คุยกับ Ookbee U ว่าด้วยอนาคตของโลกคอนเทนท์

คุยกับ Ookbee U ว่าด้วยอนาคตของโลกคอนเทนท์

ดีลสะท้านวงการเมื่อเทนเซ็นต์ร่วมทุนพัฒนา Ookbee U แพลตฟอร์ม UGC ที่ผู้ใช้สร้างสรรค์เอง นี่คืออนาคตของโลกแห่งคอนเทนท์?

โลกแห่งการสร้างคอนเทนท์ (เนื้อหา) เปลี่ยนมานานแล้ว ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ยังจำได้ไหม ปกของนิตยสาร Times ฉบับเดือนธันวาคม 2006 ขึ้นปกบุคคลแห่งปีคือ YOU! คือคนทุกคนที่มีอินเตอร์เน็ทอยู่ในมือ เป็นผู้ผลิตเนื้อหาของตัวเองแบบไม่ต้องรอสื่อไหนๆ และควบคุมโลกของตัวเองได้ดั่งใจ

การฟันธงครั้งนั้นของไทมส์ใช้เวลาเปลี่ยนผ่านมาหลายรูปแบบแต่อยู่ในแนวโน้มที่ผู้ทรงอิทธิพลและผู้ควบคุมข่าวสารนั้นกลายมาเป็นผู้บริโภคเองนั่นแหละ พวกเราได้เห็น ได้รับรู้ ได้เสพเนื้อหาที่ผลิตโดยผู้บริโภคกันเองมาหลายปีแล้ว

อนาคตของโลกคอนเทนท์

นอกจากพฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไปแล้ว หลักฐานที่ตอกย้ำความจริงนี้ก็คือดีลสะเทือนวงการสตาร์ทอัพไทยเมื่อตอนต้นปี ที่บริษัท เทนเซ็นต์ (Tencent Holdings) ร่วมลงทุนกับบริษัท อุ๊คบี (Ookbee) มูลค่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาบริษัทร่วมทุนใหม่ Ookbee U ซึ่งดูแลแพลตฟอร์มประเภทให้ผู้ใช้ร่วมสร้างสรรค์ หรือ UGC - User Generated Content เม็ดเงินราว 681 ล้านบาทจะหมุนเวียนเพื่อพัฒนาการสร้างมูลค่าจากธุรกิจที่มีเนื้อหาที่ผู้เสพเป็นผู้ผลิตขึ้นมา เฉพาะในไทยซึ่งเตรียมพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับโลกทั้งใบ อนาคตของการผลิตเนื้อหาจะโน้มไปสู่กลุ่ม UGC มิใช่ PGC (Professional Generated Content - คอนเทนท์ที่มืออาชีพเป็นผู้สร้างสรรค์) อีกต่อไป?

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO ของอุ๊คบีคิดว่าแนวโน้มในอนาคตก็ยังคงมีคอนเทนท์ทั้ง 2 รูปแบบปนกัน ทั้ง UGC และ PGC

“อุ๊คบีเกิดมาจากการที่เรานำนิตยสารและหนังสือที่เป็นเล่มมาเปลี่ยนเป็นดิจิทัลขาย แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนไป เราก็จะเห็นว่ามีคนเริ่มอัพโหลดหนังสือหรือนิยายออกมาขายโดยที่ไม่ต้องเป็นเล่มกระดาษมาก่อน ขายเป็นตอนๆ ไม่ต้องรอให้เขียนจนจบ เราจึงเริ่มเห็นเทรนด์ และมองว่าในอนาคตคอนเทนท์ก็น่าจะมาจากยูสเซอร์เป็นหลัก”

อุ๊คบีเห็นทิศทางการเติบโตของคอนเทนท์ฝั่ง UGC ว่าจะมีมากกว่า “ในแง่ปริมาณนะครับ”

เพราะไม่ว่าใครก็เขียนได้ และมีผู้เสพในตลาดเฉพาะมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแชร์สร้างกระแสให้คนธรรมดากลายเป็นคนมีชื่อเสียงขึ้นมา ณัฐวุฒิจึงมองว่าแม้ต้นกำเนิดของงานจะมาจากผู้บริโภค

“แต่พอดังขึ้นมาก็กลายเป็นมืออาชีพได้ ทำให้คนมีโอกาสมากขึ้นที่จะมาเป็นมืออาชีพ มีตัวเลือกดีๆ มากขึ้น จากเดิมที่จำกัดว่าต้องส่งงานผ่านสำนักพิมพ์ แล้วคนที่ตัดสินว่างานชิ้นนี้จะได้ตีพิมพ์หรือไม่ได้ตีพิมพ์ ก็เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งอาจตัดสินใจถูกหรือผิดก็ได้ แต่อันนี้คนอ่านเป็นคนตัดสินใจเอง ถ้าอันนี้ดัง พิมพ์ออกมาก็มีคนซื้อ เพราะมีคนอ่านอยู่แล้วบนโลกออนไลน์ อุ๊คบีฝั่งที่เป็น UGC เริ่มมาจากตรงนั้น”

