตล์การลงทุนของข้าวไก่แจ้ ที่เน้นซื้อเก็บ และให้เช่า มากกว่าขายทำกำไร เพราะทุกสินทรัพย์ ที่ได้มาล้วนเกิดจาก “ความชอบ” ก็อยากรักษาให้เป็นของครอบครัวตลอดไป

จากพ่อค้าข้าวในโรงงานขนาด 80 ตารางวา วันนี้ข้าวไก่แจ้ มียอดขายกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี มีแบรนด์แม่นภาทำรายได้นับ 60 ล้านบาท ธุรกิจโรงแรมและอพาร์ทเมนท์ให้เช่า ทำรายได้เกือบ 100 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีธุรกิจจิวเวลรี่ ชื่อ “ไซรัส ธัญญา” (Sirus Tanya) ซึ่งน้องชายคนเล็ก “ศิรัส ธัญญวัฒนกุล” ดูแลอยู่ก็สร้างรายได้ให้หลักร้อยล้าน

"ครอบครัว" จึงยังมีความสำคัญต่อธุรกิจ แม้แต่ชื่อ TARIS” ก็มาจากตัวอักษรในชื่อของสมาชิกทุกคนในครอบครัว

ซึ่งนั่นสะท้อนว่า ความสำเร็จของพวกเขามีสมาชิกครอบครัว “ข้าวไก่แจ้” เป็นส่วนร่วมอยู่เสมอ 

                  “”””””””””””””””””””””””””””””””””

Key to success

สูตรธุรกิจสายพันธุ์ “ข้าวไก่แจ้”

๐ แตกต่างและมีนวัตกรรม

๐ ใช้การตลาดและการสร้างแบรนด์นำธุรกิจ

๐ ทำธุรกิจที่เห็นโอกาส ไม่ปิดกั้นตัวเอง

๐ ใช้ไอเดีย ไม่ใช่แค่เงิน ทำธุรกิจ

๐ ที่ดินเน้นซื้อเก็บ แล้วพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม

๐ เชื่อมโยงธุรกิจ เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

๐ ครอบครัวมีส่วนร่วม สร้างการเติบโตให้ธุรกิจ