‘ทีเฟ็กซ์’ เดือนม.ค.เทรดคึก

‘ทีเฟ็กซ์’ เดือนม.ค.เทรดคึก

"ทีเฟ็กซ์" เดือนม.ค.เทรดคึก ปริมาณสัญญาเฉลี่ยทะลุ "3.2 แสนสัญญา"

ภาพรวมการซื้อขายตลาดทีเฟ็กซ์เดือนม.ค. คึกคัก ปริมาณสัญญาเฉลี่ยทะลุ 3.2 แสนสัญญา ด้านบล.กสิกรไทยประเมินตลาดเหวี่ยงกรอบแคบ หันจับหุ้นกู้อนุพันธ์ ใช้เครือข่าย บลจ.เจาะลูกค้าสถาบัน

ความเคลื่อนไหวในตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าจากต้นปีที่ผ่านมา ปรับตัวคึกคักขึ้นต่อเนื่อง โดย บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวจากต้นเดือนม.ค.ถึงวันที่ 26 ม.ค. มีปริมาณสัญญาทั้งสิ้น 5,541,183 สัญญา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4,262,556 สัญญา มีสถานะคงค้าง 1,933,252 สัญญา เพิ่มขึ้นจากปีก่อนก่อนที่1,082,818 สัญญา โดยมีปริมาณสัญญาเฉลี่ยทั้งสิ้น 325,951.94 สัญญา เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 213,127.80 สัญญา

นายสุทธิสิทธิ์ แจ่มดี รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวว่า  แนวโน้มตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในช่วงที่ผ่านมายังมีทิศทางที่เติบโตได้ดี โดยเติบโตในด้านผลตอบแทนมากกว่าตลาดหุ้นถึง 1 เท่าตัว แต่ในระยะถัดไปตลาดหุ้นเริ่มมีขอบจำกัดการปรับขึ้น ทำให้บริษัทต้องมีเน้นการทำตลาดด้านหุ้นกู้อนุพันธ์มากขึ้น

“ในปีนี้บริษัทจะเน้นการให้บริการด้านหุ้นกู้อนุพันธ์มากขึ้น เพราะหากพิจารณาในตลาดหุ้น ซึ่งปรับตัวมาค่อนข้างมาก และเกินว่าที่บล.กสิกรไทยได้ให้ดัชนีที่เหมาะสมไว้ อาจจะขยับได้อีกไม่มากนัก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับตลาดฟิวเจอร์ส อีกทั้งทิศทางดอกเบี้ยที่จะขยับตัวขึ้นสูงยังต้องใช้เวลา ทำให้ผู้ที่ต้องการหาผลตอบแทนที่สม่ำเสมอนั้นจะหันมาตลาดหุ้นกู้อนุพันธ์มากขึ้น”

ในปีที่ผ่านมา การออกหุ้นกู้อนุพันธ์ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักลงทุน โดยมีมูลค่าการออกหลายพันล้านบาท ซึ่งในปีนี้มองว่าทิศทางการเติบโตจะมีอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นของบริษัทคือ มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่มีขนาดใหญ่และช่วยในการสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่

ในปีนี้บล.มีแผนที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าสถาบันมากขึ้นเพราะจะมีการทำรายการที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวต้องการผลตอบแทนที่มีความสม่ำเสมอและสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากโดยจะเน้นการออกผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในลูกค้ากลุ่มบริษัทประกันที่ต้องการผลตอบแทนในรูปที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก 

สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้น ยังเน้นการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันบริษัทจะมี 84 ซีรี่ย์ โดยมีฝั่งที่มองว่าราคาจะขึ้น (CALL) 72 หลักทรัพย์ และฝั่งที่มองว่าราคาจะลง (PUT) เพียง 12 หลักทรัพย์ แม้ว่าฝั่งที่มองว่าตลาดจะปรับตัวลดลงมีเพียง 12 หลักทรัพย์จะมีอยู่จำนวนที่ค่อนข้างน้อย

สาเหตุเกิดการเข้าใกล้ช่วงการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทำให้การยืมหุ้นจากบลจ.อาจทำได้ไม่เต็มที่ แต่เชื่อว่าจะสามารถผลิตออกมาทันความต้องการของนักลงทุน เพราะในระยะสั้นตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้ทันตามความต้องการ โดยจุดเด่นของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของบริษัทนั้น คือการมีค่าเสื่อมเวลาที่ต่ำ ทำให้เป็นโอกาสนักลงทุนสามารถถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้ยาวนานขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของบล.กสิกรไทย ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 145% โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย มีรายได้ 70% จากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และ 10% มาจากด้านวาณิชธนกิจ