น่านเน้อเจ้า แบรนด์ของชาวน่าน

น่านเน้อเจ้า แบรนด์ของชาวน่าน

ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่มองหาของที่ระลึกจากจังหวัดน่านที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ด้วยสินค้ามาตรฐานที่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของน่าน

ในรูปแบบที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการสร้างแบรนด์ น่านเน้อเจ้า

น่านเน้อเจ้า น่านแท้ๆ

ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร กล่าวว่า

“จากการสำรวจนักท่องเที่ยวที่ไปน่านพอใจและไม่พอใจอะไร ข้อหนึ่งเราพบว่า สินค้าหรือของที่ระลึกที่สะท้อนความเป็นน่านยังไม่ค่อยมี จะให้ซื้อผ้าทอพื้นเมืองอย่างเดียว บางคนเขาไม่ได้มีความต้องการอย่างนี้ เราจึงมองหาความหลายหลายที่ยังคงสะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมของน่าน”

แบรนด์น่านเน้อเจ้า จึงเกิดขึ้นด้วยการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม โดย อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ที่ถือเป็นหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาเชื่อมการทำงานระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ ให้มีช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่าน

ประกอบด้วย อำเภอเมืองน่าน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ตำบล บ่อสวก กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลนาซาว กลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้ และกลุ่มทอผ้าบ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง

“เราต้องไม่ทิ้งกระบวนการมีส่วนร่วม เราเชิญชาวบ้าน ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกชื่อ โลโก้ กระทั่งออกมาเป็นแบรนด์ น่านเน้อเจ้า

มาตรฐานของเรา คือ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี ถึงดีเยี่ยม โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกว่ามีสินค้าประเภทไหน คุณภาพ ที่สามารถติดแบรนด์น่านเน้อเจ้า แต่ละชุมชนจะทำผ้าอะไร แบ่งออกเป็นความชำนาญคนละด้าน ผู้ประกอบการ ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง

เราช่วยเรื่องดีไซน์ ควบคุมมาตรฐาน คุณภาพ การตั้งราคา การตลาด รูปแบบ ถ้าชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเราถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว จุดหมายของเราคือหยุดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย อยากให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น พึ่งตัวเองได้”

ของที่ระลึกมีดีไซน์

Trench Coat ตัดเย็บด้วยผ้าทอพื้นเมืองลายดาวล้อมเดือน แจ็คเก็ตตัดเย็บด้วยผ้าลายบ่อสวก และผ้าพันคอลายตาโก้งสีดำแดงขาว คือ ส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าแบรนด์ น่านเน้อเจ้า ที่ออกแบบโดย ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่เป็นชาวน่าน โดยหยิบยกเอาผ้าพื้นเมืองของจังหวัดมานำเสนอให้มีความร่วมสมัย

เช่นเดียวกับผ้าตาโก้ง ที่มีสีลวดลายและการใช้งานคล้ายผ้าขาวม้า มีการออกแบบให้ทอเป็นผ้าพันคอขนาดเหมาะสมกับการพวกพา และดีไซน์ช่องสำหรับสอดชายผ้าแทนการผูกเป็นปมเหมือนผ้าพันคอทั่วไป

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ น่าเน้อเจ้า ที่ผลิตออกมาเป็นสินค้านำร่อง โดยมีบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจในการออกแบบด้วยเช่นกัน

ระลึกอย่างมีความหมาย

นอกจากมีดีที่ดีไซน์แล้ว สินค้าแต่ละชิ้นต้องมีคำอธิบาย บอกเล่าถึงความหมายของลายผ้าทอแต่ละผืนประกอบด้วย

รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า

“ปกติเราจะรู้จักผ้าพื้นเมืองในหลายๆที่ แต่เราอาจรู้จักว่าเป็นผ้าพื้นเมืองของจังหวัดนี้แต่สิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในสารบบ คือ การสร้างแบรนด์ให้กับผ้าพื้นเมืองของเรา ถือเป็นนวัตกรรมใหญ่และสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ ความเข้าใจของผ้าพื้นเมือง ในกรณีผ้าของน่านอย่างมีแบรนด์

การมองประวัติศาสตร์ของผ้าน่านจำเป็นต้องมองบริบทในประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน ไม่ใช่มองในประวัติศาสตร์ของผ้าและพูดแต่เรื่องผ้า

น่านเป็นเมืองในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนา เป็นเมืองที่เติบโตในหุบ เช่นเชียงใหม่ แพร่ น่าน อยู่ในหุบมีแม่น้ำตัดผ่าน ถ้าเป็นหุบใหญ่เมืองเติบโตเข้มแข็ง ถ้าเล็กเมืองเล็กลงมาตามลำดับ ลักษณะของเมืองจึงไม่เหมือนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อย่างอยุธยาที่เป็นอาณาจักรใหญ่โต

น่าน เป็นอาณาจักรอยู่ในหุบ ล่มน้ำน่าน มีวัฒนธรรมต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่คริสตศวรรษที่ 13 เป็นอย่างช้า และมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 5 เราต้องจินตนาการดูว่าน่านมีความเป็นตัวเองอย่างต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่าบางครั้งตกเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ พม่า แต่การเป็นเมืองในหุบทำให้สามารถรักษาอัตลักษณ์ได้ดี”

