รถไฟบรรทุกยางตกราง เสียหายกว่า 10 ล้าน ที่อุดรธานี

รถไฟบรรทุกยางตกราง เสียหายกว่า 10 ล้าน ที่อุดรธานี

เกิดอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสินค้า ยางพาราแท่ง ขาล่อง สายอุดรธานี-มาบตาพุด ตกรางก่อนเข้าสถานีหนองตะไก้

ต.โนนสูง อ.เมือง ไม่มีใครรับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ทำให้ขบวนรถไฟฟรี จากกรุงเทพ-หนองคาย และรถดีเซลรางท้องถิ่น นครราชสีมา-หนอคาย ไม่สามารถเดินทางผ่านสถานีได้ ต้องให้รถไปจอดหลีกอยู่สถานีรถไฟกุมภวาปี เพื่อรอจัดรถบัสไปรับผู้โดยสารส่งปลายทาง

 ต่อมานายปราโมทย์ ธัญญพืช ปลัด จ.อุดรธานี เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยมีนายองอาจ เขาชัยมหา หน.แขวงบำรุงทางรถไฟอุดรธานี,นายสถานีรถไฟ,ฝ่ายอาณัติสัญญา,นายตรวจทาง และฝ่ายวิศวกรรม เข้าตรวจสอบก่อนหน้าพบว่า หัวรถจักรรุ่นใหม่ซื้อจากประเทศจีน หมายเลข 5117 จอดอยู่บนรางหลีกหน้าสถานีรถไฟ มีโบกี้บรรทุก(บกท.) 2 โบกี้ บรรทุกคอนเทเนอร์ 2 ตู้ ห่างไปประมาณ 100 เมตร พบโบกี้บรรทุกจำนวนมาก ตกลงจากรางหลีก ตู้คอนเทนเนอร์กระจัดกระจาย รางได้รับความเสียหาย และมุมของโบกี้บรรทุก 1 โบกี้ ล้ำเข้ามาในรางหลักราว 20 ซม. ทำให้รถไฟขบวนอื่นผ่านไม่ได้

 นายปราโมทย์ ธัญญพืช ปลัด จ.อุดรธานี รับคำชี้แจงว่า รถไฟบรรทุกสินค้ามีนายคำนึง คงเอียด เป็น พขร. ขนสินค้าเป็นยางพาราแท่ง บรรทุกในตู้คอนเทเนอร์ 15 โบกี้บรรทุก(บกท.) หรือ 30 คอนเทเนอร์ ๆ ละ 20 ตันเศษ เดินทางจากสถานีรถไฟอุดรธานี ไปยังท่าเรือมาบตาพุด เมื่อมาถึงสถานีหนองตะไก้ จะต้องสับรางเข้ารางหลีก ให้รถเร็ว กทม.-หนองคาย ผ่านไปก่อน รับแจ้งจาก พขร.ว่าให้ความเร็ว 60 กม./ชม. แต่เมื่อเข้ารางหลีกบังคับรถไม่ได้ ซึ่งจะต้องให้กรรมการตรวจสอบ“กล่องดำ”ในหัวรถจักรอีกครั้ง

 อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้รางรถไฟเสียหาย 147 เมตร,ประแจ 1 ชุด,หมอนปูน 280 ท่อน ส่วนโบกี้บรรทุกตกราง 11 โบกี้ ที่เหลือ 4 โบกี้ แยกไว้ที่สถานีหนองขอนกว้าง และลากกลับไปสถานีรถไฟอุดรธานี ความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท ขณะในส่วนยางพาราแท่งที่บรรทุกมาเป็นของ บ.กว่างเขิงรับเบอร์ จก. และ บ.วงศ์บัณฑิต จก. เกิดอุบัติเหตุ 22 คอนเทเนอร์ น้ำหนักสินค้าคอนเทเนอร์ละ 20 ตัน มูลค่าคอนเทเนอร์ละ 2 ล้านบาท

 นายปราโมทย์ ธัญญพืช ปลัด จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี มาติดตามดูแลในเรื่องนี้ เบื้องต้นพบว่ายังมีส่วนรถโบกี้รถบรรทุก กีดขวางการเดินรถไฟอยู่เล็กน้อย จึงขอความร่วมมือไปยังหน่วยทหารพัฒนาภาค 2 ส่งเครื่องจักรมาดันหรือยกออก แต่เพราะน้ำหนักโบกี้มีมาก และโบกี้ทับกันอยู่จึงดันออกไม่ได้ จึงจะขนสินค้าบางส่วนออกมาก่อน ให้สามารถขยับส่วนนี้ออก รถไฟช่วงเย็นนี้จะวิ่งได้ จากนั้นเครื่องจักรชุดใหญ่มาถึง เพื่อรื้อย้ายซากและซ่อมทางรถไฟให้เหมือนเดิม คาดว่จะใช้เวลาซ่อมรางที่เสียหายประมาณ 2 วัน.......