“ZeekDoc” จับคู่คนไข้ให้เจอหมอเฉพาะทางที่ใช่!

“ZeekDoc” จับคู่คนไข้ให้เจอหมอเฉพาะทางที่ใช่!

ไทยมีแพทย์น้อยแถมส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเมือง เลยเป็นภาระของผู้คนยามป่วยไข้ ติดตาม “ZeekDoc”ผู้ปลดล็อกคนไข้ได้เจอหมอที่ใช่ แค่นิ้วคลิก!

ประเทศไทยมีประชากรนับ 70 ล้านคน กระจายตัวอยู่ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ แต่เรามีแพทย์ทั้งประเทศแค่ 5 หมื่นคน แถมครึ่งหนึ่งในนั้นกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ลองเทียบสัดส่วนแพทย์ในต่างจังหวัดดู จะพบว่าแพทย์ 1 คน ต้องดูแลคนไข้สูงถึง 2,400 คน! ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องดั้นด้นมารักษาตัวกับหมอในเมืองกรุง สูญเสียทั้งเวลา ทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ขณะที่ฝั่งของแพทย์ อยากช่วยคนในต่างจังหวัดนะ แต่รายได้จากโรงพยาบาลรัฐก็ดูไม่จูงใจเอาซะเลย ลองแบ่งเวลาไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน ไปเปิดคลินิกส่วนตัวดูบ้าง แต่ดันโปรโมทไม่เป็น คนไม่รู้จัก ไม่มีใครมารักษา สุดท้ายก็ไปต่อไม่ได้

ปมทุกข์ของคนไข้และหมอ สะกิดโดนใจ “ฟ้า-วลัยพรรณ ฉันท์มิตรกุล”, “เบียร์-ประพนธ์ ชัยมัธยมผล” วัย 30 ปี และ “โอ๊ต-พงศกร เลี่ยวศรีสุข” วัย 27 ปี ให้ร่วมกันก่อตั้ง ZeekDoc” (ซีคด็อก) ขึ้น เมื่อประมาณ 1 ปี ก่อน หลังพบกันในงาน Hackathon จุดนัดพบของเหล่าโปรแกรมเมอร์ ดีไซน์เนอร์ และคนที่มีหัวคิดธุรกิจ จนก่อเกิดเป็นกิจการน้ำดีตามมา และเพิ่งคว้ารางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 จากเวที Chivas The Venture ปี 3 โครงการเฟ้นหาสุดยอดนักธุรกิจกิจการเพื่อสังคม โดยชีวาส รีกัล มาสดๆ ร้อนๆ พร้อมเงินทุนสานฝันที่ 250,000 บาท

“ซีคด็อก เป็นเว็บไซต์และแอพพลิชั่น ที่ช่วยให้คนไข้ค้นหาแพทย์ได้ตรงกับความต้องการในพื้นที่ใกล้บ้าน และนัดหมายได้ทันทีผ่านทางออนไลน์ รวมถึงเป็นช่องทางให้แพทย์ได้เจอกับคนไข้ที่ตรงกับความเชี่ยวชาญเฉพาะของตัวเขาด้วย”

ฟ้า-วลัยพรรณ บอกเล่าการเข้ามาบรรเทาทุกข์ของซีคด็อก แพลทฟอร์มนัดแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่จะช่วยให้คนไข้สามารถค้นหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาอาการของตนเองได้อย่างถูกต้อง ในพื้นที่ใกล้ๆ บ้าน โดยไม่ต้องรอคิวนาน ที่สำคัญพร้อมบริการทั้งคนไทยและต่างชาติ ด้วยระบบ 2 ภาษา

แค่สไลด์ปลายนิ้วเข้าสู่ ซีคด็อก ก็สามารถเลือกได้ตั้งแต่ หมอเฉพาะทางที่ตรงกับอาการที่เราเป็น อย่าง กระดูกและข้อ หูคอจมูก ฯลฯ ไม่ต้องกลัวถูกส่งไปเจอหมอที่ไม่ใช่ แถมระบบจะทำการค้นหาหมอในโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกที่ใกล้ที่สุด ได้เห็นหน้า ได้ดูประวัติและความเชี่ยวชาญของคุณหมอ เห็นตารางเวลาที่ออกตรวจ หรือจะเริ่มจากเลือกโรงพยาบาลที่ตรงกับประกันสุขภาพที่คนไข้ถืออยู่ก็ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลมประกัน จากนั้นก็แค่กรอกประวัติสั้นๆ และทำการจอง เรื่องหนักอกทุกข์ใจก็เป็นอัน จบปึ้ง!

“เราพยายามจูงใจให้คนไข้ไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก เพื่อช่วยหมอในต่างจังหวัดให้มีรายได้ ช่วยให้คนไข้ที่มีกำลังจ่าย หรือมีประกัน ออกมาจากโรงพยาบาลรัฐบาล เพื่อให้ที่นั่นมีเฉพาะคนที่ลำบากจริงๆ เข้าไปใช้บริการ” คนทำซีคด็อกบอกความมุ่งหมาย

ปัจจุบัน ซีคด็อก ให้บริการครอบคลุมทั้ง กรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา ระยอง จันทบุรี และตราด มีคุณหมอในระบบประมาณ 2,000 คน ยอดคนติดตามในเว็บไซต์ประมาณ 1 แสนคน  มีสมาชิกประมาณ 700 คน และคนที่ทำการจองแล้วอยู่ที่ประมาณ 400 คน ทั้งที่แทบจะไม่ได้ทำการโปรโมทด้วยซ้ำ แถมยังยอมรับว่า การทำให้คนไทยหันมานัดพบหมอทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ยังต้องอาศัยเวลา ทว่าผลออกมาก็ยังพอชื่นใจได้ โดยในปีนี้ตั้งเป้าจะขยายให้ครบทั้ง 77 จังหวัด

“เราอยากช่วยคนในทุกจังหวัด ช่วยให้แพทย์ ได้เป็นแพทย์ตามฝันตามอุดมการณ์ ได้ช่วยเหลือคน และยังมีรายได้ที่ดีด้วย รวมทั้งอยากดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทย ให้เขาสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้อย่างง่ายๆ ด้วยระบบของเรา เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ” พวกเขาบอกเป้าหมาย

ความน่าสนใจของซีคด็อก ไม่เพียงผลลัพธ์ที่เกิดกับสังคม ทว่ายังมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนด้วย โดยพวกเขาไม่ได้เก็บค่าบริการจากผู้ใช้งาน แต่รายได้จะมาจากค่าเทคโนโลยีฟี หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเป็นหลัก ซึ่งเก็บจากโรงพยาบาล แพทย์ หรือคลินิก แลกกับจำนวนคนไข้ที่จะได้เพิ่มขึ้นจากเครื่องมือของซีคด็อก รายได้อีกทางจะมาจากการขายซอฟแวร์บริหารจัดการคลินิก เพื่อช่วยให้แพทย์หรือเจ้าของคลินิกสามารถบริหารคลินิกของตัวเองได้อย่างง่ายๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะส่งมาทำตลาดได้ในปีนี้ รวมถึงรายได้จากช่องทางอื่นๆ เช่น พื้นที่โฆษณาที่จะเก็บจากสปอนเซอร์ เหล่านี้เป็นต้น

ซีคด็อก เป็นกิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise : SE) ที่เริ่มต้นด้วยโมเดลของสตาร์ทอัพ พวกเขามีโจทย์ในการทำธุรกิจชัดเจนแต่ต้นว่า ไม่ได้ต้องการมาแทนที่ใคร  แต่ทุกคนต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน ที่สำคัญต้องส่งผลถึงคนหมู่มากด้วย

“ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราอยากช่วยคนหมู่มากด้วย อยากให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น และไม่ได้ช่วยแค่ใครคนใดคนหนึ่งแต่ส่งผลถึงคนทั้งประเทศ แม้แต่ต่างชาติก็มาใช้บริการได้ มองว่าไหนๆ ก็เหนื่อยแล้ว คิดใหญ่ดีกว่าคิดเล็ก เลยเลือกทำอะไรที่ง่าย ใช้คนน้อย แต่ต้องมีผลต่อคนหมู่มาก” พวกเขาสะท้อนความคิด

ยังเป็นวัยหนุ่มสาวเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และทางเลือกในชีวิต แต่ทำไมถึงมาเป็น SE ที่ทั้งเหนื่อยและหินแบบนี้ ทั้งฟ้าและเบียร์ ซึ่งต่างเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน บอกเราว่า อยากทำงานที่ไม่เพียงได้เงิน แต่ต้องให้คุณค่าอะไรกับชีวิตด้วย

“ฟ้าเคยเป็นเซลส์อยู่บริษัทยา เคยได้รายได้เยอะมากจากค่าคอมมิชชั่น แต่ถึงจุดหนึ่งกลับรู้สึกว่า ชีวิตเราแทบไม่มีคุณค่าอะไรเลยถ้าได้เงินมาเปล่าๆ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถทำงานที่ได้เงิน และยังช่วยเหลือคนได้ด้วย ซึ่งตั้งแต่ทำซีคด็อกมา มีแต่คนเข้ามาชม มาอวยพร นั่นเป็นแรงผลักดันที่ทำให้พวกเราอยากทำให้มากขึ้น”

ขณะที่เบียร์บอกเราว่า ในฐานะโปรแกรมเมอร์ฝันของเขาก็แค่อยากทำโปรดักส์ที่มีอิมแพคกับผู้คน มีคนเข้ามาใช้งานมากๆ และได้ประโยชน์กลับไป ซึ่งอาจไม่ได้ทำให้ร่ำรวยมากมาย ขอแค่พอเลี้ยงตัวเองได้ เท่านั้นก็ตอบโจทย์ความสุขของเขาแล้ว

ส่วนใครที่อยากเดินบนเส้นทางนี้ พวกเขาบอกแค่ ประสบการณ์ และทักษะความเชี่ยวชาญที่เรามี จะเป็น “แต้มต่อ”ในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ขณะที่อุตสาหกรรมที่ทำ ถ้าคนเข้าถึงได้ยาก มีคนทำน้อย และมีความต้องการอยู่ อย่าง กลุ่มสุขภาพ ก็มีแนวโน้มว่าจะอยู่รอดได้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ที่สำคัญต้องอดทน ยอมทำในสิ่งที่ยาก และไม่ล้มเลิกง่ายๆ แล้ววันหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จได้

เหมือนความตั้งใจและมุ่งมั่น ที่พวกเขาชาว “ซีคด็อก” กำลังทำอยู่ในวันนี้