'พันธบัตรสวิง' กดหุ้นไทย 'กิจพล ไพรไพศาลกิจ

 'พันธบัตรสวิง' กดหุ้นไทย 'กิจพล ไพรไพศาลกิจ

แม้โมเมนตัม 'เศรษฐกิจ & ตลาดหุ้น' ทั่วโลกส่งสัญญาณบวก ทว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวส่อแววเด้งเหนือ 3% หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรลลี่ตลอดปี 2560

สภาพคล่องทั่วโลกที่มีอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ตลอดปี 2559 'ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น' โดดเด่นสุดต้องยกให้ 'หุ้นไทย' ที่ขยับขึ้น 20% รองลงมาเป็นประเทศแคนนาดา และเวียดนามเฉลี่ย 17-18% เรียกว่า ปรับขึ้นสวนทางภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงอยู่ในช่วงขาลง

แน่นอนว่าหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นมีผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมา 'ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงอย่างหนัก' (ตลาดพันธบัตรมีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้น 10 เท่า) สะท้อนผ่านตัวเลขผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี จากเคยยืนระดับสูงสุด 2.1% ในช่วงต้นปี 2559 ลดลงเหลือ 1.3% ในเดือนก.ค.2559

ขณะที่ระหว่างทางก่อนหมดปี 2559 ผลตอบแทนยังตกอยู่ในลักษณะผันผวน ทำให้นักลงทุนเริ่มลังเลว่า ควรเลือกลงทุนสินทรัพย์ประเภทใดระหว่าง 'ตลาดหุ้นและพันธบัตร' ความผันผวนที่ว่า เริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.2559 ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 โดยผลตอบแทนพันธบัตรก่อนการเลือกตั้งยืนระดับ 1.8%

เมื่อชัยชนะตกเป็นของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ผลตอบแทนพันธบัตรขยับตัวมายืน 2.3-2.4% ก่อนจะปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 2.6% หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 0.50-0.75% เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2559

ทว่าจากนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ บวกกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอย่างน้อยอีก 2-3 ครั้งตลอดปี 2560 ตลาดหุ้นไทยได้จะรับแรงกระเพื่อมจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างชาติมากน้อยเพียงใด 'กรุงเทพ BizWeek' มีคำตอบ...

'กิจพล ไพรไพศาลกิจ' ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) วิเคราะห์ทรงตลาดหุ้นไทยตลอดปี 2560 ว่า หากพิจารณาจากโมเมนตัมเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงเมืองไทยจะพบว่า มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า นำทีมโดยเศรษฐกิจพี่ใหญ่สหรัฐอเมริกา สะท้อนผ่านการปรับดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา

ฉะนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 คงยังไม่มีเรื่องน่ากังวลโมเมนตัมยังอยู่ใน 'เกณฑ์บวก' ความกังวลเรื่องปรับดอกเบี้ยนโยบายรอบต่อไปยังคงไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ แม้ระยะสั้นจะมีความเสี่ยงเรื่อง 'ผลตอบแทนพันธบัตรสวิงตัวเชิงบวก' ก็ตาม

แต่ความน่ากังวลจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนหลัง เพราะหากเฟดมีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 75 สตางค์ตลอดปี 2560 นั่นหมายความว่า ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี จะขึ้นไปยืนเหนือ 3%

ฉะนั้นหากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เติบโตดีเพียงพอที่จะผลักดันผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย ขณะที่ราคาหุ้นอยู่ในจุดที่แพงเกินไปก็อาจมี 'แรงขายทำกำไรออกมาอย่างหนัก' ในช่วงครึ่งปีหลัง โดย 'ฟันด์โฟลว์' อาจไหลเงินออกจากตลาดเกิดใหม่กลับสู่สหรัฐก็เป็นได้

หากสถานการณ์เป็นจริงเช่นนั้น นักลงทุนทั่วโลกอาจต้อง 'ปรับพอร์ตฟอลิโอใหม่' เพราะเมื่อมีอะไรผิดไปจากที่คาดการณ์ นักลงทุนจำเป็นต้องปรับมุมมองการลงทุนใหม่ ยกตัวอย่าง ช่วง 'โดนัลด์ ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นอเมริกาปรับขึ้นทันที หลังทุกคนคิดว่านโยบายของทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกขายหุ้นจากตลาดเกิดใหม่ เพื่อถือครองหุ้นสหรัฐมากขึ้น

เช่นเดียวกับช่วงที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นรวดเร็ว ทำให้ตลาดเงินปั่นป่วนเล็กน้อย เพราะนักลงทุนไม่รีบร้อนซื้อพันธบัตร ตราบใดที่อัตราผลตอบแทนยังไม่ขึ้นไปแตะระดับ 3% ตามที่เหล่ากูรูคาดการณ์ ทำให้เม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลออกจากพันธบัตรกลับสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนจึงมีความพยายามถือพันธบัตรอายุไม่เกิน 2 ปี เพราะถ้าถือพันธบัตรอายุยาวเวลาเจอการเปลี่ยนแปลงราคาพันธบัตรจะสวิงตัวมาก

เขา ยืนยันว่า แม้ตลาดหุ้นจะมีความเสี่ยงระยะสั้น จากความผันผวนของผลตอบแทนพันธบัตร จนเป็นเหตุให้ฟันด์โฟลว์ไหลเงินออกจากตลาดภูมิภาคกลับสู่ตลาดสหรัฐ แต่ยังคงมีมุมมองการลงทุนตลาดหุ้นอยู่ใน “เกณฑ์ดี” เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ กูรูตลาดหุ้น ย้ำ

สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐปี 2560 ที่อาจอยู่ระดับ 2.7-3% เทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ 1.9% ซึ่งเป็นเอฟเฟคจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' เพียงแต่นักลงทุนต้องใจเย็นๆ ด้วยการทยอยลงทุน

'ดัชนีปี 2560 อาจวิ่งอยู่ในช่วง 1,450-1,640 จุด จุดสูงสุดมีโอกาสเกิดในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เพราะเป็นช่วงที่โมเมนตัมของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง'

กูรูแห่งบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มีความเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ คงไม่พยายามที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันสองครั้งภายในระยะเวลา 45 วัน แต่อาจบาลานซ์การขึ้นดอกเบี้ยตลอดปีมากกว่า เพราะหากทำเช่นนั้นจะกลายเป็นการส่งสัญญาณไปยังตลาดเงินทันทีว่า เฟดกำลังกังวลเรื่องอะไร กลัวเรื่องเงินเฟ้อ หรือต้องการเบรกความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

จากการวิเคราะห์ตัวเลขเงินเฟ้อประจำปี 2560 พบว่า เงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาและไทยอาจอยู่ในระดับ 2.3% และ1.7% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 1.3% และ 0.2% ตามลำดับ หลังมีแนวโน้มว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายตัวจะปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ ยาง และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น ทว่าภาวะเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 2.เศรษฐกิจฟื้นทำให้อุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกัน

'เฟดขึ้นดอกเบี้ยก่อนหมดปี 2559 ถือเป็นการส่งสัญญาณความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เพราะถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยตลาดจะตีความว่า เฟดมองเศรษฐกิจอ่อนแอ หรือถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะเกิดการตีความผิดได้ การขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่เรื่องแย่ตรงข้ามกับเป็นเรื่องดี แต่เมื่อขึ้นไปถึงระดับหนึ่งแล้วจะเกิดอุปสรรค เช่น ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น'

พลังงาน-ปิโตรเคมี 'เด่นสุด' 

ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) บอกว่า 'กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์' จะมีความโดดเด่นสุดในปี 2560 โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานและธุรกิจปิโตรเคมี ปัจจัยหนุนสำคัญ คือ เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น

หากย้อนดูกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะพบว่า ปรับตัวแย่กว่าตลาดมา 2-3 ปีติดต่อกัน หลังราคาน้ำมันลดลง และเศรษฐกิจโลกไม่เติบโต แต่เมื่อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ และอุปสงค์อุปทานเริ่มมีความสมดุลมากขึ้น หลังเชลล์แก๊สและเชลล์ออยล์ไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนช่วงที่ผ่านมา ฉะนั้นหุ้นกลุ่มนี้ย่อมได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

เมื่อเจาะลึกถึง หุ้นเด่นประจำปี เขาตอบว่า คงต้องยกให้ หุ้น บ้านปู หรือ BANPU หลัง 2 ปีก่อนบริษัทขาดทุนจากธุรกิจถ่านหิน แต่มีกำไรในธุรกิจไฟฟ้า แต่ปีนี้ราคาเฉลี่ยถ่านหินอาจขึ้นมายืน 70-80 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับปีก่อนที่ราคาถ่านหินอยู่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ระดับราคานี้จะทำให้ธุรกิจถ่านหินของบ้านปู 'พลิกเป็นกำไรสุทธิ' แถมยังมีกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าด้วย ซึ่งการขาดทุนของธุรกิจถ่านหินในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นตัวกดดันภาพรวมขององค์กร ฉะนั้นแนะนำ 'ซื้อ' ราคาเป้าหมาย 26.00 บาท

