ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน

ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน

"กอบศักดิ์" เผย ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน หวังดันไทยเป็นฮับครบวงจร คาดสร้างผลตอบแทนให้เศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นลบ.

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมครม. มีมติรับทราบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เนื่องจากอุตสาหกรรมอากาศยานนี้ถือเป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่รัฐบาลมุ่งให้การส่งเสริมและสนับสนุนโดยจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย

โดยกิจกรรมที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาสำหรับประเทศไทยจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน มี 3 กิจกรรมสำคัญ คือ 1.กิจกรรมซ่อมบำรุง (MRO) 2.กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และ 3.กิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน (HR) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอออกมาเป็นแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงและอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2560-2575) ภายใต้วิสัยทัศน์การมุ่งสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน

ในระยะที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) จะมีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและประเภทของการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอากาศยาน สร้างบุคลากร รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการผลิตช่างและวิศวกรอากาศยาน

ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-2569) จะมีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงภายในประเทศ จัดกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ให้ครบทุกประเภทอุตสาหกรรมอากาศยานตามแผนธุรกิจ และสร้างช่างเทคนิครวมทั้งวิศวกรอากาศยานให้เพียงพอต่อความต้องการ

ระยะที่ 3 (พ.ศ.2570-2575) จะมีการจัดตั้ง Aeropolis เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินของภูมิภาค ยกระดับความสามารถในการผลิตอุตสาหกรรมอากาศยานเข้าสู่ Tier 2 (Disign & Build) และการพัฒนาบุคลากรด้านการบินจนสามารถเข้าสู่การเป็น Research & Institutions ได้

"แผนดังกล่าวจะช่วยสร้างผลตอบแทนให้แก่เศรษฐกิจไทยได้ถึง 1 หมื่นกว่าล้านบาท สามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศในการส่งซ่อมเครื่องบินได้ถึงปีละ 6,500 ล้านบาท และยังสามารถช่วยสร้างงานได้เกือบ 7,500 ตำแหน่ง ถ้าเกิดมีสายการบินใหญ่ๆ มาตั้งศูนย์ซ่อมในไทย ก็จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างงานเพิ่มขึ้น " นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มจะย้ายฐานจาก ยุโรปและสหรัฐอเมริกามายังเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น โดยปี 56 เอเชียแปซิฟิกจะมียอดสั่งซื้อเครื่องบิน 26% โดยในปี 78 จะเพิ่มเป็น 36 %

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมีโรงงานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ในประเทศและส่งออก 28 แห่ง ตั้งเป้าในปี 60-65 เพิ่ม 10-20 แห่ง สำหรับความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานนั้น การบินไทยอยู่ระหว่างหาผู้ร่วมลงทุน หากสามารถทำได้จะช่วยประหยัดค่าซ่อมเป็นเงินตราต่างประเทศ ปีละ 6,500 ล้านบาท โดยแอร์บัสสนใจที่ตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้