ทีโอทีเปิดประมูล'คลื่น2300' ยื่นซองบิวตี้คอนเทสต์ 27 มี.ค.

ทีโอทีเปิดประมูล'คลื่น2300' ยื่นซองบิวตี้คอนเทสต์ 27 มี.ค.

ทีโอทีเปิดประมูลบิวตี้ คอนเทสต์ คลื่น 2300 จำนวน 60 เมกให้เอกชนสนใจยื่นซองเสนอแบบทางเทคนิค-ผลตอบแทนดีเดย์ 27 มี.ค. ให้ยื่นข้อเสนอ

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บมจ.ทีโอที กล่าวว่า วันที่ 10-15 ก.พ. 2560 เวลา 9.00 – 16.00 น. ทีโอทีจะเปิดให้ผู้ประกอบการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) เวนเดอร์ และผู้สนใจเป็นคู่ค้าเข้ารับรายละเอียดเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) ในการเป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์
ทั้งนี้ เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจรายละเอียดการขยายโครงข่ายและผลตอบแทนให้ทีโอที

หลังจากทีโอที และบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัดที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการเงินได้จัดทำร่างรายละเอียดและเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (RFP) และเชิญผู้สนใจเข้ารับฟังแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 ไปแล้วเมื่อ 24-25 ม.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นวันที่ 27 มี.ค. จะเป็นวันเดียวที่เปิดให้บริษัทที่สนใจยื่นข้อเสนอมายังทีโอทีและที่ปรึกษาทั้ง 2 บริษัทจะคัดเลือกด้วยการบิวตี้ คอนเทสต์ให้เสร็จภายใน 60 วัน โดยจะใช้หลักการสากลในการคัดเลือก

โดยผู้ที่เสนอราคาที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะ และผู้ชนะอาจจะมีมากกว่า 1 รายก็ได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจแล้ว 5 ราย ได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส), บริษัทกลุ่มทรู, บริษัท โมบายล์ แอลทีอี จำกัด และบริษัท ทานตะวัน เทเลคอม จำกัด ซึ่งคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4

"เรื่องนี้เราเตรียมการมาอย่างดี เราได้เสนอแผนและทำตามสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งสัญญานี้แม้ว่าจะต้องส่งให้อัยการดู แต่เราก็เชื่อว่าจะใช้เวลาแค่ 3 เดือน และไม่ต้องเข้าครม. เพราะไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จึงเชื่อว่าขั้นตอนจะไม่ล่าช้าและเปิดให้บริการได้ตามกำหนด"

ขยายโครงข่าย5ปีให้ได้80%
ตามแผนธุรกิจ คู่ค้าจะเป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4จีแอลทีอี ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เต็มทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีเป้าหมายวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่รองรับลูกค้าได้


ทั้งนี้ คาดว่าจะติดตั้งและเปิดให้บริการภายในปีแรกไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญภายใน 2 ปี จากนั้นจะเพิ่มจำนวนไปตามประมาณการผู้ใช้งานที่คาดการณ์ไว้ ภายใน 5 ปี จะขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมตามแผน

อย่างไรก็ดี หากความจุไม่เพียงพอ หรือยังมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทีโอที คาดว่าจะขยายความจุและเวลาให้บริการได้ จากเดิมที่คลื่นจะต้องหมดอายุในปี 2568

ส่วนรูปแบบการให้บริการ ทีโอที จะนำความจุไปให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) 20% ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมือง และพื้นที่ห่างไกลเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐในการให้ประชาชนทุกภาคมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิดธ์ทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ ของคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์

บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) 20% เป้าหมายคือกลุ่มลูกค้าทีโอทีโดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมืองผ่านอุปกรณ์ดองเกิลสำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิมและบริการขายส่ง (Wholesale) ให้ผู้ประกอบการโมบาย จำนวน 60%

คลื่น 2300 ใช้ได้ทั้งไร้สาย-โมบาย
บริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุญาตให้ทีโอทีปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ช่วง 2310-2370 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการด้านเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ

โดยเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ (Neutral Technology)ตามข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ มาให้บริการประเภท Fixed Wireless Broadband และประเภท Mobile Broadband และใช้งานได้ทั่วประเทศ

คณะกรรมการ ทีโอที ได้มีมติเห็นชอบรวมถึงเห็นชอบให้ที่ปรึกษาศึกษารูปแบบและแนวทางการดำเนินธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ของ ทีโอที เพื่อเพิ่มมูลค่ากิจการให้แก่ บมจ.ทีโอที และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่องค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้ทีโอที และสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 และสนับสนุนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม


เอกชนสนชิงเน็ตประชารัฐ
วานนี้ (7ก.พ.) ทีโอทีจัดการประชุมกับเอกชนผู้สนใจเข้าร่วมประกวดราคา (Bidder Conference)จัดซื้ออุปกรณ์รองรับโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมมูลค่า 4,308 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ “เน็ตประชารัฐ” ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณเคเบิลใยแก้วนำแสงเอฟทีทีเอ็กซ์ ไปสู่หมู่บ้านในพื้นที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

นายมรกต เธียรมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจทัล กล่าวถึงความคืบหน้าการขยายโครงข่ายดังกล่าวว่า ทีโอที ประกาศประกวดราคาการจัดซื้ออุปกรณ์รองรับโครงการจำนวน 5 ประเภทอุปกรณ์ ได้แก่ เคเบิลใยแก้วนำแสง Optical Fiber Cabel อุปกรณ์ข่ายสาย ODN อุปกรณ์ Optical Line Terminal (OLT) อุปกรณ์ Switch และอุปกรณ์ Wireless Access Point

โดยประกาศขายแบบวันที่ 23 ม.ค. - 6 ก.พ. 2560 และวานนี้ได้เชิญประชุมผู้ประสงค์จะเสนอราคา เพื่อตอบข้อซักถามแก่ผู้ที่ได้ยื่นเอกสารคำถามถึงประธานคณะกรรมการจัดหาโดยวิธีประกวดราคาก่อนหน้านี้แล้ว

การประกวดราคามีผู้ซื้อแบบประกอบด้วย 1. OFC 24 ราย 2. ODN 20 ราย 3.OLT/ONU 18 ราย 4. Switch 22 ราย และ 5.AP 20 ราย

วันที่ 7-10 ก.พ. ผู้ซื้อเงื่อนไขและข้อกำหนดต้องจัดทำเอกสารเสนอราคา เพื่อยื่นเอกสารเสนอราคาวันที่ 10 ก.พ.2560 พร้อมลงนามข้อตกลงคุณธรรม คาดว่าต้นเดือน มี.ค.2560 จะลงนามสัญญา ประมาณปลายเม.ย.ส่งมอบอุปกรณ์ และเดือน พ.ค.จะติดตั้งและส่งมอบได้ประมาณ 3,000 หมู่บ้าน ทั้งจะติดตั้งและส่งมอบทุกเดือน โดยคาดว่าภายในเดือนธ.ค. จะติดตั้งและส่งมอบครบ 24,700 หมู่บ้านตามเป้าหมาย