อย่างไรก็ตาม ณัฐวุฒิไม่คิดว่า UGC จะเข้ามาทำลายที่ทางของ PGC เพราะคนยังต้องการคอนเทนท์คุณภาพที่มืออาชีพเป็นผู้ผลิตอยู่ดี

“โลกของ Professional Generated Content ก็ไม่หายไปไหน ไม่ใช่ว่าพอมียูทูปแล้วหนังฮอลลีวู้ดจะหายไป เป็นคนละเรื่องกัน งานโปรก็คืองานโปร ในขณะที่งานโปรต้องโตต่อ ฝั่ง UGC ก็โตขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เราอยู่ในโลกที่วันธรรมดาเราดูคลิปในมือถือ เสาร์อาทิตย์เราไปซื้อตั๋วดูหนังดูในโรง เราก็ยังมีศิลปินอาชีพอยู่ดี หลายคนก็เกิดมาจากยูทูป แพลตฟอร์ม UGC ทำให้คนเข้าถึงโอกาส มีชื่อเสียง และขยับมาสู่การเป็นมืออาชีพอยู่ดี ฉะนั้น เราไม่ตัดสินว่าอนาคตคือ UGC อุ๊คบีไม่มี PGC แล้ว ไม่ใช่ มันคือโลกที่ทุกคนต้องปรับตัวให้กลมกลืนกัน”

เค้กก้อนใหญ่ที่ถูกซอยย่อย

จากแพลตฟอร์มในเครือของ Ookbee U ได้แก่ Ookbee Comics, Storylog, Fictionlog, Thunwalai และ Funjai ซึ่งครอบคลุมเนื้อหากลุ่มบันเทิงในทุกสื่อทั้งการ์ตูน บันทึก นิยาย และดนตรี เราได้ไปคุยกับ Fungjai และ Storylog (ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับ Fictionlog) ถึงแนวโน้มนี้

ศรันย์ ภิญญรัตน์ CEO ของ Fungjai ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการ Music Streaming ของดนตรีนอกกระแส เขามองว่านี่คือวิสัยทัศน์ของทาง Ookbee U “อนาคตของโลกคอนเทนท์คือ UGC นี่คือเทรนด์ของโลก Ookbee U จึงอยากสร้างคอมมูนิตี้ของคอนเทนท์ในหลายรูปแบบ การ์ตูน งานเขียน นิยาย และดนตรี”

ส่วน ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้ก่อตั้งร่วมและ Community Manager ของฟังใจ เห็นว่ากระแสนี้มีมานานแล้ว “อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดประชาธิปไตยทางดีมานด์ ทำให้กลุ่มผู้มีซัพพลายและกลุ่มที่มีดีมานด์จับตัวกันง่ายขึ้น เห็นกันมากขึ้น รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร นิชมาร์เก็ตจึงเกิดมากขึ้น”

ตลาดเฉพาะ (Niche Market) ก็เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้บริโภคที่อยากเสพเนื้อหาเฉพาะทางที่ตรงกับความสนใจ จึงสร้างขึ้นมาเอง เพราะรู้ว่าตนไม่ใช่คนเดียวที่สนใจ และอินเทอร์เน็ตก็ทำให้ยิ่งรู้ว่าตลาดนิชนั้นมีมากกว่าที่คิด

ศรันย์เชื่อว่าในอนาคตจะไม่มีคำว่าแมสอีกต่อไป

“แต่จะเป็น many niche ที่รวมกันเป็นแมส ทุกคนสามารถมีรสนิยมเป็นของตัวเอง และมีคอนเทนท์ที่ตอบความต้องการของตัวเองได้ ซึ่งในซีนของดนตรีก็เริ่มเกิดแล้ว จากเดิมที่ทุกคนฟังศิลปินสักคนหนึ่งทั่วประเทศ ขายได้เป็นล้านตลับ สิ่งนั้นจะถูกทำลายลง ประเภทของรสนิยมถูกซอยย่อยลงไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปก็จะเกิดกลุ่มผู้ฟังที่เสพเยอะๆ จนลุกขึ้นมาทำของตัวเอง UGC แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็จะเกิด เปลี่ยนพวกเขาจาก ‘ผู้บริโภค’ ให้เป็น ‘ผู้สร้างสรรค์’ คอนเทนท์ก็จะเยอะขึ้น กระจายความหลากหลายขึ้นไปอีก”

เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ CEO ผู้ก่อตั้ง Stotylog และ Fictionlog ซึ่งเขาเห็นกระแสตรงกันกับอุ๊คบีว่าคอนเทนท์ในโลกออนไลน์ 2 ใน 3 นั้นคือ UGC สร้างขึ้นจากผู้ใช้นั่นเอง

