ดีแทครายได้วูบลูกค้าหาย8แสน เปิดทางทรูขึ้นที่2

ดีแทครายได้วูบลูกค้าหาย8แสน เปิดทางทรูขึ้นที่2

"ดีแทค" รายงานผลประกอบการปี 59 รายได้หดลูกค้าวูบ ย้ำไม่ให้ความสำคัญลำดับที่ แต่เดินหน้าขยายโครงข่ายต่อเนื่อง มุ่งสู่แบรนด์ดิจิทัลอันดับหนึ่ง

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) รายงานผลประกอบการปี 2559 ยอดรายได้และจำนวนลูกค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด สั่นคลอนตำแหน่งเบอร์รองในตลาด มีแนวโน้มร่วงสู่อันดับ 3 จับตา ‘ทรูมูฟ เอช’ แซงขึ้นเบอร์ 2 แทน

แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา การอนุมัติเลขหมายโทรคมนาคมเพื่อนำไปให้บริการ 4จี ส่วนใหญ่เอกชนที่ทำหนังสือขออนุญาตมายังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะมีเพียงบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค (เอดับบลิวเอ็น) และทรูมูฟ เอช

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าดีแทคไม่ทำตลาด 4จี แต่สำนักงาน กสทช. จะให้เอกชนรายงานปริมาณยอดขายของเลขหมายที่ขอไปก่อนหน้านี้ หากยังคงเหลืออยู่ในปริมาณพอสมควรก็จะไม่อนุมัติเลขหมายใหม่

“หากพูดตามตรงแล้ว ดีแทคยังมีเลขหมายที่ขอไปคงเหลืออยู่มาก แสดงให้เห็นว่าดีแทคมีอัตราการขายซิมใหม่น้อยกว่าคู่แข่ง”

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า หากให้มองว่าปัญหามาจากเรื่องใด คงตอบว่า การที่ดีแทคไม่ชนะการประมูลทั้ง 2 ครั้งที่สำนักงาน กสทช.จัดขึ้นได้เลย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่แน่ใจ ลังเลที่จะใช้บริการ เพราะดีแทคมีความถี่ที่ให้บริการได้จาก กสทช. ที่มาจากการประมูลเพียง 15 เมกะเฮิรตซ์ในย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น

ส่วนย่านอื่นๆ ทั้ง 850 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ให้บริการ 4 จีเป็นหลัก ขณะนี้อยู่ในระบบสัญญาสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคม โดยจะสิ้นสุดลงวันที่ 30 ก.ย. 2561

ไม่ให้ความสำคัญอันดับ

ขณะที่นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ระบุในวันเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ว่า ดีแทคให้ความสำคัญการลงทุนโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง แต่ยังตอบไม่ได้ว่าในไตรมาส 4/2559 ดีแทคยังเป็นผู้ให้บริการอันดับที่ 2 หรือไม่

“จุดยืนของดีแทคยังคงให้ความสำคัญการขยายโครงข่ายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาขยายจำนวนสถานีฐานของการให้บริการ 4จีบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ 10,000 แห่ง และมีสถานีฐานในระบบ 4จี ทั้งคลื่น 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 20,000 แห่ง และบริการ 3จี บนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ 30,000 แห่ง และสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ที่จะมีจัดขึ้น”

ลูกค้าเหลือ24.5ล้านราย

ล่าสุด การประกาศผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2559 มีผู้ใช้บริการรวม 24.5 ล้านเลขหมาย ลดลงจาก 25.3 ล้านเลขเลขหมายเมื่อปี 2558 โดยเกิดจากจำนวนลูกค้าระบบเติมเงินที่ลดลงเนื่องจากบริษัทใช้ความระมัดระวังในการให้ส่วนลดค่าเครื่องในตลาดบริการระบบเติมเงิน ขณะที่ ตลาดดังกล่าวให้ส่วนลดค่าเครื่องกันระดับสูง

ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 5 ล้านเลขหมาย จากเดิมที่มีอยู่ 4.3 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นผลจากโปรโมชั่นที่กระตุ้นให้ลูกค้าเปลี่ยนการใช้งานจากระบบเติมเงินมารายเดือน

ทั้งนี้ ไตรมาส 4/2559 จำนวนผู้ใช้บริการรวมลดลง 340,000 เลขหมาย จากไตรมาส 3/2559 เกิดจากจำนวนผู้ใช้บริการระบบเติมเงินที่ลดลง 548,000 เลขหมาย แต่ผู้ใช้งานระบบรายเดือนเพิ่มขึ้น 207,000 เลขหมาย

กำไรสุทธิลด97%

ปี 2559 มีรายได้รวม 82,478 ล้านบาท ลดลง 6% เนื่องจากรายได้จากการให้บริการและการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์ลดลง โดยรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายอยู่ที่ 64,693 ล้านบาท ลดลง 2.3% ส่วนใหญ่เกิดจากการรายได้จากการให้บริการเสียงลดลง ขณะที่รายได้จากบริการข้อมูลยังคงเติบโต

ไตรมาส 4/2559 รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายอยู่ที่ 16,023 ล้านบาท ลดลง 3.6% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และลดลง 1.1% จากไตรมาสก่อน จากภาพรวมเศรษฐกิจที่อ่อนตัวและสถานการณ์ที่ท้าทายในตลาดบริการระบบเติมเงิน

รายได้จากการให้บริการเสียง 22,953 ล้านบาท ลดลง 22% เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้บริการอินเทอร์เน็ตเมื่อใช้งานสมาร์ทโฟนแทน รายได้จากบริการข้อมูล 35,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตและปริมาณเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับพัฒนาการของโครงข่ายและบริการสตรีมมิ่งซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

“การสร้างรายได้จากการเติบโตของบริการข้อมูลยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากการให้บริการข้อมูลอยู่ที่ 55.3% ของรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย เพิ่มขึ้นจาก 46.4% เมื่อปี 2558”

รายได้จากการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์และชุดเลขหมาย 12,181 ล้านบาท ลดลง 21% ส่วนใหญ่เกิดจากจำนวนเครื่องไอโฟนที่ขายลดลงและมีให้ส่วนลดค่าเครื่องมากขึ้นสืบเนื่องจากการแข่งขันในตลาด

ทั้งนี้ ปี 2559 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,086 ล้านบาท ลดลง 65% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กร ขณะที่ EBITDA อยู่ระดับทรงตัว

กำไรสุทธิไตรมาส 4/2559 อยู่ที่ 30 ล้านบาท ลดลง 97% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและลดลง 95% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น รวมทั้งการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้บันทึกค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กร 146 ล้านบาทในไตรมาส 4/2559

เป้าหมายที่ 1 แบรนด์ดิจิทัล

แนวโน้มปี 2560 อุตสาหกรรมบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากบริการอินเทอร์เน็ต โดยคาดว่าผู้ใช้บริการมีแนวโน้มบริโภคอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากการใช้งานสังคมออนไลน์และบริการสตรีมมิ่ง รวมทั้งภาคธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกับช่องทางการขายและการตลาดรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น

เป้าหมายของดีแทคคือการเป็นแบรนด์ดิจิทัลอันดับหนึ่งในประเทศไทยภายในปี 2563 บริษัทจึงต้องพัฒนาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ด้วยการส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลมากขึ้นและดียิ่งขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อโครงข่าย

ทั้งนี้ ภายหลังการขยายโครงข่าย 4จีในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทมีแผนจะลงทุนในปี 2560 ด้วยวงเงินประมาณ 17,000-20,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาความต่อเนื่องของโครงข่ายและเสริมสร้างประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้า

“ช่วงที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมอยู่ระดับสูง บริษัทต้องเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรักษาวินัยทางการเงินเพื่อให้ความพร้อมต่อโอกาสทางธุรกิจซึ่งรวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคต”