อนาคต 'กริพเพน' หลังตกเมื่องานวันเด็ก

อนาคต 'กริพเพน' หลังตกเมื่องานวันเด็ก

อนาคต "เครื่องบินขับไล่ ยาส 39 ซี/ดี กริพเพน" หลังตกเมื่องานวันเด็ก

กองทัพอากาศไทย ยังรอคำตอบจากประเทศสวีเดน ถึงสาเหตุเครื่องบินขับไล่ ยาส 39 ซี/ดี กริพเพน ( JAS 39C/D Gripen)ประสบอุบัติเหตุ ขณะบินโชว์ในงานวันเด็กแห่งชาติ ที่กองบิน 56 อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ทำให้เครื่องระเบิด ไฟลุกไหม้เสียหายทั้งลำ และนักบินเสียชีวิต 1 นาย เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังค้นพบ อุปกรณ์ “เรคคอร์ด” CSMU ติดตั้งบนเครื่องบินกริพเพนลำดังกล่าว

โดย พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำ อุปกรณ์ “เรคคอร์ด” CSMU ไปส่งให้ถึงมือสวีเดนและคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการ‘ถอดรหัส’ ค้นหาสาเหตุ และลักษณะของกริพเพนว่าอยู่ในสภาพใดก่อนเกิดอุบัติเหตุ ควบคู่กับการวิเคราะห์ทางด้านการบินตามหลักสากล ทั้งหลักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ใน 4 ด้าน 1.นักบิน 2. ตัวเครื่องบิน 3.สภาพแวดล้อม 4.การจัดการ

ทั้งนี้ กริพเพน ลำที่ประสบอุบัติเหตุ ไม่ใช่กริพเพนหนึ่งในสามลำ ที่เคยถูกฟ้าผ่าบริเวณปีกในระหว่างสวีเดนนำเครื่องมาส่งมอบให้กองทัพอากาศไทย เมื่อปี 2556 และการรับมอบในครั้งนั้น ได้รับการตรวจสอบอย่างดี ทุกวันนี้กริพเพนทั้ง 3 ลำ ยังทำหน้าที่ได้ปกติเหมือนเช่นลำอื่นๆ

ในขณะกริพเพน ที่ประจำการกองบิน 7 จ.สุราษฎธานี ได้บินขึ้นฟ้าปฏิบัติภารกิจเป็นครั้งแรก บริเวณเหนืออ่าวไทยและสามารถทำภารกิจได้ลุล่วง เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังมีคำสั่งจากกองทัพอากาศให้งดบินชั่วคราว โดยแหล่งข่าวจากกองทัพอากาศ ยืนยันว่า “แม้จะเสียกริพเพนไป 1 ลำ ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร เพราะโครงสร้างและขีดความสามารถทั้งหมดของกองทัพอากาศยังคงอยู่เหมือนเดิม และกริพเพนที่เหลือ 11 ลำ มีศักยภาพเพียงพอในการปฏิบัติงาน”

เนื่องจากกริพเพนฝูงหนึ่ง ประกอบด้วย 18 ลำ กองทัพอากาศจัดซื้อ 12 ลำ ในสมัย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็น ผบ.ทอ. ในวงเงิน 34,400 ล้านบาท แบ่งการจัดซื้อเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง จำนวน 6 ลำ วงเงิน 19,000 ล้านบาท โครงการระยะที่ 2 จำนวน 6 ลำ วงเงิน 15,400 ล้านบาท

การจัดซื้อในครั้งนั้น กองทัพอากาศมีข้อตกลงร่วมกับสวีเดน ในด้านความช่วยเหลือ การฝึกอบรม การส่งกำลังบำรุง การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่ปรากฎค่าประกันเครื่อง เนื่องจากเป็นเครื่องบินรบ ซึ่งจะแตกต่างกับเครื่องบินพาณิชย์ รวมถึงการจัดซื้อ เป็นการซื้อขาดอยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกองทัพอากาศไทยเท่านั้น

แม้กองทัพอากาศ จะยืนยันว่า กริพเพน ที่มีอยู่เพียงพอ แต่ก็อยู่ในภารกิจที่จำกัดเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด จึงมีแผนจัดหาเพิ่มเติมในอนาคตให้ครบ 1 ฝูง เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่ากองทัพอากาศมีความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามอย่างแท้จริง และพัฒนาศักยภาพของอากาศยานรบของกองทัพอากาศอีกด้วย

แต่ปัจจัยสำคัญ ขึ้นอยู่กับงบประมาณของประเทศ ถือเป็นโจทย์ที่กองทัพอากาศ ต้องบริหารจัดการภายใต้ความท้าทายของงบประมาณในสภาพจำกัด รวมถึงรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม และแรงผลักดันของประชาชน จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กองทัพอากาศที่แข็งแรง สิ่งนี้คือเกียรติภูมิและศักดิ์ศรี

เครื่องบินขับไล่-โจมตีอเนกประสงค์แบบ กริพเพน ออกแบบและผลิตขึ้นโดยบริษัทอากาศยานเก่าแก่ของสวีเดน นั่นคือ บริษัท SAAB เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบเก่า J35 Darken และ AJS 37 Viggen ของกองทัพอากาศสวีเดน JAS-39 Gripen เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2530 เป็นวันครบรอบ 50 ปีของบริษัท SAAB และขึ้นทำการบินทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2531 เริ่มเข้าประจำการในกองทัพอากาศสวีเดนในปี 2540 ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในสมรรถนะอันโดดเด่นโดยกองทัพอากาศทั่วโลก

เนื่องจากเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ยุคที่ 4.5 (4.5 Generation Fighter) มีความอ่อนตัวและคล่องตัว ใช้อาวุธสมัยใหม่ได้แม่นยำสูง และมีพิสัยการยิงไกล ปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายรูปแบบในลักษณะ Multi-Role เมื่อประกอบเข้ากับระบบบัญชาการและควบคุม (Command and Control System : C2) ที่เปรียบเสมือนมีกำลังน้อยแต่เหมือนมีกำลังมาก (System of Systems) ในลักษณะการทวีกำลัง (Force Multiplier)

รวมถึงมีสมรรถนะสูง ใช้ระบบอาวุธได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งระบบอาวุธที่ผลิตจากสหรัฐและสหภาพยุโรป รวมทั้งแผนการจัดหาเพิ่มเติมโจมตีเรือผิวน้ำ RB S-15 มีสมรรถนะและเทคโนโลยีทันสมัยและสามารถพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต ทั้งมีความเหมาะสมตามสภาพภูมิยุทธศาสตร์ในการวางกำลังในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างเหล่าทัพในการป้องกันประเทศ

วิ่งขึ้นได้จากรันเวย์ยาว 800 เมตร และลงจอดบนถนนหลวงที่มีความยาวเพียง 500 เมตร ต้องการเจ้าหน้าที่สนับสนุนภาคพื้นดินเพียงแค่ 5 คน มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการที่ต่ำกว่าเครื่องบินแบบอื่นๆ สามารถใช้อาวุธได้หลากหลายมีความเร็วสูงสุด 1.4 มัค ที่ระดับน้ำทะเล และ 2 มัคที่ความสูงที่สูงกว่า

ระหว่างปฏิบัติภารกิจเป็นหมู่ กริพเพน สามารถเปิดเรดาร์เพียงเครื่องเดียวเพื่อลดการตรวจจับ แต่สามารถส่งข้อมูลของเป้าหมายให้เครื่องบินอื่นๆ ในหมู่บินได้ เครื่องบินที่ไม่ได้เปิดเรดาร์จึงสามารถเข้าโจมตีได้โดยที่ถูกตรวจจับได้ยากและข้าศึกไม่รู้ตัว ระบบนี้สวีเดนเป็นชาติแรกที่พัฒนา คล้ายกับระบบที่ติดตั้งในเครื่องบิน เอฟ-22 ของสหรัฐ