สถานีสนามไชย : วิศวกรรมบรรจบศิลป์

สถานีสนามไชย : วิศวกรรมบรรจบศิลป์

งานก่อสร้างและตกแต่งภายในที่ผสานศักยภาพด้านวิศวกรรมสมัยใหม่เข้ากับเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย

สถานีสนามไชย เป็นชื่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ตั้งอยู่ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วง ‘บางซื่อ-ท่าพระ’ และ ‘หัวลำโพง-บางแค’ ระยะทาง 27 กิโลเมตร เป็นโครงการที่รับผิดชอบโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ซึ่งมอบให้ บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและออกแบบตกแต่งในช่วงสนามไชย-ท่าพระ

ความจริง ‘สถานีสนามไชย’ สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีอื่นๆ แต่ด้วยความที่ตั้งอยู่ใน พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมและมีความสำคัญสำหรับคนไทยทุกคน  ‘บมจ. ช.การช่าง’ จึงตัดสินใจว่า สถานีแห่งนี้ควรได้รับการตกแต่งเป็นพิเศษ แม้ต้องลงทุนเพิ่มด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทเองก็ตาม

ความงดงามของสถานีสนามไชย เป็นผลงานการออกแบบตกแต่งโดย รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี ซึ่งตอบรับคำเชิญของ บมจ. ช.การช่าง เพื่อสร้างสรรค์ความพิเศษครั้งนี้

รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี สร้างสรรค์ผลงานด้านสถาปัตยกรรมไทยไว้มากมาย และได้รับการประกาศเกียรติคุณจากหลายหน่วยงาน ได้รับรางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(สถาปัตยกรรม) พ.ศ.2537, บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม(สถาปัตยกรรมไทย) พ.ศ.2540, ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา และ นิเคอิ เอเชีย ไพรซ์ สาขาศิลปวัฒนธรรม เป็นอาทิ

แนวคิดการออกแบบตกแต่งสำหรับสถานีนี้ เป็นความตั้งใจที่เราต้องการสร้างเอกลักษณ์สถานีรถไฟฟ้าของไทย ให้ชาวต่างชาติและคนไทยที่มาใช้บริการที่นี่ ประทับใจและจำได้ เราใช้แนวคิดอิงประวัติศาสตร์ในการออกแบบให้สอดคล้องกับอาคารสำคัญโดยรอบ ซึ่งเป็นเขตพระนครชั้นในบนเกาะรัตนโกสินทร์ เราจึงได้ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณมาเป็นแนวในการออกแบบ เพื่อสื่อถึงความทรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย ที่สามารถหลอมรวมกับชีวิตคนยุคใหม่ได้อย่างกลมกลืน” รศ.ภิญโญ กล่าวถึงภาพรวมของแนวคิดการออกแบบตกแต่งภายในของ ‘สถานีสนามไชย’

รศ.ภิญโญ เล่าวิธีการทำงานออกแบบให้ฟังว่า เมื่อตอนเข้ามาดูพื้นที่ทำงาน งานโครงสร้างของตัวสถานีได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแบบเรียบๆ เช่นเดียวกับสถานีอื่นๆ ที่เปิดบริการแล้ว เช่น ต้นเสาทุกต้นเป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็กตามมาตรฐานปกติ แต่วันนี้ที่เห็นสวยงาม เป็นเพราะการใช้งานออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมไทย ย่อมุมไม้แปด เสริมเข้าไปโดยไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างภายในของเสา

"เราตกแต่งเสาคอนกรีตด้วยงาน ‘ย่อมุมไม้แปด’  แต่อาจารย์ลบคมออกเพื่อความปลอดภัยเมื่อเปิดใช้งาน การย่อมุมนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทยใช้ในอาคารทั่วไป โบสถ์ วิหาร พระราชวัง คือเมื่อเสาเป็นสี่เหลี่ยม เวลามองตรง จะเห็นเสาขนาดหนึ่ง แต่ถ้ามองอีกมุม จะเห็นสัดส่วนต่างไป การย่อมุมก็เพื่อให้เสาอยู่ในรูปวงกลม ทำให้มองด้านไหนก็ดูเท่ากันหมด เวลาดูเกิดภาพลวงตา(optical illusion) ให้ต้นเสามีขนาดเท่ากันเวลามองทุกด้าน" รศ.ภิญโญ ยกตัวอย่าง

ส่วนปลายหัวเสาตกแต่งด้วย บัวจงกลชั้นเดียว ซึ่งเป็นศิลปะไทยที่ใช้ประดับหัวเสาที่รับน้ำหนักคานและบอกตำแหน่งสิ้นสุดคาน

"ศิลปะไทยที่ใช้ตกแต่ง 'หัวเสารับน้ำหนัก' มีหลายลาย เช่น บัวเกสร บัวกลีบขนุน บัวปากพาน แต่อาจารย์เลือกใช้ลาย 'บัวจงกลชั้นเดียว' เพื่อให้เหมาะสมกับสัดส่วนของเสา ถ้าจะต่อลายเป็น 2 ชั้น ก็จะทำให้ช่วงเสาสั้น ไม่เหมาะ เพราะเสาไม่ได้สูงเหมือนในโบสถ์ที่จะออกแบบเป็นลาย 2 ชั้น หรือ 3 ชั้นก็ได้"

