อีเพย์เม้นท์-โซเชียล-ออมนิชาแนล ดันอีคอมเมิร์ซไทยโต 20 เท่า

อีเพย์เม้นท์-โซเชียล-ออมนิชาแนล ดันอีคอมเมิร์ซไทยโต 20 เท่า

‘วงการดิจิทัล-อีคอมเมิร์ซ’ ประเมินการซื้อขายออนไลน์ในไทยมีสิทธิโต 20 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยอีโคซิสเต็มส์ที่พร้อมเข้าถึงทุกหย่อมหญ้า

ทั้งโซเชียลช่องทางสื่อสารยุคใหม่ บริการจากผู้ขายที่ตอบโจทย์ผู้ซื้อมากขึ้น ความเข้าใจ-พฤติกรรมชอปปิงผู้บริโภคยุคดิจิทัล ล้วนเป็นตัวผลักดันสำคัญให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยนับจากนี้น่าสนใจ แบบอย่ากระพริบตาเป็นอย่างยิ่ง


ขณะที่ การใช้งาน “โซเซียล” ในไทยทุกแพลตฟอร์ม มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะแพลตฟอร์มหลักๆ ที่คนหันมาใช้เป็นช่องทางค้าขาย เช่น เฟซบุ๊คในไทยมียอดผู้ใช้งานมากถึง 44 ล้านคน เกินครึ่งของจำนวนประชากรในไทยไปแล้ว เติบโตราว 7% ต่อปี ผู้ใช้อินสตาแกรม หรือไอจี เกือบ 10 ล้านคน


คาดโต 20 เท่าใน 10ปี

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้เลือกซื้อสินค้าจากราคาถูกที่สุดเสมอไป แต่คุณภาพและความน่าเชื่อถือมีส่วนสำคัญอย่างมาก คาดว่า 10 ปีจากนี้โอกาสอีคอมเมิร์ซไทยมีโอกาสเติบโตได้เป็น 20 เท่า


“ปีนี้จะเป็นอีกจุดเริ่มต้นหนึ่งจากความพร้อมอินฟราสตรักเจอร์ที่มากขึ้น โดยมีเพย์เมนท์และโลจิสติกส์เป็นตัวแปรสำคัญ กล่าวได้ว่า ถ้าอีเพย์เมนท์มา อีคอมเมิร์ซมาแน่นอน”


อย่างไรก็ดี พฤติกรรมผู้บริโภคไทยไม่ได้ตายตัว บางคนชอบเข้ามาร์เก็ตเพลส บางรายซื้อจากแบรนด์ดอทคอม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องการความรู้สึกแบบพรีเมียม เช่น กลุ่มเครื่องสำอาง


ข้อมูลโดยสำนักงานพัฒนาธุรรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระบุว่า ปี 2559 อีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่ากว่า 2.52 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 12.4% ความนิยมจับจ่ายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นคุณภาพสินค้า บริการ หรือราคา


ปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่อีคอมเมิร์ซโตเร็วที่สุดในโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีจีเอ็มวี หรือ Gross Merchandise Value สูงที่สุดในกลุ่ม คาดว่าปี 2560 มูลค่าการซื้อขายจะเพิ่มขึ้นอีก 20% ผลักดันโดยการเติบโตการใช้งานอินเทอร์เน็ตและอีเพย์เมนท์


ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว นอกเหนือจากการแข่งขันเรื่องราคาและคุณภาพ ต้องมีความเร็วในการให้ข้อมูล สินค้าและการให้บริการด้วย คนที่ต้องการแจ้งเกิดต้องเน้นเรื่องบริการที่ดี การขนส่งที่เร็ว โดนใจ เนื่องจากนักช้อปเจนเอ็มซึ่งเป็นตลาดสำคัญของอีคอมเมิร์ซมักตัดสินใจด้วยความคิดและความพึงพอใจของตัวเอง


โซเชียลคอมเมิร์ซยิ่งบูม
นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิลยู จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เทพช้อป” กล่าวว่า ปีนี้โซเชียลคอมเมิร์ซจะยิ่งบูมมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทุกรายจะหันไปพึ่งพาช่องทางการตลาด ที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม


นอกจากนี้ การใช้งานอีวอลเล็ตมาแน่นอน ทว่าผู้บริโภคยังมีความกลัว ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 กว่าจะใช้งานแพร่หลาย
เชื่อด้วยว่าผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสเจ้าใหญ่จะเทงบการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยอีกระลอก ในฐานะผู้ขาย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องเตรียมรอรับ


สำหรับ การเริ่มต้นการเข้าไปใช้มาร์เก็ตเพลสจะเป็นทางเลือกที่ดีในช่วงแรก จากนั้นหากมีแรงค่อยทำเว็บไซต์ของตัวเอง ให้พยายามไปทุกทางที่เพิ่มโอกาส


นายธรินทร์ ธนียวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการปฏิบัติการพาณิชย์ระดับภูมิภาค ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เห็นว่าแบรนด์เริ่มเข้ามาจับตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง ทุกรายเริ่มลงทุน เพิ่มโฟกัสการตลาดออนไลน์


ทั้งเป็นช่วงของการให้ความรู้ตลาดเรื่องการใช้งานอีเพย์เมนท์ รัฐบาลร่วมผลักดันกับทั้งเอสเอ็มอีและผู้บริโภคทั่วไป ส่วนเทรนด์ปีนี้คาดว่าโซเชียลคอมเมิร์ซจะยิ่งมาแรง หลายแบรนด์รวมถึงผู้ค้าทั่วไปจะหันมาใช้ มีขายของผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง