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ราคาถ่านหินขยับขึ้น เกิดจากประเทศจีน ในฐานะผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นกำลังการผลิต 3,800 ล้านตันต่อปี ลดจำนวนวันทำงานของเหมืองถ่านหินในประเทศลงจาก 330 วัน เป็น 276 วัน บวกกับทยอยปิดเหมืองถ่านหินที่ไม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่มีการเพิ่มการใช้ถ่านหินมากขึ้น หลังบางประเทศทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และบางประเทศมองว่า พลังงานทดแทนไม่มีความเสถียรภาพ สะท้อนผ่านเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครึ่งประเทศออสเตรเลีย เมื่อหลายเดือนก่อน หลังใช้ไฟฟ้าจากกังหันลมเป็นพลังงานหลัก

เขา แจกแจงต่อว่า หุ้น ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ถือเป็นอีกตัวที่น่าสนใจ ราคาเป้าหมาย 101 บาท ความสนใจที่ว่า คือ ที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับโครงสร้างต้นทุนไปเยอะมากในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลง

โดยแหล่งผลิตที่แพงหรือไม่ทำกำไร บริษัทได้ทำการตั้งสำรองไปค่อนข้างมาก ฉะนั้นต้นทุนในปัจจุบัน ถือว่ามีระดับต่ำกว่าในอดีต แม้ราคาน้ำมันจะยืนเท่า 1-2 ปีก่อน แต่ในแง่ของกำไรสุทธิคงสูงกว่าในอดีต

'จากการคุมต้นทุนน่าจะทำให้ในปี 2560 บริษัทมีมาร์จิ้นไม่ต่ำกว่า 7 เหรียญต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนที่อาจอยู่ระดับ 5 เหรียญต่อบาร์เรล'

ส่วนฟากของ 'กลุ่มปิโตรเคมี' ชอบ หุ้น อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL เพราะในช่วงที่ผ่านมามีการขยายกำลังการผลิต 3 เท่า จาก 3 ล้านตันเป็น 10 ล้านตัน ขณะเดียวกันจะได้รับประโยชน์จากการที่สินค้าซอร์ฟคอมโมดิตี้มีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะ 2 ใน 3 ของรายได้รวมจะมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจเส้นใย เช่น ฝ้าย เป็นต้น

ในฝั่งของ 'กลุ่มโรงกลั่น' แนะนำ หุ้น บางจากปิโตรเลียม หรือ BCP เพราะปี 2560 ผลประกอบการอาจขยายตัวเฉลี่ย 12% และหากราคาน้ำมันไม่ผันผวนน่าจะสร้างผลตอบแทน จากเงินปันผลได้เฉลี่ย 5.5% จากปกติที่ทำได้ 4-5% ฉะนั้นราคาเป้าหมายคงยืนระดับ 40 บาท

'อนาคตบทบาทหุ้นพลังงานในตลาดจะปรับตัวดีขึ้น หลังหลายเจ้ามีการปรับโครงสร้างต้นทุนในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายเริ่มเข้าสู่กิจการใหม่ๆ เช่น ปตท.ที่หันมาโฟกัสนอนออยล์มากขึ้น' 

กิจพล ทิ้งท่ายว่า 'ข้อดีของตลาดหุ้นไทย' นอกจากจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคแล้วยังเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องการซื้อขายดีกว่าเพื่อนบ้าน ฉะนั้นสามารถรองรับเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเมืองไทยมี “ภูมิคุ้มกันที่ดี” สะท้อนผ่านการบริโภคภายในที่อยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสิงคโปรที่มีตัวเลขเศรษฐกิจเหวี่ยงจากเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นประเทศการค้า

ฉะนั้นเมื่อการค้าโลกไม่ดีเศรษฐกิจย่อมแย่ตามไปด้วย หรือแม้แต่ประเทศมาเลเซียที่ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่พึ่งพิงสินค้าโคภัณฑ์ เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ดีทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศแย่ตามไปด้วย

'ทุกครั้งที่ตลาดหุ้นขึ้นหรือลง เรามักถามนักลงทุนว่า คุณมีทางเลือกการลงทุนอะไรบ้าง ซึ่งตามปกติมักมีทางเลือกหลักอยู่สองทาง นั่นคือ ซื้อหุ้นหรือพันธบัตร แต่ตามโลจิสเมื่อพันธบัตรมีผลตอบแทนสูงความน่าสนใจของหุ้นจะลดลง'