นิยามคำว่า 'นก' ในเรื่องรัก-การเมือง

นิยามคำว่า 'นก' ในเรื่องรัก-การเมือง

เดือนแรกของปีผ่านไป แวดวงการละครเวที มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประกาศรางวัล สดใส อวอร์ดส์

รางวัลสำหรับบทละครยอดเยี่ยมในระดับอุดมศึกษา หรือละครเวทีเรื่องต่างๆ ที่เปิดแสดงที่อาจมีทั้งเรื่องที่องค์ประกอบดีและน่าจดจำ และมีบางเรื่องที่ไม่ควรได้ถูกนำมาแสดงต่อสาธารณชน แต่ยังมีละครเวทีโรงเล็กแต่อัดแน่นด้วยฝีมือของนักแสดง และทีมงานที่ยังคงทำได้อย่างน่าชม

ฤายังจะนกแม้โลกจะสลาย” หรือในชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า “Single ladies ‘till the world ends” ละครเวทีเล็กๆ เรื่องนึ้เป็นเนื้อหาของมิสคาร์เตอร์ กะเทยสาวผู้มีชีวิตเพียงคนเดียวด้วยการดูแลจากระบบปฏิบัติการ “น้องง” (ผู้เขียนใช้คำว่า “น้องง” เนื่องจากคาดว่าละครเรื่องนี้อิงมาจากเพจดังบนเฟซบุ๊ค) ระบบซึ่งคอยดูแลอาหารและสุขภาพ มิสคาร์เตอร์มีศิลปินในดวงใจ และเป็นต้นแบบให้กับเธอคือ บียอนเซ่ เธอใช้ชีวิตของไปเรื่อยๆ จนวันนี้ระบบได้พบว่ายังมีมนุษย์หลงเหลืออยู่บนโลก โอกาสที่เธอยังจะได้พบความรักจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่จะผิดหวังเมื่อมนุษย์ผู้รอดชีวิตนั้นคือทอมผู้คลั่งไคล้เทย์เลอร์ สวิฟต์มาก

ละครเวทีเรื่องหนึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานของ ปัถวี เทพไกรวัล ผู้สร้างสรรค์ผลงานเรื่อง ปลาสีรุ้ง การแสดงที่สามารถเสียดสีในประเด็นเรื่องเพศ ได้เห็นอย่างเผ็ดร้อนในปีที่ผ่านมา จนมาถึงเรื่องนี้ยังถือว่าไม่ผิดหวังแม้ไม่หวือหวาเท่าปีที่แล้ว อาจเป็นเพราะเวลาในการตกผลึก และเก็บข้อมูลสร้างเรื่องราวในครั้งนี้ที่อาจน้อยกว่าครั้งก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมที่น่าสนใจจากการเลือกใช้ศัพท์เฉพาะ ที่กำลังนิยมใช้ในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเจาะจงไปที่เพศหญิงและเพศที่สามอย่างคำว่า “นก

“นก” ในที่นี้เป็นคำกริยาที่บ่งบอกว่าผู้พูดหรือประธานของประโยค พลาดหรือผิดหวังจากเรื่องความรัก ในฐานะของผู้ถูกกระทำ เช่น การถูกทิ้ง การไม่ถูกเลือก หรือการไม่ได้รับความสนใจ เมื่อศัพท์เหล่านี้เป็นที่นิยมและใช้กันอย่างกวางขวางมากขึ้น 

การแสดงกว่า 2 ชั่วโมงจึงไม่ได้พูดอะไรไปไกลกว่าการที่ตัวละครอยู่กับความนกมาโดยตลอด และความนกเป็นบทเรียนหนึ่งในชีวิที่ทำให้เธอรู้ว่า “ความนกคือการที่อีกฝ่ายไม่ได้ผิด” 

ประโยคนี้ชวนให้ผู้เขียนที่คุ้นเคยกับคำว่านกมานานได้หยุดคิดอีกครั้งหนึ่งว่า ความน่าเศร้าของความนก คือ ผู้ที่นกนั้นจำต้องอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ไม่มีจุดที่จะปลอบใจหรือเยียวยาตัวเองด้วยการหาคนผิด อย่างที่มนุษย์มักทำโดยสัญชาตญาณคือ การหาตัวคนผิดเพื่อให้สบายใจว่า ความผิดหวังครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเอง

เมื่อบริบทเรื่องนี้มีการพูดเรื่องภาวะความรักแบบนกๆ ไปพร้อมกับการเสียดสีประเด็นทางสังคมการเมืองในปัจจุบันแล้วด้วย ยิ่งตอกย้ำว่าคนไทยทุกคนนกกับเรื่องการเมือง และประชาธิปไตย โดยการเสียดสีประเด็นสังคม และการเมืองนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งบทพูด ภาพประกอบในการแสดง ไปจนถึงเรื่องราว อาทิ เรื่องราวการหาผู้ชายในแอพพลิเคชั่นหาคู่ โดยในการแสดงเลือกใช้ภาพของบุคคลสำคัญทางการเมืองต่างๆ ประกอบกับท่าทางในการสไลด์เพื่อถูกใจบุคคลคนนั้นหรือสไลด์เลื่อนรูปนั้นทิ้งไป 

