ธปท.ห่วงปัญหาโครงสร้าง ก่อหนี้ตั้งแต่เด็ก-หนี้เสีย1ใน5

ธปท.ห่วงปัญหาโครงสร้าง ก่อหนี้ตั้งแต่เด็ก-หนี้เสีย1ใน5

ธนาคารแห่งประเทศไทย ห่วงปัญหาโครงสร้าง ก่อหนี้ตั้งแต่เด็ก - หนี้เสีย 1 ใน 5

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ประจำปีเรื่อง "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในปี 2560" โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ถือเป็นปีที่มีความผันผวนสูง แต่เศรษฐกิจไทยก็สามารถผ่านพ้นมาได้โดยราบรื่น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีกันชนดี มีความยืดหยุ่นดี และยังมีแรงเสริมจากภาครัฐ

นายวิรไท มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ การฟื้นตัวมีแนวโน้มกระจายตัวมากขึ้น โดยการเติบโตอาจจะยังใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ ขยายตัวที่ 3.2% และมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามจากสถานการณ์ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามการกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้ สิ่งที่นายวิรไท ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นเรื่องระยะกลางถึงยาว

นายวิรไท กล่าวว่า ประเด็นเชิงโครงสร้างมี 4 เรื่องที่สำคัญ ซึ่งอาจกระทบความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ เรื่องแรก คือ "ปัญหาหนี้ครัวเรือน" แม้ว่าการขยายตัวในระยะหลังจะเริ่มชะลอลง แต่หนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับจีดีพี และที่น่ากังวลใจ คือ ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตพบว่า คนไทยก่อหนี้ในระดับสูงตั้งแต่อายุน้อย และระดับหนี้ไม่ได้ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ

"คนไทยวัยใกล้เกษียณยังมีหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ คนไทยเริ่มมีหนี้เสียตั้งแต่อายุน้อย ผลการศึกษาพบว่า คนไทยอายุ 29 ปี ที่มีหนี้สินเป็นคนที่มีหนี้เสียกว่าหนึ่งในห้า โดยข้อมูลนี้ยังไม่ได้รวมยอดหนี้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)"

นายวิรไท ระบุว่าตัวเลขผิดนัดชำระหนี้สูง สะท้อนการขาดวินัยการเงินและทักษะการบริหารเงิน ปัญหานี้ต้องได้รับการดูแลแก้ไข ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเป็นหนี้โดยเฉพาะก่อหนี้เพื่อการบริโภคนั้นไม่มีวันยั่งยืน และสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะหนี้ครัวเรือนจะบั่นทอนกันชนของเศรษฐกิจไทยในยุคที่ครัวเรือนต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ในระดับปัจเจกบุคคล คนที่มีภาระหนี้สูงหรือมีหนี้เสียจะมีแต่ความพะวักพะวน ยากที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ นำไปสู่ปัญหาผลิตภาพในระดับบริษัทและประเทศได้

เรื่องที่สอง การสูญเสียความสามารถการแข่งขันของสินค้าส่งออก และปัญหาโครงสร้างผู้ส่งออกไทย ถ้าดูข้อมูลย้อนหลัง พบว่าการส่งออกของไทยไม่สามารถฟื้นตัวเข้าสู่ระดับที่เทียบเคียงกับการส่งออกของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมาระยะหนึ่งแล้ว

นอกจากนี้ การส่งออกไทยคิดเป็น 70% ของจีดีพี มีการกระจุกตัวที่สูงมาก โดย 5% ของผู้ส่งออกที่ใหญ่สุดมีสัดส่วนการส่งออกถึง 88% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่ผู้ส่งออกรายเล็กมีอัตราอยู่รอดต่ำไม่สามารถยกระดับธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นได้ สะท้อนถึงการสูญเสียความสามารถการแข่งขันระดับประเทศ และปัญหานี้อาจถูกซ้ำเติมมากขึ้น หากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ นำไปสู่การกีดกันการค้าสูงขึ้น

เรื่องที่สาม การลงทุนภาคเอกชนที่ค่อนข้างอ่อนแอ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังกระจุกตัวอยู่เพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน และโทรคมนาคม

นอกจากนี้การลงทุนจากต่างชาติ(เอฟดีไอ)ในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ต่อไตรมาส ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติในหลายประเทศในภูมิภาคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

"ธปท.หารือกับผู้ประกอบการกว่า 270 บริษัท ในปี 2558 พบว่า ประมาณ 65% ของบริษัทที่เราพบไม่มีแผนจะลงทุนเพิ่ม หรือจะลงทุนเพิ่มเพียงเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรเก่าเท่านั้น"

นายวิรไท กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้น่ากังวลใจ แม้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่อีกสาเหตุมาจากปัญหาโครงสร้างในหลายมิติ เช่น ความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจน และไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งกฎเกณฑ์ภาครัฐและกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน

"หลายคนอาจไม่ทราบว่า ประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ต่างๆ กว่า 1 แสนฉบับ และมีใบอนุญาตกว่า 3,500 ประเภท เป็นระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และหลายเรื่องล้าสมัย ไม่เท่าทันกับรูปแบบการทำธุรกิจสมัยใหม่ กฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น มีต้นทุนที่สูงสำหรับการทำธุรกิจ หากไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นตัวบั่นทอนการลงทุน และกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต"

เรื่องที่สี่ การยกระดับศักยภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะ 99.7% ของผู้ประกอบการ คือ เอสเอ็มอี และมีสัดส่วนการจ้างงานประมาณ 80% ของการจ้างงานทั้งหมด ขณะที่โลกมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพัฒนาการของเทคโนโลยีเอสเอ็มอี จะมีข้อจำกัดหลายด้านไม่สามารถพัฒนาได้ทัน

นายวิรไท กล่าวว่า ถ้าดูข้อมูลหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อยอดคงค้างสินเชื่อจำแนกตามขนาดของธุรกิจ จะเริ่มเห็นว่าปัญหาการสูญเสียความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีที่ชัดเจนขึ้นในบางภาคธุรกิจที่สัดส่วนเอ็นพีแอลของธุรกิจขนาดใหญ่โน้มลดลง สวนทางกับสัดส่วนเอ็นพีแอลของธุรกิจเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นเร็ว ส่วนหนึ่งอาจเพราะเอสเอ็มอีมีสายป่านสั้น แต่อีกส่วนสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถปรับตัวให้เท่ากันกับการแข่งขันสมัยใหม่

นายวิรไท ย้ำว่าประเด็นเชิงโครงสร้างเหล่านี้ ต้องใช้เวลาแก้ไข และต้องทำต่อเนื่องจริงจัง

"ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาแก้ไข แต่เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันดำเนินการ ซึ่ง ธปท. ตระหนักถึงบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย มีหลายเรื่องที่เรากำลังดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมบริการทางการเงินแบบดิจิทัล การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงินและทักษะวางแผนทางการเงินแก่คนรุ่นใหม่เป็นต้น"

นายวิรไท ประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ ธปท. มองว่าการฟื้นตัวมีแนวโน้มที่จะกระจายตัวมากขึ้น จาก 3 ปัจจัย โดยปัจจัยแรก คือ ระดับน้ำในเขื่อนเพื่อการเกษตรอยู่ในระดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถ้าเกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงอีก ภาคเกษตรจะมีน้ำสำรองซึ่งรับมือได้ดีกว่าปีก่อน

ปัจจัยที่สอง งบประมาณภาครัฐมีเป้าหมายกระจายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ทั้งในส่วนของงบกลางปีและการจัดทำงบประมาณประจำปี 256 ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มจังหวัดมากขึ้น และสุดท้าย คือ การส่งออกฟื้นตัวในลักษณะที่กระจายตัวในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ควรชะล่าใจ เพราะโลกปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศและทิศทางการค้าโลกมีโอกาสแปรปรวนได้สูง

"การประมาณการล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค.2559 ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้เท่ากับปีก่อนที่ 3.2% แต่ปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอาจแตกต่างไปจากเดิมบ้าง"