ผ้าทอ ทอประวัติศาสตร์

ดร.สุเนตร อธิบายว่า น่านเป็นเมืองที่ประกอบด้วยชาติพันธุ์หลากหลายทั้งในที่สูงและที่ราบ คนเหล่านี้ติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ประกอบกับน่านเป็นเมืองที่มีบ่อเกลือเป็นทรัพยากรสำคัญ

“ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมของน่านไม่ว่าจะทางศาสนา หัตถกรรม การทอผ้า จึงเป็นดอกผลทางประวัติศาสตร์ ทางหนึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว อีกทางหนึ่งก็ประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ ที่มาผสมผสานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทรัพยากร ความรู้

พอเรามาดูงานหัตถกรรมจึงมีความสวยงาม หลากหลาย ขณะเดียวกันก็มีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะมีทั้งอิทธิผลของลื้อ ลุนตยา”

นอกจากประวัติศาสตร์แล้ว การทำความรู้จักน่านต้องเข้าใจวิถีการดำรงอยู่ของน่านอีกด้วย กล่าว คือ

“สมัยก่อนเชื่อว่าผู้หญิงต้องมีความรู้เรื่องการทอผ้าเป็นสำคัญ ผู้หญิงที่มีฐานะเป็นเจ้าบ้าน หรือ นายแม่ อาจมีโรงทอผ้าที่สั่งสอนสตรีให้ถักทอ ภาพสะท้อนเหล่านี้มีปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมิทนร์ จังหวัดน่าน

เรื่องการทอผ้าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ความรับผิดชอบเพื่อสนองความต้องการหลายลักษณะ เพื่อศาสนา เมื่อออกเรือน ถ้าผู้หญิงไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องคู่ครอง”

สิ่งที่ซ่อนไว้ในลายผ้า

ลวดลายบนผ้าทอของน่าน บอกเล่าเรื่องราวอะไรบ้าง อาจารย์สุเนตร อธิบายให้เข้าใจว่า

ผ้าลายน้ำไหลหยดน้ำ เป็นลวดลายที่แสดงภาพภูมิประเทศที่มีแม่น้ำ ลำธารตัดผ่าน มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ ผ้าลายน้ำไหล มีด้วยกันหลายแห่ง แต่ที่น่านไม่เหมือนใครเพราะมีหยดน้ำด้วย น้ำเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ผ้าน่านจึงสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน

ผ้าลายบ่อสวก เป็นลายที่ช่างทอผ้าแกะมาจากลวดลายตกแต่งปากไหโบราณอายุ 700 ปีที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี เชื่อกันว่าผ้าลายนี้จะนำความมั่งคั่งมาให้ผู้สวมใส่

ผ้าลายดาวล้อมเดือน เป็นการนำความงามของธรรมชาติมาแต่งบนผืนผ้า คนน่านเชื่อกันว่าผู้หญิงที่สามารถทอผ้าลายนี้ได้เป็นคนที่มีความอ่อนโยน อ่อนหวาน ปัจจุบันหากใครได้สวมใส่ผ้าลายนี้จะช่วยเสริมบุคลิกภาพให้มีเสน่ห์ ตรึงใจแก่ผู้พบเห็น

ผ้าตาโก้ง จัดเป็นผ้าอเนกประสงค์ แสดงถึงวิถีการดำรงอยู่ของคนน่านที่มีชีวิตเรียบง่าย แม้จะดูคล้ายกับผ้าขาวม้า แต่มีสีสันและลวดลายที่เป็นลักษณะเฉพาะของคนน่าน

ผ้าลายแมงมุมอ้อมยุ๊มตีนหมี เรียกตามลักษณะของลาย มีขาเหมือนขาแมงมุมเหมือนแผ่ออกไปปกปักรักษาสิ่งที่หวงแหน ทำป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้กล้ำกราย โดยเฉพาะด็กเล็กและหญิงมีครรภ์

“ความรู้ในส่วนนี้ควรเป็นความรู้ที่แบ่งปัน ทั้งยังเพิ่มคุณค่าให้กับผ้า ยกระดับให้มีแบรนด์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพอย่างเดียว ยังมีคุณค่าของความหมาย จิตวิญญาณของตัวผ้าด้วย” อาจารย์สุเนตรย้ำ

ไปน่านอย่าลืมน่านเน้อเจ้า

ปีนี้ คณะทำงานตั้งใจว่าจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ น่านเน้อเจ้า ออกมาวางจำหน่ายมากขึ้น เพื่อให้สมดังความตั้งใจที่ว่า ไปเที่ยวน่าน อย่าลืมอุดหนุนแบรนด์ น่านเน้อเจ้า

สำหรับผู้ที่สนใจชมกระบวนการถักทอผ้าพื้นเมือง และผลิตภัณฑ์น่านเน้อเจ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน โทร. 054 771 458 - 9

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร