แพทย์เผย'วิธีไอโอ' รักษามะเร็ง เหมาะใช้คนไข้ระยะสุดท้าย

แพทย์เผย'วิธีไอโอ' รักษามะเร็ง เหมาะใช้คนไข้ระยะสุดท้าย

แพทย์เผย "วิธีไอโอ" รักษามะเร็งแบบใหม่ มุ่งเป้ากระตุ้นภูมิร่างกายสู้มะเร็ง ช่วยชีวิตยาวนานกว่าวิธีอื่น20 % เหมาะรักษาในกลุ่มคนไข้ระยะสุดท้าย

รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง หรือ Immuno-Oncology(IO)”ว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นของโลก โดยองค์การอนามัยโลกเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงถึง 10 ล้านคนทุกปี และคาดว่าในปี 2563 จะมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 16 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยพบว่ามะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 มาถึง 10 ปี โดยมะเร็งที่พบมากที่สุด 4 อันดับ ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการรักษาในปัจจุบันมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด เคมีบำบัด และฉายรังสี แต่พบว่าวิธีเหล่านี้ยังมีผลข้างเคียงมาก อีกทั้งผู้ป่วยในระยะแพร่กระจายหรือระยะแพร่เชื้อส่วนมากจะเสียชีวิตหลังจากตรวจพบโรคไม่เกิน 6 เดือน

รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า ในปี 2554 เป็นต้นมา วงการแพทย์ได้ค้นพบวิธีการรักษาแนวใหม่ โดยการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ IO ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งแนวใหม่ที่ตัวยาจะไม่ไปกำจัดมะเร็งโดยตรง แต่มุ่งเป้าไปที่การสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ลุกขึ้นมาต่อต้านโรคมะเร็ง และจากงานวิจัยพบว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้สารเคมีบำบัด และทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตยาวนานกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นถึง 20 % ซึ่งยากลุ่มIOจะใช้รักษาในกลุ่มคนไข้มะเร็งระยะแพร่กระจายหรือระยะสุดท้ายที่ผู้ป่วยมีโอกาสรอดยาก

ตัวยานี้ไม่ไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงเหมือนวิธีการรักษาอื่นแต่จะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ถูกเซลล์มะเร็งเบรกให้ไม่สามารถทำงานต่อได้ คือ 1. เอพี เซลล์ (AP Cell)  2.T Cell(ทีเซลล์) และ 3.NK Cell (เอ็นเคเซลล์) ให้สามารถลุกขึ้นมาทำลายเซลล์มะเร็งได้  ซึ่งวิธีนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและยุโรปกว่า 47 ประเทศ ในผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งนี้ พบว่ามะเร็งที่ได้ผลดีที่สุด คือ มะเร็งปอด

รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2554 มีการคิดค้นตัวยากลุ่ม IOมาใช้อย่างต่อเนื่อง และทดลองในผู้ป่วยมะเร็ง 15 ชนิด จึงมีตัวยาหลายตัว และที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไทยแล้วมีด้วยกัน 3 ตัว คือ 1.Ipilimumab ใช้ยับยั้งมะเร็งสีผิวหนัง ฉีดทุก 2-4 สัปดาห์  2.Pembrolizumab เบรกเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ให้เติบโต ฉีดในปริมาณ 200 มิลลิกรัม ทุก 3 สัปดาห์ และ 3.Nivolumab ใช้ยับยั้งมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฉีด 2-3 สัปดาห์ ปริมาณตามน้ำหนัก ซึ่งโรงพยาบาลที่มีศูนย์รักษามะเร็งสามารถสั่งไปใช้ได้แล้ว เนื่องจากเป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาและผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาประเภทอื่น แต่ก็มีผลข้างเคียงหากมีการให้ยาไม่ถูกต้องหรือปริมาณที่สูงเกินไปจะทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคพุ่มพวงได้ ซึ่งที่ผ่านมาในการรักษาพบว่าในคนไข้ 100 คน จะพบได้ประมาณ 1-5คน  แต่ปัจจุบันราคายาชนิดนี้ยังค่อนข้างสูงมากและจะต้องให้ยาไปจนกว่าเชื้อมะเร็งจะหมด

รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าจะในปัจจุบันจะมีการพัฒนาทางการแพทย์ในวิธีการรักษามะเร็ง แต่ก็ขอให้ปะชาชนชนปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยง ซึ่งก็ทำได้ด้วยวิธีง่าย คือ 6 อ. 1.อาหาร กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ 2.อากาศ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศไม่ถ่ายเท หรือมีมลภาวะ 3.เอนกาย พักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน 4.อารมณ์ ทำอารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ 5. อุจจาระ ขับถ่ายให้เป็นเวลา และ 6.ออกกำลังกายสม่ำสมอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง