จ่อปลดล็อก'พีพีพี' ดึงต่างชาติร่วมทุน

จ่อปลดล็อก'พีพีพี' ดึงต่างชาติร่วมทุน

สคร. จ้างศึกษาปลดล็อกกฎหมายพีพีพี หวังดึงต่างชาติร่วมทุนเมกะโปรเจค หลังไม่มีนักลงทุนต่างชาติยื่นประมูลรถไฟฟ้าเหลือง-ชมพู

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ว่าจ้างบริษัท โลแลนด์เบอร์เจอร์ ให้ศึกษารายละเอียดโครงการรัฐเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เพิ่มเติม เนื่องจากคณะกรรมการดึงดูดการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐมีความเห็นว่า โครงการพีพีพีที่ผ่านมาไม่น่าสนใจและไม่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับประเด็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมมี 3 ส่วนหลัก คือ1.โครงสร้างกฎหมาย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2556 ของประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไร เพราะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ภายใต้กฎหมายพีพีพีปี 2556 ไม่มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้าร่วมประมูล

2.โครงสร้างการลงทุนในอดีตมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ทั้งในแง่รายได้ รายจ่าย และการหาเอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาพบว่าเอกชนต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเอง โดยการศึกษาจะเปรียบเทียบข้อมูลและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย จีน และแอฟริกาใต้

3.รายละเอียดสัญญาพีพีพีของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่มีโครงการพีพีพีมากสุด หลังจากนั้นจะไปรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานอื่นตามแผนยุทธศาสตร์พีพีพีต่อไป

ศึกษาช่องทางอุดหนุนเอกชนลงทุน

นายพีระพล กล่าวว่าจะขอความคิดเห็นจากสำนักงานกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการ กรณีที่มีการแก้ไขสัญญา รวมถึงสอบถามอุปสรรคในการเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐ เพื่อให้ สคร. นำไปปรับปรุงโครงการพีพีพีให้ดึงดูดนักลงทุนมากยิ่งขึ้น

“กฎหมายไทยยังไม่เปิดช่องให้อุดหนุนโครงการในระยะยาว เพื่อประกันรายได้ขั้นต่ำของเอกชน ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาคงต้องไปประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศกับโครงการขนาดใหญ่ว่า มีการประกันรายได้ขั้นต่ำและแบ่งกำไรให้ภาครัฐอย่างไรบ้าง” นายพีระพลกล่าว

ทั้งนี้ การศึกษาน่าจะแล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ยังไม่สามารถระบุว่า ต้องแก้ไขกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการกำหนดเกณฑ์ใหม่ก็จะใช้กับโครงการที่ยังไม่เปิดประมูลเท่านั้น ส่วนโครงการที่ประมูลไปแล้วก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

สัปดาห์หน้าสรุปโครงการเข้าฟาสต์แทรค

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปคัดเลือกโครงการลงทุนแผนพีพีพีปี 2560 จำนวน 7 โครงการ เข้ามาบรรจุในโครงการพีพีพีฟาสต์แทรคนั้น

นายพีระพล ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานกลับไปพิจารณาว่าจะเสนอโครงการใดเข้าร่วมพีพีฟาสต์แทรคได้บ้าง โดยให้สรุปเสนอกลับมาภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะนำรายชื่อโครงการเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการพีพีพี ภายในวันที่ 31 ม.ค.นี้

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท. พร้อมเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง วงเงินรวม 263,843 ล้านบาท เข้าบรรจุโครงการฟาสต์แทรค ได้แก่รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 152,448 ล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 111,395 ล้านบาท เนื่องจากผลการศึกษารูปแบบการร่วมทุนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

“ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 โครงการก็ถูกวางให้อยู่ในโครงการพีพีพีฟาสต์แทรคอยู่แล้ว เพราะเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ และยังเป็นเส้นทางที่สนับสนุนระบบการขนส่งในอีสเทิร์นซีบอร์ดอีกด้วย”

