เปิดยิ่งใหญ่ งานพระธาตุพนม หลังถูกเสนอเป็นมรดกโลก

เปิดยิ่งใหญ่ งานพระธาตุพนม หลังถูกเสนอเป็นมรดกโลก

เปิดยิ่งใหญ่งานนมัสการ องค์พระธาตุพนมประจำปี หลังได้รับเสนอชื่อเป็นมรดกโลก

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขงขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิหารหอพระแก้ว วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร โดยมีพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนนับหมื่นคนร่วมประกอบพิธี อันถือเป็นพิธีเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปี

พิธีได้เริ่มขึ้นในเวลา 08.00 น. ได้มีการอัญเชิญพระอุปคุต ขึ้นจากลำแม่น้ำโขงเพื่อให้ไปประดิษฐาน ณ พระวิหารหอพระแก้ว โดยระหว่างทางที่อัญเชิญได้มีพี่น้องประชาชนทั้งชาวไทย ชาวลาว ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างพากันถือดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อนำมา รอกราบไหว้ สักการะ เพื่อขอพรให้ท่านคุ้มครอง ปกปักรักษา ป้องกันภยันตรายไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว ทุกๆปีจะมีพิธีนมัสการองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมากว่า 2,000 ปี เป็น 1 ใน 84,000 พระสถูปมหาเจดีย์ ที่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ โดยพระธาตุพนมบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกไว้

สำหรับพิธีนมัสการองค์พระธาตุพนม ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชนสองฝั่งไทย-ลาว สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยเชื่อว่า ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องสักการบูชาหน้าองค์พระธาตุพนม จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ปีนี้กำหนดงานจะมีระหว่างวันที่ 4 -12 กุมภาพันธ์ 2560 ภายในงานจะมีทั้งการสักการบูชา เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุพนม การแห่กองบุญถวายองค์พระธาตุพนม และการรำบูชาพระธาตุพนม การออกร้านจำหน่ายสินค้า และการแสดงมหรสพสมโภชตลอดงาน โดยในปีนี้ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษเนื่องจาก คณะรัฐมนตรีได้มีการนำพระธาตุพนมเสนอขอขึ้นเป็นมรดกโลก

ดร.ไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า หลังมีมติคณะรัฐมนตรีที่จะขับเคลื่อนพระธาตุพนมเข้าสู่มรดกโลก จังหวัดได้มีการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ไว้ 6 ด้าน คือในเรื่องของการกำหนดขอบเขตให้มีความชัดเจนว่าจะใช้พื้นที่ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมี 2 ส่วน คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์พระธาตุพนมและในส่วนของภูมิทัศน์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงตั้งแต่แม่น้ำโขงขึ้นมาจนถึงลานพระธาตุพนม องค์พระธาตุพนม

อีกส่วนเป็นด้านสนับสนุนทางวิชาการพระธาตุพนมเข้าสู่มรดกโลก มี 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนของโบราณสถานที่เป็นความเก่าแก่ จะมีการขุดค้นเพื่อหาข้อมูลมาอธิบายประกอบถึงความเป็นมาที่กล่าวอ้างว่ามีการก่อสร้างมากว่า 2,000 ปี และส่วนของศาสนสถาน ที่เป็นเรื่องของความเชื่อของพี่น้องในถิ่นนี้ทั้งชาวไทย ชาวลาว ชาวกัมพูชา ที่ให้ความเชื่อถือและปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างองค์พระธาตุพนมที่มีหลายชนชาติมาร่วมกันก่อสร้าง ประเพณีการกราบไหว้สักการบูชา เช่น งานไหว้พระธาตุพนมในเดือน 3 ซึ่งทุกๆปีจะมีคนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก หรือถ้ามาไม่ได้ก็จะมีการฝากธูปเทียนให้ลูกหลานมาสักการะแทน โดยจะมีการหาข้อมูลเชิงวิชาการมาสนับสนุนในส่วนนี้

ต่อมาคือด้านการปรับปรุงทางกายภาพ ได้แก่การปรับปรุงอาคาร สถานที่ ในหลายๆส่วนที่อาจจะชำรุด หรือเข้าเยี่ยมชมลำบากให้สามารถเข้าถึงง่ายขึ้น ต่อมาคือด้านสัมมนาเชิงวิชาการ โดยจะมีการจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้ เพื่อหาข้อมูลมาเปรียบเทียบกับองค์พระธาตุพนม ด้านการประชาสัมพันธ์ก็อีกอีกส่วนที่จะต้องทำให้ทั่วโลกได้รู้จักองค์พระธาตุพนมมากขึ้น ผ่านสื่อต่างๆ

และด้านการบริหารจัดการในการคุ้มครองดูแลองค์พระธาตุพนม ที่จะต้องมีองค์กรดูแล โดยเบื้องต้นได้ตั้งให้นายอำเภอธาตุพนมเป็นผู้จัดการดูแล และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วย ในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบ ซึ่งบางส่วนอาจจะต้องกำหนดพื้นที่ กำหนดบริเวณให้เกิดความสวยงาม สามารถเข้าออกได้โดยสะดวก และนี้คือการการเตรียมความพร้อมของจังหวัดในการนำพระธาตุพนมเข้าสู่มรดกโลก

โดยความเร่งด่วน 2 เรื่องที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ คือการสัมมนาวิชาการที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม เชิญนักวิชาการด้านโบราณคดี ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องมรดกโลกจากประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียแปซิฟิก ประมาณ 20 ประเทศมาสัมมนา เพื่อได้ให้ความรู้ในเรื่องของประสบการณ์ในการเสนอแหล่งมรดกโลกในแต่ละประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกับพระธาตุพนม แล้วนำข้อมูลที่ได้มาทำ Nomination File เพื่อนำเสนอพระธาตุพนมเป็นมรดกโลกในโอกาสต่อไป

และอีกงานคือการจัดทำแผนปฏิบัติการในทุกยุทธศาสตร์ ทั้งโรดแมปการทำงาน และกรอบงบประมาณ เพื่อให้ภาพของการขับเคลื่อนมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ได้มีการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในด้านต่างๆ เช่น ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะเป็นการสนับสนุนในเรื่องของการนำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการและเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาวางแผนร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนพระธาตุพนมเข้าสู่มรดกโลก