ธปท.มองเศรษฐกิจปีนี้โตกระจายมากขึ้น

ธปท.มองเศรษฐกิจปีนี้โตกระจายมากขึ้น

“แบงก์ชาติ” มองเศรษฐกิจไทยปี 60 โตกระจายมากขึ้นจาก 3 ปัจจัย คาด “จีดีพี” ใกล้เคียงปี 59 ที่ 3.2% แนะจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจไทย และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ปี 2560” ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่มีลักษระกระจายตัวมากขึ้น แต่การเติบโตยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2559 โดยมีอัตราการขยายตัวที่ 3.2% จากเหตุผล 3 ประการ

ประการแรก คือ ระดับน้ำในเขื่อนเพื่อการเกษตรอยู่ในระดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถ้าเกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงอีก ภาคเกษตรจะมีน้ำสำรองซึ่งรับมือได้ดีกว่าปีก่อน

ประการที่สอง คือ งบประมาณภาครัฐมีเป้าหมายกระจายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ทั้งในส่วนของงบกลางปีและการจัดทำงบประมาณประจำปี 256 ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มจังหวัดมากขึ้น

ประการสุดท้าย คือ การส่งออกฟื้นตัวในลักษณะที่กระจายตัวในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ยังไม่ควรชะล่าใจ เพราะโลกปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศและทิศทางการค้าโลกมีโอกาสแปรปรวนได้สูง 

“การประมาณการล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค.2559 ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้เท่ากับปีก่อนที่ 3.2% แต่ปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอาจแตกต่างไปจากเดิมบ้าง”

นายวิรไท กล่าวว่า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวไดดีกว่าปีที่แล้ว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่หลายสำนักเห็นคล้ายกันว่าจะขยายตัวดี ถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่า การส่งออกของไทยและการส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และกระจายตัวมากขึ้น ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2559 แรงส่งของภาคส่งออกที่มีต่อเนื่อง ควรช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมส่งออก

นอกจากนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ตามกรอบส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทในปี 2559 คิดเป็น 1.7 เท่าของปี 2558 และยังมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติไว้เดิมตั้งแต่ปี 2558 ที่จะต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงด้วย

ส่วนแรงขับเคลื่อนที่ ธปท. ประเมินว่า จะมีมากขึ้นกว่าปีก่อน คือ การลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ แม้การขาดดุลงบประมาณประจำปี 2560 จะเท่ากับปีก่อน แต่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มอีก 1.9 แสนล้าน  โดยมุ่งเพิ่มรายจ่ายในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่งผลให้เครื่องยนต์ภาครัฐมีบทบาทมากขึ้น

ขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจจะมีการลงทุนในโครงการต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน ทั้งการลงทุนที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีก่อน เช่น การลงทุนในโครงการรถไฟทางคู่ การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ และการลงทุนใหม่ ในโครงการรถไฟสายสีต่างๆ ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ เช่น สายสีชมพู เหลือง และส้ม เป็นต้น

ส่วนแรงขับเคลื่อนที่คาดว่าจะแผ่วลงบ้าง มี 2 ส่วน คือ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการ ทั้งสองตัวคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วยปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ประชาชนได้ใช้จ่ายล่วงหน้าไปบ้าง

ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง และภาคชนบทมีภาระหนี้มากขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการขยายตัวของการบริโภคไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ประชาชนโดยรวมยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะกิจกรรมด้านบันเทิงและสันทนาการ

สำหรับการส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน จากผลของการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย โดยนักท่องเที่ยวจีนปีนี้มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังขยายตัวได้ โดยมีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวประเทศอื่นที่เพิ่มขึ้น เช่น รัสเซีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน

นายวิรไท กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและลบที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงหรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างมาก

“มุมมองความเสี่ยงที่เพิ่งสูงขึ้น สอดคล้องกับที่หลายหน่วยงานพยากรณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากภายนอกประเทศ”

ปัจจัยเสี่ยงแรก คือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะเดียวกันต้องระวังปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าและผลต่อเนื่องที่ประเทศอื่นจะตอบโต้ ซึ่งจะเป็นตัวฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนทั้งโลก

ปัจจัยที่สอง คือ ความเสี่ยงด้านการเมืองในยุโรป ทั้งจากการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี นอกจากนี้ความกังวลเกี่ยวกับแนวทางการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรที่อาจจะเป็น Hard Brexit รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์การเมืองในแถบตะวันออกกลาง จะสร้างความผันผวนให้ตลาดเงิน ตลาดทุนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันเรายังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปบางประเทศที่ยังเปราะบางจากภาคสถาบันการเงินที่อ่อนแอ

ปัจจัยสุดท้าย คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในภาวะที่หนี้สินภาคธุรกิจอยู่ระดับสูง และหลายอุตสาหกรรมยังไม่ได้ถูกปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงอยู่ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดได้