ยากที่สุดอยู่ที่ไหน? ผจญฝันสู่ขั้วโลกใต้กับ TJ

ยากที่สุดอยู่ที่ไหน? ผจญฝันสู่ขั้วโลกใต้กับ TJ

รู้จักความเป็นนักผจญภัยในตัวธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อนจะมาเป็น TJ’s True South โครงการใจกล้าที่จะพาคนมีฝันไปขั้วโลกใต้

เร็วๆ นี้ เหล่าผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้งคงได้ยินข่าวโครงการใหญ่ที่ไม่เคยมีคนไทยคิดทำมาก่อน กับการเฟ้นหานักผจญภัยไปปักธงไทย ณ ขั้วโลกใต้ ทวีปแอนตาร์กติกา TJ’s True South ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท

โครงการใจกล้าที่ยินดีออกทุนให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 9 คน (รวมธนาธรเป็น 10 คน) เดินทางไปทำภารกิจนี้ฟรีๆ ซึ่งทุนเริ่มต้นเฉพาะการเดินทางไปขั้วโลกใต้ก็ราว 2 ล้านบาทต่อคนแล้ว ไม่นับทริปการเตรียมตัวก่อนหน้านั้น การอบรมทักษะ และค่าอุปกรณ์ทั้งหมด ชนิดที่ว่ามาแต่ตัวก็ไปได้ นี่ไม่ใช่โครงการที่มีแต่เงินก็ทำได้ แต่เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ธนาธรคือนักผจญภัยที่ออกแสวงหาความเข้าใจทั้งตัวเองและเพื่อนมนุษย์ในโลกกว้าง

ยากที่สุดอยู่ที่ไหน

ธนาธรบอกว่าเขาเล่นกีฬาหลายประเภทมาตั้งแต่เด็ก จนถึงมหาวิทยาลัยก็เป็นนักกีฬามาโดยตลอด แต่หยุดออกกำลังกายไปในช่วงวัยทำงาน ที่ใช้ชีวิตเต็มที่จนร่างกายประท้วง มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อน เป็นภูมิแพ้ และระบบภายในรวน หมอแนะนำให้เขาเริ่มฝึกโยคะและขี่จักรยาน เขาจึงกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง

ด้วยคำชักชวนของเพื่อนๆ ก็ทำให้เขาได้เล่นไตรกีฬา ต่อด้วยวิ่งเทรลอัลตร้าในระยะ 50 กม. ภายในเวลาไม่นาน ร่างกายที่มีความเป็นนักกีฬาอยู่เป็นทุนเดิมก็เหมือนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากนั้นไม่ต้องรอให้ใครชวนแล้ว

“ผมถูกความท้าทายที่อยากรู้ว่าตัวเองไปได้ถึงไหน เลยค้นหาข้อมูลงานแข่งเอง”

งานที่เขาค้นหาและพาตัวเองไปก็ได้แก่ การวิ่ง 250 กม. ในทะเลทรายซาฮารา และ 6633 Arctic Ultra ที่เขาค้นเจอจากการป้อนคำค้นว่า “The Toughest Race in the World” การแข่งขันที่ยากที่สุดในโลก ซึ่งต้องวิ่งในระยะทาง 560 กม. เพื่อไปให้ถึงเส้นอาร์คติค เส้นสูงสุดเส้นสุดท้ายก่อนขึ้นไปถึงขั้วโลกเหนือ

“ระยะทาง 500 กว่ากม. มันไม่เท่าไหร่ แต่ที่ยากคือต้องเอาตัวรอดเองทุกอย่าง แบกของเอง จัดการเรื่องอาหารเอง ไม่มีการช่วยเหลือ ไม่มีการเติมเสบียงให้ ไม่มีอะไรเลยจากจุด 0 จนถึงจุด 560 คุณไปเองทั้งหมด”

การแข่งขัน 6633 Arctic Ultra 2015 ซึ่งมีธนาธรเป็นคนเอเชียคนแรกที่ทำสำเร็จ และก่อนปี 2015 ทั่วโลกก็มีคนที่แข่งจบเพียง 111 คนเท่านั้น นอกจากจะยากอย่างน่าจดจำแล้ว เขาไม่ได้ลงแข่งเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการระดมทุนไปสร้างสาธารณประโยชน์ด้วยในชื่อ  TJ Run For Charity ความสำเร็จของธนาธรหมายถึงเงินกว่า 5 ล้านบาทซึ่งกลายเป็นโรงเรียน ห้องสมุด เป็นการผ่าตัดต้อกระจก ฯลฯ นั่นคือเป้าหมายหนึ่งที่เขาอยากทำ

หลังจากกลับมาจากอาร์คติค เขาก็มองหากิจกรรมที่จะท้าทายตัวเองต่อ

“ผมเลยเริ่มปีนเขาจริงจัง ทั้งปีนผา หรือ Rock Climbing ปีนเขา หรือ Mountaineering ไปปีนเขาในหลายที่ ไปปีนลูกสูงๆ มา 7 ลูก ไม่สำเร็จไป 3 ลูก ไม่นับเขาลูกเล็กๆ และเริ่มมีความฝันถึง 7 ซัมมิทส์”

ฝันของนักผจญภัย

ในช่วง 3 – 4 ปีมานี้ ธนาธรจึงหากิจกรรมต่างๆ ทำเพื่อขยายขีดจำกัดของตัวเองไปเรื่อยๆ ทั้ง วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน พายเรือคายัค ไตรกีฬา วิ่งอัลตร้าเทรล ปีนผา ปีนเขา สกี และสโนว์บอร์ด การผจญภัยหลายครั้ง ทั้งแบบไปคนเดียวและแบบมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ทำให้เขารู้ดีว่ายังมีปัจจัยอีกมากมายที่จะทำให้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ

“มันไม่ใช่เรื่องร่างกายหรือจิตใจเท่านั้น เป็นเรื่องของการทดสอบอารมณ์ การวางแผน การเตรียมตัว และทีมเวิร์ค”

ถ้าได้ชื่อว่าเป็นนักผจญภัยแล้ว ทุกคนมักมีความฝันร่วมกันในการทำสถิติปีนยอดเขาที่สูงที่สุดใน 7 ทวีปหรือ 7 Summits ให้ได้ นอกจากนั้นยังมีอีก 2 ขั้ว (2 Poles) คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อยู่ด้วย ธนาธรก็ฝันถึงสิ่งนั้นเช่นกัน และไม่ได้ทำเพื่อท้าทายศักยภาพของตัวเองเท่านั้น

เมื่อเขานึกถึงการไปทำกิจกรรมต่อไปซึ่งต้องอาศัยพลังกายพลังใจขั้นสูง เขาก็ไม่คิดจะไปคนเดียว และไม่คิดจะทำเพื่อตัวเองเท่านั้น

วางแผนสู่ขั้วโลกใต้

ธนาธรถามว่า “คุณคิดว่าไปขั้วโลกใต้ต้องใช้เงินเท่าไหร่” 2 ล้านคือคำตอบ ในเมื่อเงินคืออุปสรรคของคนมีฝัน เขาก็อยากทำให้ “คนที่ใฝ่ฝันถึงการผจญภัยได้มีโอกาสนั้น”

“โครงการนี้ผมว่าใจดีที่สุด เฉพาะเดินทางไปขั้วโลกใต้ต่อคน 2 ล้าน ไม่รวมทริปอื่นที่เป็นการเตรียมตัว อุปกรณ์อีกเกือบ 2 แสน ในกรณีที่คุณเป็นลูกจ้างเราก็จะไปคุยกับนายจ้างให้ ถ้านายจ้างยอมจ่ายเงินเดือนให้คุณในช่วงที่คุณไปซ้อม เดินทาง เราก็แปะโลโก้ให้เลย แต่ถ้านายจ้างให้ไปแบบ leave without pay ช่วง 2 เดือนที่ไป เราก็จะช่วยคุณด้วย ส่วนคนที่นายจ้างไม่ยินยอม เราก็จะคุยหาช่องทางอื่นที่เรามี ช่วยหางานใหม่ให้ ผมอยากให้คนทุกคน ไม่ว่าสถานะไหนไปได้หมด ไม่อยากให้เรื่องเงินเป็นข้อจำกัด อยากให้เป็นเรื่องของคนที่มีความฝัน แล้วอยากทำอะไรสักครั้งในชีวิตได้ไป”

และเขายังเชื่อว่าทุกคนที่มีความฝันนั้นอยากจะสร้างสิ่งที่ดีต่อสังคม ใครก็ตามที่สามารถไปถึงขั้วโลกใต้ จะได้เงิน 1 ล้านบาทเพื่อบริจาคให้องค์กรการกุศลหรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามความต้องการ โดยเงินนี้จะได้มาจากการระดมทุนผ่านมูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนา ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับฝันที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมครั้งนี้

การที่เขาเลือกกิจกรรมผจญภัยที่ทำได้ยากยิ่งเป็นสื่อกลางในการทำเพื่อสังคมครั้งนี้ ธนาธรคาดหวังว่า ไม่มากก็น้อย เขาอยากจะถ่ายทอดสิ่งที่เขาเรียนรู้มาออกไปได้

“ชีวิตกลางแจ้งเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่การไปผจญภัยครั้งใดครั้งหนึ่ง เหมือนตัวผม ผมเห็นได้ชัดเลยว่าหลังจากไปเจอความลำบาก ไปทำกิจกรรมอะไรต่างๆ มา เราบ่นน้อยลง เราโทษโชคชะตาน้อยลง เราแก้ปัญหาด้วยตัวเองเยอะขึ้น มีอะไรก็ทำด้วยตัวเองมากขึ้น มันสะท้อนกลับมาที่การใช้ชีวิตเลย นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ผมคิดว่าห้องเรียนชีวิตมันอยู่ข้างนอก มีอะไรอีกหลายอย่างให้คุณเรียนรู้ โลกมันกว้างใหญ่ มีอะไรให้ค้นหาและพบเจอ เพื่อที่จะเติมเต็มพลังใจของคุณ ดึงความเป็นมนุษย์ ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เข้าใจโลก ผมคิดว่ามันอยู่ข้างนอก”

- - - - - - - - - - - - - -

TJ’s True South จะพาไปปีน Vinson Massive ด้วย!

ยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการที่ไหน แต่ธนาธรขอคิดดังๆ ว่า ทริปนี้ ไหนๆ จะไปขั้วโลกใต้ทั้งที (ชีวิตหนึ่งคุณจะไปขั้วโลกใต้สักกี่ครั้งกัน) ก็ไปปีนยอดวินสันแมสซีฟด้วยเลยแล้วกัน! ยอดเขาแห่งนี้คือ 1 ใน 7 ซัมมิทส์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีิปแอนตาร์กติกา นักผจญภัยที่อยากพิชิต 9 สุดยอดจุดหมายปลายทาง (7 Summits + 2 Poles) ให้ได้ หากผ่านการคัดเลือก คุณก็มีโอกาสที่จะพิชิตได้ถึง 2 ใน 9 เลยทีเดียว โครงการนี้ไม่ต้องมีแต้มจากการแข่งที่ไหนมา ขอเพียงผ่านด่านทดสอบความแข็งแกร่งและทักษะได้เท่านั้น ติดตามรายละเอียดได้ที่ truesouth.org