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม. ) กล่าวว่ารฟม.เสนอโครงการรถไฟฟ้า 3 โครงการ วงเงินรวม 326,812 ล้านบาทเข้าร่วมโครงการฟาสต์แทรค โดยจะเป็นโครงการพีพีพีเฉพาะการเดินรถเท่านั้น เพราะรฟม.จะลงทุนในส่วนก่อสร้างเองทั้งหมด และล่าสุดการศึกษารูปแบบลงทุนก็ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

สำหรับ 3 โครงการดังกล่าว ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี วงเงิน 110,325 ล้านบาท,สายสีส้ม ตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ วงเงิน 85,316 ล้านบาท และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก วงเงิน 131,171 ล้านบาท

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล.จะนำเสนอโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 80,060 ล้านบาทเข้าร่วมในโครงการพีพีพีฟาสต์แทรค เพราะมีผลการศึกษารูปแบบร่วมทุนเบื้องต้นแล้ว โดยจะเป็นรูปแบบPPP Net Costซึ่งภาคเอกชนลงทุนงานก่อสร้างทางและที่พักริมทาง รวมทั้งให้สิทธิ์ในการบริหารรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยรัฐจะรับประโยชน์ในรูปของค่าสัมปทาน หรือส่วนแบ่งรายได้

รายงานข่าวจากการะทรวงคมนาคมแจ้งว่า โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-พญาไท และส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 41,870 ล้านบาทนั้น ยังไม่พร้อมเข้าร่วมโครงการพีพีพีฟาสต์แทรค เนื่องจากอยู่ระหว่างทบทวนรูปแบบการร่วมทุน เพราะ สคร. ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบ PPP Net Costที่กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 40 ปี และการันตีรายได้ขั้นต่ำให้ภาคเอกชนผู้ลงทุน โดยมองว่ารัฐบาลอาจมีความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้ หากเอกชนทำรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย

คลังยันญี่ปุ่นสนใจลงทุนไทย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าองค์การส่งเสริมการค้าแห่งประเทศญี่ปุ่น(เจโทร)ของญี่ปุ่นได้รายงานดัชนีชี้วัดการลงทุนในไทย โดยระบุว่า ดัชนีการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นจาก 2 ปีก่อนที่ติดลบ โดยปีที่แล้วดัชนีกลับมาบวกเป็น 4 ส่วน ปีนี้จะเพิ่มเป็น 15 แสดงว่า ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ยังตั้งใจลงทุนในไทย

ส่วนผลสำรวจที่ว่าเอกชนไทยจะชะลอการลงทุนนั้น อยู่ที่ว่าเป็นผลสำรวจกลุ่มไหน แต่เท่าที่หารือผู้ประกอบการรายใหญ่บอกว่า ผลประกอบการและการลงทุนดี แต่การลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในต่างประเทศ ส่วนการลงทุนในประเทศนั้น เชื่อว่า หลังรัฐบาลต่ออายุมาตรการภาษีเพื่อให้ผู้ลงทุนนำรายจ่ายลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่านั้น จะทำให้เอกชนลงทุนมากขึ้น

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าหากภาคเอกชนยังไม่มาลงทุน ภาครัฐเองก็ยังเป็นผู้นำการลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเพียงพอ โดยอัดงบลงทุนผ่านการขาดดุลงบประมาณเป็นวงเงินถึง 5.5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณนี้ ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่จะใช้เพื่อลงทุนในกลุ่มจังหวัดไม่ได้นำไปใช้จ่ายทั่วไป คาดว่า เม็ดเงินดังกล่าวจะเริ่มทยอยลงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้

“ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มา รัฐบาลก็ได้ใช้นโยบายการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปก่อน มีคนบอกว่า การลงทุนที่ดีที่สุด คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องใช้เวลา เนื่องจาก ต้องมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่วันนี้ เราเชื่อว่า การลงทุนจะเริ่มมีการเบิกจ่ายได้มากขึ้นแล้ว”