โลว์คอสท์จับตาเพิ่มภาษีน้ำมันฉุดท่องเที่ยวในประเทศ

โลว์คอสท์จับตาเพิ่มภาษีน้ำมันฉุดท่องเที่ยวในประเทศ

การท่องเที่ยวของไทยในไตรมาสแรก มีปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างยิ่งคือ แนวโน้มตลาดในประเทศที่อาจถดถอย เป็นผลกระทบมาจากธุรกิจการบิน 

โดยเฉพาะ 3 สายโลว์คอสท์หลัก ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย, ไทย ไลอ้อนแอร์ และนกแอร์ ประกาศเพิ่มค่าภาษีสรรพสามิตน้ำมันในอัตรา 150 บาท/ที่นั่ง และต่างยอมรับว่ามีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารค่อนข้างแน่ชัด

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่าต้องยอมรับว่าสำหรับสายการบินโลว์คอสท์ “ผู้โดยสาร”จะอ่อนไหวต่อราคาสูงมาก การเพิ่มค่าใช้จ่ายไปที่ผู้โดยสารครั้งนี้น่าจะมีผลกระทบบ้าง ซึ่งสายการบินจะมอนิเตอร์ยอดจองภายใน 1-2 อาทิตย์ต่อไปอย่างใกล้ชิด 

โดยมีประเด็นที่น่ากังวลสำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศว่า การเพิ่มภาษีดังกล่าว  ทำให้ต้องปรับราคา 150 บาท/ที่นั่ง จะทำให้ตั๋วโดยสารเส้นทางในประเทศมีราคาเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับเส้นทางไปประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) 

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าส่วนแบ่งของการท่องเที่ยวในประเทศ อาจถูกแบ่งไปสู่การเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน หากคำนวณค่าใช้จ่ายตั๋วโดยสารอยู่ในระดับเท่ากัน

การตัดสินใจหลังจากหารือกันระหว่างทุกสายการบินโลว์คอสท์ในครั้งนี้ เป็นความจำเป็น เนื่องจากสายการบินจะมีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 มีต้นทุนด้านน้ำมัน 6,100 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 33% แต่การเพิ่มภาษีสรรพสามิต ประเมินว่าจะทำให้สัดส่วนต้นทุนน้ำมันปีนี้ขยับมาอยู่ที่ 35% เพราะการจ่ายภาษีในอัตราใหม่เพิ่มขึ้นจาก 20 สตางค์/ลิตร เป็น 4.8 บาท/ลิตร

“ทุกไตรมาสจะนำราคาน้ำมันในตลาดโลกมาทบทวนใหม่อีกครั้ง ถ้าหากราคาปรับลดลง ก็พร้อมจะปรับค่าธรรมเนียมให้ผู้โดยสารต่ำลง” 

ขณะเดียวกันหากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราไม่เกิน 3 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็ยังคงพอรับภาระค่าใช้จ่ายนั้นเองไว้ได้ โดยไม่ต้องเพิ่มจาก 150 บาท เพราะมองว่าไม่ต้องการขึ้นราคาบ่อยเกินไป

อย่างไรก็ตามเตรียมจัดโปรโมชั่นด้วยความถี่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ เช่น จากเดิมออกโปรโมชั่นสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็ต้องเพิ่มเป็น 2 ครั้ง เพื่อจูงใจให้คนไทยยังเดินทาง และรักษาเป้าหมายผู้โดยสารในประเทศ 12 ล้านคน จากเป้าหมายผู้โดยสารทั้งหมด 19.5 ล้านคน

ปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย ทำเฮดจิ้งราคาน้ำมันล่วงหน้าสำหรับปีนี้ไว้ที่สัดส่วน 75% ที่ราคา 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนทำไว้ที่ 65% เนื่องจากประเมินแล้วว่าปีนี้แนวโน้มราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายในตลาดสิงคโปร์อยู่ที่ 65 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำหรับการขยายธุรกิจในปีนี้ เตรียมรับเครื่องบินใหม่ 6 ลำ และขยายจุดบินใหม่ 8-10 จุดใหม่ โดยเน้นเส้นทางในซีแอลเอ็มวีและอินเดีย แต่สำหรับเส้นทางไปจีน คาดว่าจะคงจำนวนเท่าเดิม 14 เส้นทาง เพราะครอบคลุมตลาดที่ต้องการแล้ว ส่วนอัตราบรรทุกเฉลี่ยทั้งหมดในไตรมาสแรกคาดว่าจะอยู่ที่ 85-86% หลังจากที่ในเดือน ม.ค.มีอัตราราว 88%

ขณะที่ อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทย ไลอ้อนแอร์ กล่าวว่าคาดว่าการเพิ่มภาษีน้ำมันดังกล่าวจะกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคบ้าง แต่จะไม่มากเนื่องจากความจำเป็นในการเดินทางด้วยเครื่องบินยังสูงกว่าการเดินทางด้วยประเภทอื่นๆ และหลังจากนี้คาดว่า ไทย ไลอ้อนแอร์ จะต้องจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการเดินทางในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิมด้วย

ด้าน กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีโอกาสหารือกับคณะผู้บริหารของแอร์เอเชีย นำโดย โทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่ม และรับทราบความกังวลดังกล่าวว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศแล้ว 

“ยอมรับว่าอาจมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวบ้าง แต่ยังเชื่อว่าตลาดยังเติบโตได้ และมองระยะยาวแล้ว การปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตดังกล่าวต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ช้าก็เร็ว” 

แม้ว่าในที่สุดจะกระทบต่อรายได้ท่องเที่ยวไปบ้าง แต่ในภาพรวมเมื่อเกิดรายได้มาสนับสนุนส่วนอื่นๆ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเช่นกัน อีกทั้งการขึ้นภาษีครั้งนี้เกิดขึ้นในแนวระนาบ ทุกสายการบินมีผลเท่ากันหมด ดังนั้นจึงไม่ได้เปรียบเสียเปรียบด้านการแข่งขันแต่อย่างใด