ด้านอีโคซิสเต็มส์ นอกจากการพัฒนาด้านเพย์เมนท์ โลจิสติกส์ การตลาด จะได้เห็นผู้ค้าจับกลุ่มกับผู้ค้าด้วยกันเพื่อช่วยกันขายสินค้า
พร้อมกับแนะว่า เป็นเรื่องที่ยากมากหากจะทำเว็บไซต์ขึ้นมาเอง กว่าจะทำให้แจ้งเกิดต้องลงทุนจำนวนมาก ต้องมีทีมงาน ความพร้อมให้บริการลูกค้าได้ตลอดเวลา โลจิสติกส์ การบริหารจัดการคลังสินค้า รวมถึงบริการหลังการขายที่เกี่ยวข้อง


แค่โปรโมชั่นไม่พอ
นายธนานันท์ อรุณรักษ์ติชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ตลาดค่อยๆ มีทิศทางที่ดีขึ้นด้วยเด็กยุคใหม่คุ้นเคยกับการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการซื้อสินค้าออนไลน์


นอกจากนี้ การผลักดันอีเพย์เมนท์จากรัฐบาลจะมีส่วนอย่างมาก อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ชอบขั้นตอนที่ยุ่งยาก ดังนั้นอีเพย์เมนท์และอีคอมเมิร์ซต้องง่ายไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครยอมเปลี่ยน แต่กล้าที่จะเสี่ยงกับการซื้อของผ่านช่องทางที่ไม่มีรับประกันแน่นอนอย่างแอพแชท


อย่างไรก็ดี งานสำคัญต้องทำความเข้าใจผู้ใช้ว่าอยากได้อะไร ลูกค้าคือใคร เลือกมาร์เก็ตเพลสให้เหมาะกับแต่ละกลุ่ม เรื่องประสบการณ์สำคัญกว่าการโหมโปรโมชั่น เพราะโปรโมชั่นหมดแล้วก็หมดไป สุดท้ายจะอยู่รอดหรือไปต่อได้หรือไม่ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจะเป็นตัวชี้วัด
สำหรับการทำแบรนด์ดอทคอมด้วยตัวเอง ไม่พึ่งพามาร์เก็ตเพลสต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเพื่ออะไร เพื่อการรับรู้หรือเพิ่มยอดขาย ถ้าหวังยอดขายส่วนใหญ่ไม่ค่อยรอด


จับตาออมนิชาแนล
ด้านนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยยังซื้อของออนไลน์กันน้อยมากสัดส่วนเพียง 2-3% ของการค้าปลีกทั้งหมด ดังนั้นมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทุกวันนี้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจออนไลน์เปลี่ยนเร็ว โลจิสติกส์และเพย์เมนท์ มีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ ปีนี้จะเห็นเทรนด์ออมนิชาแนล หรือการผสมผสานการขายสินค้าทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น


อย่างไรก็ดี เทรนด์การใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ อีมันนี่ อีวอลเล็ตมาแน่ รับปัจจัยบวกการเติบโตของสมาร์ทโฟน จะเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ บรรดาร้านค้า ค้าปลีกรายใหญ่ๆ ต้องเข้ามาร่วมวง ส่วนด้านเทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา


อีกทางหนึ่งรอเวลาให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเด็กรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมา คนไทยทุกวันนี้อะไรที่ล้ำเกินไปมักรอดูท่าทีก่อน อีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อีมันนี่ยังไม่เกิดคือค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมซึ่งขณะนี้ยังนับว่าแพงอยู่


นายวรวุฒิให้ความเห็นว่า การบริหารจัดการออนไลน์ไม่ใช่งานง่ายๆ ดังนั้นการเริ่มต้นควรอยู่ในมาร์เก็ตเพลสก่อน ให้ไปกับทุกเจ้า อะไรที่ทำให้ขายของได้ อย่าไปปิดกั้นโอกาสตัวเอง พยายามไปให้กว้างที่สุด หากต่อไปจะมีเว็บไซต์ของตัวเองก็ได้


แต่ทั้งนี้ ถ้าคิดทำแบรนด์ดอทคอม หากไม่เจ๋งจริง ไม่แข็งแกร่งมากๆ เงินลงทุนไม่หนา ตลาดไม่เฉพาะทาง อย่าทำเองเลย เพราะสุดท้ายต้องขึ้นมาร์เก็ตเพลสอยู่ดี การลงทุนเองคนเดียวไม่คุ้มต้องทำงานแบบอีโคซิสเต็มส์


ค้าออนไลน์กิน 15%ของค้าปลีกปี67
“นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” อีกหนึ่งกูรูอีคอมเมิร์ซในไทย เคยประเมินว่า โซเชียล คอมเมิร์ซ ปี 2560 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 20% หรือเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นล้านบาท จากยอดปี 2559 ที่อยู่ราวๆ 2 แสนล้านบาท ขณะที่ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2560 น่าจะไปแตะราวๆ 2.5 ล้านล้านบาท

ด้านข้อมูลของทีเอ็นเอส ระบุว่า ผู้ใช้อีคอมเมิร์ซชาวไทยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในกิจกรรมสื่อสารสูงสุด โดย 92% ระบุว่าใช้งานเป็นประจำทุกวัน และข้อมูลจาก Bain & Co ชี้ว่า ตลาดการค้าออนไลน์ในประเทศไทยจะคิดเป็น 15% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2567