กสอ.ติวเข้มเอสเอ็มอี ดันเข้าตลาดหลักทรัพย์

กสอ.ติวเข้มเอสเอ็มอี ดันเข้าตลาดหลักทรัพย์

"พสุ โลหารชุน" อธิบดีกสอ. ติวเข้มเอสเอ็มอี ดันเข้าตลาดหลักทรัพย์

ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ แนวทางที่สำคัญก็คือการสร้างฐานของธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง โดยการยกระดับจากธุรกิจขนาดเล็กไปสู่การเป็นธุรกิจขนาดกลาง และก้าวไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไป ซึ่งจะช่วยลดความเหลือมล้ำของธุรกิจภายในประเทศ กระจายความมั่งคั่งไปสู่วงกว้าง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็ได้มีแนวทางการยกระดับเอสเอ็มอีให้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า การที่จะพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และยกระดับไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ แนวทางหนึ่งการคือการผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีให้ก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพพย์ เอ็มเอไอ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องเป็นเอสเอ็มอีชั้นดี มีการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน และมีศักยภาพในการเติบโต ดังนั้น กสอ. จะต้องนำร่องพัฒนาเอสเอ็มอีกลุ่มที่มีศักยภาพให้เป็นแบบอย่างในการปรับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่จะคัดเลือกเข้ามาพัฒนาให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ จะต้องเป็นธุรกิจขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งจากรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีไทย ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) พบว่าเอสเอ็มอีไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 2.76 ล้านราย คิดเป็น 97.2% ของวิสาหกิจทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางเพียง 1.3 หมื่นรายเท่านั้น หรือเท่ากับ 0.5% ของ เอสเอ็มอี ทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะมีสัดส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางไม่ต่ำกว่า 5 – 10%

“การส่งเสริมเอสเอ็มอี ให้สามารถแปรสภาพเพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เป็นทางเลือกหนึ่งในการยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีให้ก้าวกระโดดไปเป็นธุรกิจขนาดกลางที่เข้มแข็ง และสามารถยกระดับไปเป็นธุนกิจขนาดใหญ่ได้ รวมทั้งเป็นการส่งเสริม เอสเอ็มอี ที่มีการเติบโตสูง สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจในระยะยาว และออกไปบุกตลาดอาเซียนได้”

สำหรับผลประโยชน์ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้จากการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ จะทำให้บริษัทสามารถระดมทุนจากประชาชนเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจได้โดยง่ายและรวดเร็ว ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันทำให้มีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมต่อการดำเนินกิจการ มีโอกาสในการเลือกระดมทุนผ่านการออกหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นภายหลังการเข้าจดทะเบียน เช่น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะที่บริษัทได้ผ่านการพิจารณาจาก สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดี และมีฐานะมั่นคงในระดับหนึ่ง รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ เช่น ความน่าเชื่อถือ อำนาจในการต่อรองสร้างความตระหนัก ตลอดจนความนิยมในผลิตภัณฑ์/บริการของกิจการโดยทางอ้อมการเผยแพร่ข่าวสารและความเคลื่อนไหวของบริษัทผ่านสื่อต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เสริมให้บริษัทเป็นที่รู้จักและยอมรับของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น หากสามารถตีค่าเป็นตัวเงินแล้วย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายจำนวนมากสำหรับคู่แข่งที่มิได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับ กลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ เอสเอ็มอี ภายใต้โครงการต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ เอสเอ็มอี ทั่วไปที่มีความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ โดยสาขาเป้าหมาย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ 1. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 2. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 3. กลุ่มธุรกิจการเงิน 4. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 5. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 6. กลุ่มทรัพยากร 7. กลุ่มบริการ และ8. กลุ่มเทคโนโลยี

นายพสุ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการนี้ คาดว่าจะมี 300-500 ราย เพื่อเข้าอบรมสัมมนาให้ความรู้ในการปรับธุรกิจเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นจะคัดเลืองเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมสูงสุด 40 ราย เพื่อเข้าสู่โปรแกรมการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น โดยมุ่งเน้นการฝึกอบรบภาคทฤษฎีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นด้วยตนเอง การจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ได้ในระยะ 2-3 ปี ในการทำแผนธุรกิจเพื่อรองรับการใช้เงินที่จะได้จากการระดมทุนโดนเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชน การปรับปรุงระบบบัญชีและจัดให้มีการควบคุมภายในเพื่อให้ได้มาตรฐาน การปรับโครงสร้างบริษัท การแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และแนวทางการเลือกที่ปรึกษาทางการเงินที่เหมาะสม โดยคาดว่าในจำนวนนี้จะมีผู้ประกอบการที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอได้ประมาณ 5 ราย

ทั้งนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะดำเนินโครงการนี่ต่อเนื่องในปีต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มากขึ้น เนื่องจากมีฐานผู้ประกอบการในปีนี้ที่ผ่านมาฝึกอบรม และมีแบบอย่างจากผู้ที่ผ่านเข้าสู่ตลาดหลีกทรัพย์ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงแนะนำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆปรับตัวต่อไปเป็นดาวกระจาย

นอกจากนี้ กสอ. ยังได้รับความร่วมมือจาก 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการให้ความรู้และฝึกอบรมในด้านต่างๆ โดยผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น