สั่งแบงก์ชาติวิเคราะห์นโยบาย 'ทรัมป์'

สั่งแบงก์ชาติวิเคราะห์นโยบาย 'ทรัมป์'

"กนง." มีมติเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.50 % ชี้เห็นการฟื้นตัวของศก.ไทย จากการส่งออก-ลงทุนภาครัฐ พร้อมสั่งแบงก์ชาติวิเคราะห์นโยบาย "ทรัมป์"

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมครั้งแรกของปี วานนี้ (8 ก.พ.) โดยที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ครั้งที่ 14 ติดต่อกันของกนง.ที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2558 โดยมองดอกเบี้ยระดับดังกล่าวยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขาธิการ กนง. กล่าวว่า คณะกรรมการ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังเผชิญความไม่แน่นอนโดยเฉพาะปัจจัยด้านต่างประเทศที่เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น และได้สั่งการให้ ธปท.ไปทำแบบจำลองสถานการณ์ผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เพื่อนำมารายงานในการประชุม กนง.ครั้งหน้า เพื่อจะนำรวมกับการประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 และปี 2561

“คณะกรรมการ กนง.เห็นว่า นโยบายของนายทรัมป์ มีทั้งในด้านบวก จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือนโยบายด้านภาษี และด้านลบ คือด้านการกีดกันทางการค้า เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ ซึ่งจะมีการเสนอในที่ประชุมครั้งหน้า เพื่อนำผลดังกล่าวมารวมกับการประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปด้วย”

ห่วงบาทแข็งค่าอุปสรรคส่งออก

หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง และความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ในต่างประเทศ ส่งกระทบกับค่าเงินบาทผันผวน จากปลายปีเงินบาทอ่อนค่า และเงินดอลลาร์แข็งค่า ก็เปลี่ยนเป็นเงินบาทเริ่มแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวภาคส่งออกบ้าง ซึ่ง กนง.มองว่าอาจไม่เป็นผลดีกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร

ด้านการเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวได้ดีขึ้น จากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันการลงทุนใช้จ่ายของภาครัฐบาลยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนโยบายการค้าของสหรัฐ และปัญหาเสถียรภาพการเงินของจีน และพัฒนาการทางการเมืองและปัญหาภาคการเงินในยุโรป

ราคาน้ำมัน-สินค้าโภคภัณฑ์ดันเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มกลับสู่กรอบเป้าหมายในเดือนธ.ค.ของปีที่แล้ว และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงไว้ สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย และมองว่ายังไม่เป็นความเสี่ยง เนื่องจากเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น ยังอยู่ในกรอบล่างที่ประเมินไว้ อีกทั้งหากพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อที่แท้จริง ยังอยู่ในระดับต่ำ หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าการขยายตัวของเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความสมดุลมากขึ้น

ทั้งนี้ กนง.มองว่า ภาวะการเงินยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับที่สูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับที่ต่ำ

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในระยะยาว 10 ปีเริ่มมีแนวโน้มที่ปรับตัวขึ้น จากการคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคตที่จะปรับเพิ่มขึ้น แต่มองว่าจะไม่กระทบกับภาพรวมการระดมทุนของภาคเอกชน เพราะอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในอายุ 1 ปี 3 ปี 5 ปี ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงวงเงินกู้ของสถาบันการเงินของภาคเอกชนยังมีเหลืออยู่ ซึ่งยังสามารถเข้าระดมทุนได้ ทำให้ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพที่ดี สามารถรับมือความผันผวนได้

แนวโน้มผิดนัดหนี้-เอ็นพีแอลยังเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กนง .เห็นว่า ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจที่ด้อยลง จากการผิดนัดชำระหนี้ในตราสารหนี้ที่ไม่จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบางบริษัท ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการรายงานการผิดนัดชำระตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทให้คณะกรรมการ รับทราบ ซึ่งคณะกรรมการมองว่ายังอยู่ในวงจำกัด