การหาคู่ผ่านแอพลิเคชั่นนี้ทำให้เราเห็นภาพสังคมที่แต่ละบุคคลมีสิทธิ์ในการเลือกสิ่งที่ดี สำหรับตัวเองผู้เขียนเห็นฉากนี้แล้วได้แต่สะท้อนความรู้สึกว่า ความรักเลือกได้ฉันใด สังคมประชาธิปไตยเลือกได้อย่างนั้น  นอกจากนี้ยังยกเรื่องเล่าเหตุการณ์ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวจากฮ่องกงที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ ที่กลายเป็นความนกของผู้คนที่รอในไทย หรือเพลงความรักทั้งเจ็ดที่มีสไลด์ประกอบ ทั้งบุคคลสำคัญทางการเมือง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การเสียดสีเรื่องการเมืองด้วยเรื่องราวความรักที่ใกล้ตัวแบบนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้คิดต่อถึงภาวะความ “นก” ในเรื่องนี้

เรื่องราวใน “ฤายังจะนกแม้โลกจะสลาย” นำเสนอความนกได้อย่างรอบด้าน ถึงกับสะท้อนภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ว่า คนที่คิดว่าตัวเองนกหลายครั้งเสพติดภาวะนก และเลือกให้ตัวเองอยู่ภาวะนก เพราะว่า มิสคาร์เตอร์ในเรื่องจะบอกว่าตัวเองนกมาตลอด เพราะในที่หลบภัยที่ซ่อนตัวอยู่เหลือเธอเพียงคนเดียว และเมื่อผู้รอดชีวิตอีกคนหนึ่งที่ระบบค้นพบชวนเธอออกไปสำรวจโลก แต่เธอปฏิเสธเพราะกลัวอันตรายและเสียชีวิต ภาวะนี้ไม่ต่างจากการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตนเองและเชื่อว่าพื้นที่ปลอดภัยนี้ของตนเองเหมาะที่สุดสำหรับตนเอง แม้ว่าพื้นที่จะชวนให้รู้สึกนกหรือผิดหวังบ่อยครั้งก็จะไม่เลือกเดินออกไปเสี่ยงกับสิ่งอื่นภายนอก ทั้งที่พื้นที่ข้างนอกอาจมีสิ่งที่ดีกว่า ความนกในเรื่องการเมืองก็เช่นกัน ในภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญ และแม้รู้ว่าไม่ดีไม่เหมาะอยู่ในสภาพนี้ต่อไปก็ยังจะนกอยู่ดี แต่ไม่เลือกที่จะไปเสี่ยงกับเงื่อนไขอื่นๆ ภายนอก

ความนก และเรื่องการเมืองในเรื่องที่ถูกเล่าไปเรื่อยๆ ยังมีอักประเด็นที่น่าสนใจคือการหยิบเอา บียอนเซ่ มาใช้เป็นหนึ่งในเรื่องตลอดทั้งการแสดงคือ ตั้งแต่ฉากแรกมิสคาร์เตอร์มาพร้อมพวงมาลัย และกราบไหว้ที่รูปของบียอนเซ่ แสดงความศรัทธาและคลั่งไคล้ และบียอนเซ่จะถูกพูดถึงจากตัวละครเสมอในฐานะที่พึ่งพิงจิตใจของตัวละคร 

จนมาถึงฉากที่ถกเถียงกันว่าระหว่างบียอนเซ่ และเทเลอร์ สวิฟต์ใครดีกว่ากัน ตัวละครจำยอมกับข้อเสียต่างๆ ที่อีกฝ่ายโจมตีบียอนเซ่ และกลบเกลื่อนด้วยถ้อยคำสวยหรู ไปจนถึงการใช้คลิปภาพบียอนเซ่ยังอยู่ในภาพประกอบช่วงท้ายเรื่อง 

ผู้เขียนสังเกตได้ว่า การเลือกบียอนเซ่มาใช้กับตัวละครที่มีลักษณะเป็นกะเทยนี้ไม่ใช่แค่ความสนุก แต่เป็นการเสียดสีด้วยความตลกว่า ไม่ใช่ความรู้สึกจากสิ่งที่หวังแล้วผิดหวังเท่านั้นที่คนไทยกำลังประสบ แต่ยังภาวะที่คนไทยกำลังเผชิญหลายคนคือศรัทธาแบบไม่ลืมหูลืมตา รู้ว่าบุคคลที่ตนกำลังยกย่องทำผิดแต่กลบเกลื่อนเบือนหนีด้วยคำอ้างอื่นๆ และศรัทธาคนเหล่านั้นต่อไป

ความตลกที่เสียดสีนี้ ผนวกกับประสบการณ์ความนกในเรื่องความรักเมื่อถูกเข้ามาอธิบายในเรื่องสังคม และการเมือง ผู้เชียนเชื่อว่า การแสดงนี้ทำให้ผู้ชมได้เห็นภาพความน่าเศร้าของการเมืองไทย ที่ไม่ต่างจากความเบื่อหน่ายชีวิต ของคนที่นกเรื่องความรักตลอดเวลา แต่คนเหล่านี้ก็ไม่เลือกก้าวออกมาจากจุดที่เจ็บปวด ซ้ำร้ายยังต้องเผชิญกับการหลอกตัวเองว่ากำลังศรัทธาในสิ่งที่ถูกต้องอีกต่างหาก 

เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว น่าคิดว่า การนกเรื่องรักยังไม่น่ากลัวเท่าการนกเรื่องการเมืองหรอก จริงไหม