“ผมว่าตอนนี้เป็นยุคของ UGC ไปแล้ว เป็นทุกอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่การเขียน เมื่อก่อนคนจะมีงานเขียนได้ก็ต้องเข้าสำนักพิมพ์ ตอนนี้เผยแพร่เองแล้ว หรือต้องออกทีวีก่อนจึงจะดัง ตอนนี้แค่ไลฟ์ออนไลน์ ก็มีคนดูเป็นหมื่นเป็นแสน มันเป็นยุคที่เป็นแบบนั้นไปแล้ว ฉะนั้น เราก็ต้องขยับให้ไว ดีที่เรามาในทิศทางที่พุ่งขึ้นพอดี”

เมื่อปากทางของเผยแพร่เนื้อหาเปลี่ยนไปแล้ว ช่องทางมีมากมายเท่ากับ เค้กก้อนเท่าเดิมที่ถูกซอยย่อยออกไปมากมาย ส่วนแบ่งตลาดใหญ่ก็คือ UGC อันหลากหลายที่รวมกันอยู่นั่นเอง

เศรษฐกิจของธุรกิจ UGC

ในโลกอินเตอร์เน็ทที่เราหาคอนเทนท์ฟรีๆ เสพได้มากมาย รูปแบบการสร้างรายได้จากจากเนื้อหาประเภท UGC นั้น ถูกคิดขึ้นมาในโมเดลที่หลากหลายให้เหมาะกับสื่อแต่ละประเภท ยกตัวอย่างเช่น Funjai ซึ่งไม่อาจสร้างรายได้จากการขายเพลง (แม้แต่เพลงของศิลปินชื่อดังยังมีฟังฟรี นับประสาอะไรกับเพลงอินดี้) รูปแบบคอนเสิร์ตจึงเข้ามา เป็นต้น ส่วนการสนับสนุนศิลปินต่อไปนั้นเป็นเรื่องของคนฟัง

ปิยะพงษ์เสริมว่า ระบบเศรษฐกิจกำลังย้อนกลับไปหายุคโบราณที่คน 2 คนนำสิ่งของมาแลกกัน จนกระทั่งเปลี่ยนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ที่มีองค์กรใหญ่ 1 รายผลิตและขายของให้คนจำนวนมาก แต่ตอนนี้เมื่อมีช่องทางให้ความต้องการและการผลิตมาเจอกัน นิชมาร์เก็ตเกิดขึ้นแล้ว แต่พฤติกรรมคนยังไม่เปลี่ยน หมายถึงความพึงพอใจที่จะจ่ายของคนยังติดอยู่กับตลาดแมส ซึ่งผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเยอะบริษัทผู้ผลิตก็อยู่ได้ เพราะมีปริมาณผู้ซื้อจำนวนมาก ในขณะที่ตลาดนิช มีกลุ่มเป้าหมายเล็กลง ความจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมากขึ้นก็เกิดขึ้น ซึ่งปิยะพงษ์คิดว่าตอนนี้ยังอยู่ในการหาจุดสมดุลในการที่ผู้เสพจะสนับสนุนศิลปินที่เขาติดตามอย่างไร เพื่อให้ศิลปินนั้นมีรายได้สร้างงานต่อไป

นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการขายนิยายออนไลน์เช่นกัน การจะให้ผู้อ่านมาซื้อนิยาย ก็ต้องคิดในรูปแบบของการขายเป็นตอน ให้อ่านฟรีก่อนจนอยากติดตาม และขายตอนต่อไปในราคาที่ไม่สูงมาก ในขณะที่นักเขียนนิยายมืออาชีพจะได้เงินเป็นก้อนใหญ่ ผู้สร้างสรรค์นิยายแบบ UGC ก็ต้องขายตอนละไม่กี่บาท จึงต้องเขียนให้สนุกชวนติดตามจึงจะมีปริมาณผู้อ่านมากเพียงพอที่จะรวมกันเป็นก้อนใหญ่ได้

ความนิยมของผู้เสพเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้สร้างสรรค์งานแบบ UGC ต้องสร้างงานที่มีคุณภาพให้ได้ คนที่ทำงานไม่มีคุณภาพก็จะหลุดออกจากความสนใจไปเอง แต่ใช่ว่างานที่ไม่โด่งดังบนแพลตฟอร์ม UGC จะไม่มีคุณภาพเสมอไป เพราะสิ่งสำคัญคือการวางตำแหน่งเป้าหมายในตรงกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอด้วย

วิสัยทัศน์ของ Ookbee U นั้นมองไปถึง 5 ปี 10 ปี แต่ณัฐวุฒิก็รู้ดีว่าการไปถึงเป้าหมายนั้นต้องก้าวทีละก้าว แผนของเขาจึงค่อยเป็นค่อยไป แต่การันตีได้เลยว่าเมื่อทุกแพลตฟอร์มมารวมกันหมายถึงการรวมพลังเป็นคอมมูนิตี้ และจะทำให้เกิดระบบนิเวศใหม่ของแพลตฟอร์ม UGC ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทยแน่นอน