ส่วนตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นนั้น มองว่ายังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หากขยายตัวได้ดีต่อเนื่องไปอีก 2-3 ไตรมาส จะช่วยดึงตัวเลขของเอ็นพีแอลให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

"สมคิด”ชี้เชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้น

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเปิดสัมมนาผู้บริหารระดับสูงรัฐวิสาหกิจเมื่อวานนี้ ว่า ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า ขณะนี้ โมเมนตั้มของเศรษฐกิจไปได้ดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ทั้งในส่วนขององค์การส่งเสริมการค้าของประเทศญี่ปุ่นหรือเจโทรก็สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยที่ก้าวกระโดด

นอกจากนี้ ดัชนีที่แม่นที่สุดในการทำนายเศรษฐกิจ คือ ดัชนีของปูนซีเมนต์ เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มขยับปริมาณการใช้วัสดุก่อสร้างและปูนซีเมนต์จะสูงขึ้น ตัวเลขยอดขายขยายตัว 3% โตเป็นครั้งแรกนับจาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าเกษตรก็เริ่มดีขึ้น การบริโภคของคนชั้นกลางเงินเดือน 5 หมื่นบาท เริ่มดีขึ้น

มั่นใจประเทศพ้นเศรษฐกิจตกต่ำ

“แนวโน้มนี้ บวกกับโครงการต่างๆ ที่กำลังคลอด ประเทศเราพ้นจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ในปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมา ถือว่าดีกว่ามาก เมื่อปีก่อน ต้องยอมรับว่า มีความหนักใจ ความมั่นใจเอกชนก็ไม่มี ส่งออกก็ไม่ดี ราคาสินค้าเกษตรก็ตกต่ำ ไม่มีเครื่องยนต์ใดช่วยให้เครื่องติดได้ แต่ปีที่แล้วต้องขอบคุณการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจที่มีส่วนเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้”

นายสมคิด กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีก่อนเศรษฐกิจโตเพียง 0.8% เป็นอาการของคนที่ชีพจร เริ่มเต้นไม่แรง จับชีพจรเต้นแผ่ว เงินเฟ้อแผ่วลง ดีมานต์ไม่ดี ถ้าปล่อยไปฉุดขึ้นยาก แต่ตอนนี้ถือว่าดีขึ้นมาก มีโอกาสที่ไทยจะพลิกกับมาได้ โดยรัฐวิสาหกิจต้องปรับมุมมองการทำงาน เพราะรัฐวิสาหกิจมีพลังมหาศาลในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เห็นได้จากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่รัฐวิสาหกิจยังสามารถขับเคลื่อนการทำงานไปได้ มีสินทรัพย์รวมกันในระดับที่สูงมาก

“ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกไม่ดีและมีความไม่แน่นอนสูง เอเชียโดดเด่นมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ไทยถือว่าเป็นศูนย์กลาง หรือบ่อทองของกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งรัฐวิสาหกิจต้องปรับตัว เช่น การบิน หากอยากเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ต้องมีการเชื่อมโยงของสายการบินในแต่ละจังหวัด ต้องไม่มองว่าจะไปแข่งขันกันเอง แต่มองว่าเชื่อมอย่างเพื่อให้สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอย่างแท้จริง”

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปีนี้รัฐบาลยังเน้นเรื่องการลงทุน ซึ่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อรัฐและรัฐวิสาหกิจลงทุนคาดว่าเอกชนจะเริ่มลงทุนตาม

ดังนั้น การที่นำซีอีโอมาประชุมครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน ซึ่งรัฐวิสาหกิจนั้นมีพลังที่สูงมากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการรวมพลังในลักษณะนี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ในปีก่อน สคร.ดำเนินนโยบายผู้ถือหุ้นเชิงรุกในรัฐวิสาหกิจ และช่วยผลักดันให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวได้ถึง 10%

ขณะที่ จีดีพีขยายตัวได้ในระดับ 3% ในปีนี้ สคร.จะคงเดินหน้านโยบายดังกล่าวเช่นเดิม