ลวดลายบนผนังระหว่างต้นเสา หรือ ‘ลายท้องไม้’ ออกแบบเป็นลาย ดอกประจำยาม หรือชาวบ้านเรียก ‘ดอก 4 กลีบ’ คือลายที่เป็นผนังทั้งหมด

จุดสะดุดตามากๆ ของสถานีสนามไชยอีกพื้นที่หนึ่งคือบริเวณ เพดาน ทั้งหมด  ซึ่งถ้าไม่ตกแต่งเลยก็จะดูเรียบๆ ไม่ตื่นเต้น รศ.ภิญโญจึงออกแบบด้วยการตีตารางเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แล้วบรรจุ ‘ดอกลาย’ ลงไป โดยออกแบบเป็นลาย ดาวจงกลลายพุดตาน ทำให้เพดานดูลึกและสูง ตรงกลางช่องสี่เหลี่ยมใหญ่ที่แขวน อัจกลับ (โคมไฟ) ประดับลาย ดาวล้อมเดือน ส่วนลายดอกเล็กๆ สีทอง ที่ปรากฏอยู่บนกากบาทของช่องสี่เหลียม เรียก ดอก 4 กลีบ เป็นลักษณะการออกแบบตกแต่งเพดานของช่างไทย แต่ละสมัยออกแบบไม่เหมือนกัน มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนลายที่เห็นนี้รศ.ภิญโญออกแบบมาเป็นลายสมัยรัตนโกสินทร์

ลวดลายตรงเพดานที่ออกแบบให้มีความเอียงลาด ประดับด้วย ลายพุดตาน และ ลายประจำยาม แต่ยืดลายตัวนอกสุดเพื่อเปลี่ยนรูปทรงและสัดส่วน

คานขนาดใหญ่บนเพดานประดับ ลายกรวยเชิง ที่บริเวณปลายคานทั้งสองด้าน ตลอดตัวคานคาด ลายหน้ากระดาน ลวดลายทั้งหมดออกแบบใหม่ไม่มีซ้ำที่ไหน

เพดานและคานทั้งหมดทา สีแดงน้ำหมาก ขับให้ ลวดลายสีทอง ดูงามอร่ามตายิ่งนัก โดยเลือกใช้สีทองในโทน ‘ทองคำเปลว’ เช่นเดียวกับสีทองที่ใช้กับ ‘บัวจงกลชั้นเดียว’ ที่หัวเสา

หลายคนคิดว่า ‘สถานีสนามไชย’ สร้างเลียนแบบท้องพระโรง ซึ่งรศ.ภิญโญกล่าวว่า ‘ไม่ใช่ท้องพระโรง’  เป็นเพียงงานออกแบบที่ทำให้รู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในอาคารไทยโบราณที่ครูช่างฝีมือได้รังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต

ที่สำคัญ ลายไทย ทั้งหมดที่ประดับอยู่ใน ‘สถานีสนามไชย’ คือลวดลายที่ใช้กับประชาชนทั่วไปได้ ไม่ใช่ ‘ลายไทย’ ที่ใช้สำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระตำหนักหรือวัด ก็จะไม่เห็นลวดลายอย่างนี้

ผมลงมาดูเองในทุกรายละเอียด ทุกจุด เพราะต้องการให้สถานีนี้เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่คนทั่วโลกต้องมาดู ใครๆ ต้องรู้จัก เราตั้งใจออกแบบและจัดทำอย่างประณีตทุกชิ้น เพื่อสร้างผลงานที่จะอยู่คงทน เป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่แค่เป็นอาคารรองรับผู้โดยสารผ่านไปผ่านมาเท่านั้น"  รศ.ภิญโญ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังถือเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยให้คนรุ่นหลังได้เห็นและชื่นชม

ภายใต้ความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์แบบไทยรัตนโกสินทร์ สถานีสนามไชย สะท้อนความเป็นเลิศด้านการออกแบบทั้งในเชิงวิศวกรรม พื้นที่ประโยชน์ใช้สอยของผู้ใช้งาน ความสะดวก ความปลอดภัยจากการเลือกใช้วัสดุทนไฟ-ไม่เป็นเชื้อเพลิง และการตกแต่งที่มีรายละเอียด

“ช.การช่าง ยินดีและภูมิใจมาก ที่เราได้ทำโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานแบบทันสมัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องชาวไทยด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง โดยนำความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมก่อสร้างที่เราสะสมมากว่า 44 ปี มาใช้ควบคุมการก่อสร้าง ขณะเดียวกันเราก็สามารถนำศิลปวัฒนธรรมของเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับการออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ เป็นการนำวิศวกรรมเข้ามาผสมผสานกับศิลปะ สร้างความกลมกลืนให้เห็นว่า ชีวิตแบบใหม่สามารถอยู่ร่วมกับการดูแลศิลปวัฒนธรรมของเราได้อย่างสวยงามและยั่งยืน” สุภามาศ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ช.การช่าง กล่าว

สถานีสนามไชย ตั้งอยู่บริเวณถนนสนามไชย บนเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่ไกลจากวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง มีสถานที่ทางวัฒนธรรมอยู่โดยรอบ นักท่องเที่ยวสัญจรผ่านเป็นจำนวนมาก น่าจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของกรุงเทพฯ ในอนาคต

เป็นจุดที่เชื่อมความเป็นไทยกับวิศวกรรมทันสมัยเข้าด้วยกัน

------------------

ภาพ : ฐานิส สุดโต