‘ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์’ บริหารด้วยพลังบวก

‘ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์’ บริหารด้วยพลังบวก

บริหารธุรกิจอสังหาฯจากคำว่า‘บ้าน’จุดเริ่มพลังบวกสร้างความสำเร็จ‘ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ค่ายเอสซีฯเชื่อมใจลูกค้ายุคดิจิทัล ปูทางองค์กรคนรุ่นใหม่

แม้จะเป็นผู้บริหารวัยเพียง 36 ปี แต่ “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” เขยของตระกูล ก็ได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลชินวัตร

โดยศาสตร์ที่นักบริหารหนุ่มรายนี้ยึดถือ คือ ความเชื่อใน“พลังบวก”สื่อสารผ่านผู้คนและทุกกิจกรรมทางธุรกิจ โดยเฉพาะการสื่อสารกับลูกบ้านผ่านกลยุทธ์การสื่อสารต่างๆ อาทิ แคมเปญการตลาดที่ยิงตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายหลากหลายวัย

“คนทำโครงการบ้านขาย ต้องทำสังคมในหมู่บ้านให้น่าอยู่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแคมเปญ For Good Morning เอสซีฯยังพยายามบอกกับลูกบ้านที่ซื้อบ้าน และกำลังตัดสินใจที่จะซื้อ ผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ ฟาร์มรัก ปลูกผัก ปลูกเพื่อน"

จนกระทั่งมาถึงแคมเปญ Walk with me ซึ่งเป็นวิธีสื่อสารแบบตอบโต้สองทาง (Interactive) ผ่านแอพพลิเคชั่นที่น่าจะเป็นแห่งแรกของวงการอสังหาฯ โดยแนวคิดของแคมเปญนี้มาจากการมองเห็น “จุดบอด” ของสังคมดิจิทัล ว่าเป็น “สังคมก้มหน้า” ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนข้างเคียง หรือแม้แต่คนข้างบ้าน

“Walk With Me” จึงพยายามสอดแทรกวิธีคิดที่ว่า สังคมดีๆต้องเริ่มต้นจากการก้าวขาออกจากบ้านมายิ้ม สบตา ทักทายคนข้างบ้าน หรือคนในหมู่บ้าน

“เราหาวิธีชวนลูกบ้านออกมาเชื่อมกัน เพราะสังคมดิจิทัล ทำให้คนรู้จักคนเพื่อนบ้านน้อยลง คนใกล้กลายเป็นคนไกล เราเลือกเพื่อนบ้านไม่ได้ แต่เราทำความรู้จักกันได้ โดยการออกแบบแอพเพื่อใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพราะสิ่งสำคัญของที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบ ต้องมีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ ทำเล การใช้งาน(ฟังก์ชั่น) ความปลอดภัย มีชีวิตสะดวกสบาย (Intelligent) และความมีชีวิตชีวา (Lively)"

ปัจจัย4 ข้อแรก สามารถสร้างได้ แต่ปัจจัยสุดท้าย คือ “ความมีชีวิตชีวา” จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีเพื่อนบ้านที่ดี สังคมที่ดี เจ้าของโครงการทำไม่ได้ แต่เราสร้างจุดเริ่มต้น และจุดประกายให้เกิดบรรยากาศดีๆเกิดขึ้นได้ จากกลยุทธ์การสื่อสาร เขาย้ำ

“หมู่บ้านและคอนโด เมื่อโอนไปแล้ว ณ จุดหนึ่งเป็นหน้าที่ของนิติบุคคลบริหาร แต่เราก็คุยกัน หารือกันปีละครั้ง แต่การจะบริหารสังคมได้ดี ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้ลูกบ้านเป็นเพื่อนบ้านที่แข็งแรง ทำให้สังคมเดินต่อไปได้”

ล่าสุด เอสซีฯยังเน้นผสานนวัตกรรม เข้ามาในการพัฒนาโปรดักท์และบริการ ตอบโจทย์ลูกค้า รองรับยุคพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปเร็ว โดยยึดแนวคิด "Human -Centric” หรือคนคือศูนย์กลาง สอดคล้องกับยุคโลกที่เชื่อมต่อกันด้วยดิจิทัล

“เอสซี จะก้าวกระโดด จากยุค 2.0 ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Consumer Centric) เราก้าวไป ยุค 4.0 เป็นแนวคิด Human –Centric การทำความเข้าใจชีวิตลูกค้าอย่างแท้จริงและที่สำคัญต้องหาโซลูชั่นโปรดักท์ และบริการ ที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ยุคที่เสียงลูกค้าจะดังอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน”

นอกจากนี้ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมในธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เอสซีฯอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม “Property Technology” (PropTech)” ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 50 ล้านบาท ปัจจุบันได้เจรจาบริษัทสตาร์ทอัพในไทยอยู่หลายราย และในอนาคตอาจจะลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพต่างประเทศเพิ่มเติม

ส่วนข่าวครึกโครม ที่เอสซี แอสเสท ถูกต่อว่าหนักจากลูกบ้านเรื่องคุณภาพบ้าน จนถูกชาวโซเชียลกระหน่ำไปในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ณัฐพงศ์ต้องเรียนรู้การดับวิกฤติ (Crisis) จากพฤติกรรมลูกค้าในยุคใหม่ที่คนพูดเสียงดังขึ้น

โดยเจ้าตัวยอมรับว่า เสียงที่พูดดังในโลกโซเชียลก็ส่งผลต่อแบรนด์ไม่น้อย

“เราอยู่ในยุคที่ลูกค้ามีโอกาสพูดมากขึ้น ทางดีเวลอปเปอร์ต้องกลับมาทำการบ้านให้หนักขึ้นรักษามาตรฐานและคำมั่น โดยเฉพาะที่ระบุถึงการซ่อมต้องให้เสร็จภายใน1วัน เมื่อบ้านมีปัญหา”

ที่สำคัญไม่ว่าข่าวจะรุนแรงแค่ไหน แต่นักพัฒนาอสังหาฯ ก็ไม่มีสิทธิพูดแข่งกับลูกค้า แต่ต้องทำมากกว่าพูด แล้วระยะยาวสังคมจะตัดสินได้เอง

เขายังระบุว่า ข่าวร้ายมากมายจากภายนอก เป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องมี “พลังบวก” ในตัวให้มากที่สุด โดยเฉพาะ“การคิดบวก”อยู่เสมอ

“ผมเป็นคนที่มีความเป็นส่วนตัวประมาณ แต่ไม่สร้างศัตรู ผมชอบที่ได้ทำงานได้ใช้ชีวิต หากมีคนคิดลบกับเราสิ่งที่คนอื่นคิดกับเราคิดต่างกัน สิ่งที่คนคิดเราควบคุมไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เขากันคิดไป แต่เราต้องทำตัวเองให้ดีก่อน โดยเป็นคนอยู่บนโลกที่มีความสุข เมื่อคิดดี พลังงานบวกจากเราก็จะแผ่ไปถึงคนคิดลบ”

ส่วนผสมของการคิดบวกมาจาก การวางสมดุล 3 ด้านในชีวิต คือ การงาน สุขภาพ และครอบครัว

ทำงานเก่งอย่างเดียว แต่ประชุมตี 2 -ตี3 แม้เป้าหมายรายได้ทะลุ 2 หมื่นล้านใน3ปีข้างหน้า และ 3 หมื่นล้านบาทในอนาคต แต่ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ไม่เจอภรรยา และลูก สุขภาพไม่ดี ทะเลาะกันภรรยา เครียด เสียสุขภาพ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย พักผ่อน ก็มีพลังงานลบมาทำงาน”

พลังงานบวกจึงต้องมาจากการวางสมดุลในการใช้ชีวิต ตั้งใจทำงาน มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีวินัยออกกำลังกาย

"พูดเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายบางครั้งประชุมเลิก 2 ทุ่ม แต่เราก็ต้องฝึกให้มีนิสัย และไม่มีข้ออ้าง ไม่ออกกำลังกายมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ขาเจ็บ วิ่งไม่ได้ก็หาวิธีออกกำลังกายด้วยการใช้แขน วิดพื้น ก็เป็นทางเลือกออกกำลังกายได้”