ทางเลือกของคนมีบุตรยาก

ทางเลือกของคนมีบุตรยาก

ปัญหามีบุตรยาก ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของเชื้ออสุจิหรือไข่เพียงเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นหลังการปฏิสนธิส่งผลตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ

ปัญหามีบุตรยาก ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของเชื้ออสุจิหรือไข่เพียงเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นหลังการปฏิสนธิ แล้วตัวอ่อนไม่สามารถฟักตัวออกจากเปลือกไข่ได้ นับเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ที่มักพบได้บ่อยเช่นกัน

ทำไมต้องช่วยฟักตัวอ่อน

ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิภายนอกร่างกายด้วยวิธีการอิ๊กซี่ ในบางครั้งพบว่าตัวเปลือกมีความผิดปกติ หรือมีความหนาของเปลือกไข่มากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฟัก หรือออกมาจากเปลือกไข่ได้ ส่งผลให้ตัวอ่อนเสียชีวิตอยู่ภายในเปลือกไข่ เช่นเดียวกับลูกเจี๊ยบที่ไม่สามารถเจาะออกจากเปลือกไข่ ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง เพราะตัวอ่อนไม่สามารถออกมาฝังตัว แต่หากเราช่วยให้เปลือกไข่บางลง หรือทำให้เกิดรู จะทำให้ตัวอ่อนออกจากเปลือกได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสฝังตัวในโพรงมดลูกมากขึ้น สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้

นพ.วรวัฒน์ ศิริปุณย์ สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว111 ระบุว่า เทคโนโลยีที่กล่าวมานี้ คือ การช่วยฟักตัวอ่อนจากเปลือกไข่ โดยในอดีตจะใช้เข็มเจาะเพื่อเปิดเปลือกไข่ต่อมาเปลี่ยนเป็นการใช้สารเคมี และในปัจจุบันได้ใช้เลเซอร์เข้ามาช่วยในการเจาะเปลือกไข่ วิธีดังกล่าวเรียกว่า LAH (Laser Assisted Hatching) ซึ่งการใช้เลเซอร์นั้น มีความแม่นยำสูง ไม่เป็นอันตรายต่อตัวอ่อน และยังเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์อีกด้วย

ผู้ที่เหมาะสมกับการใช้เลเซอร์เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

1.ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการใช้วิธีอิ๊กซี่ในรอบก่อน

2.เป็นผู้ป่วยที่มีโอกาสในการตั้งครรภ์ต่ำ พยากรณ์โรคไม่ดี

3.เป็นตัวอ่อนที่ผ่านกระบวนการแช่แข็งมาก่อน

นอกจากการช่วยตัวอ่อนฟักตัวออกจากเปลือกไข่ด้วยเลเซอร์แล้ว บางกรณีจะเจาะเปลือกไข่และนำเซลล์ ของตัวอ่อนออกมา เพื่อทำการตรวจคัดกรอง และวินิจฉัยโครโมโซมของตัวอ่อน ก่อนการฝังตัว (PGS/PGD :Preimplantation Genetic Screening/Diagnosis) เป็นการนำเซลล์ของตัวอ่อนในระยะ 3 หรือ 5 วัน ที่ได้จากการทำอิ๊กซึ่ มาตรวจวินิจฉัย เพื่อดูว่าตัวอ่อนมีความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมหรือไม่ จากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่สมบูรณ์ใส่กลับสู่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งครรภ์ต่อไป

ผู้ที่เหมาะกับการทำ PGS/PGD

1.คู่สมรสที่มีประวัติความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ที่อาจถ่ายทอดสู่ทารกได้ เช่น ธาลัสซีเมีย

2.ครอบครัวมีประวัติคลอดเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด หรือมีโรคที่ผิดปกติทางพันธุกรรม

3.มีประวัติการแท้งบ่อย

4.บุตรคนก่อน ป่วยเป็นโรคที่อาจรักษาโดยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากบุคคลอื่น ที่มีความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ

5.คู่สมรส ที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสเกิดความผิดปกติของจำนวนโครโมโซม ทำให้บุตรที่เกิดมา มีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมสูง

6.ไม่ตั้งครรภ์ 2 ครั้งติดต่อกัน จากการรักษาโดยการทำอิ๊กซี่

วิธีการตรวจวินิจฉัย

นำตัวอ่อนที่ได้จากการทำอิ๊กซี่ ในระยะ 3 หรือ 5 วัน มาเจาะบริเวณเปลือกให้เป็นรูเล็กๆ ด้วยเลเซอร์ แล้วใช้แท่งแก้วขนาดเล็ก ดึงเซลล์ที่อยู่ภายในตัวอ่อนออกมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาตรวจด้วยวิธีที่เรียกว่า CGH (Comparative Genomic Hybridization) หรือ NGS ( Next Generation Sequencing) ซึ่งเป็นการตรวจโครโมโซมครบทุกคู่ รวมทั้งโครโมโซมเพศด้วย หลังจากนั้นจะทำการย้ายตัวอ่อน เฉพาะตัวที่โครโมโซมปกติเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป

ข้อดี

1.เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์จากการทำอิ๊กซี่

2.ลดอัตราการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมของทารก

3.ลดอัตราการแท้งบุตร

การดูดนำเซลล์จากตัวอ่อนในระยะ 3 หรือ 5 วัน จะไม่ส่งผลให้เกิดความพิการ เพราะเซลล์ทุกเซลล์ในตัวอ่อนระยะนี้ ยังไม่ได้ถูกโปรแกรมว่าจะให้เซลล์ใดเจริญไปเป็นตัวอ่อน หรืออวัยวะใดๆ ทำให้เซลล์ที่เหลือในตัวอ่อนสามารถแบ่งตัวได้ โดยจะไม่เกิดความผิดปกติต่อทารก และยังสามารถแบ่งตัวต่อไปจนฝังตัวได้ตามปกติ

ภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่สามารถหาทางออกได้ คู่สมรสที่วางแผนมีบุตร แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด อย่ากังวลหรือด่วนสรุปว่าตนจะไม่สามารถมีบุตรได้ เพราะทุกปัญหาล้วนมีทางแก้ไข