'อิตาเลียนไทย' ซิวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง

'อิตาเลียนไทย' ซิวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง

"อิตาเลียนไทย" ซิวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะแรกงบ 2.5 พันล้าน หลังผ่านคุณสมบัติเจ้าเดียว "เคที" เร่งต่อรองราคาก่อนชง "อัศวิน" ไฟเขียว

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2559 บริษัทกรุงเทพธนาคม (เคที) วิสาหกิจกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีหนังสือขอเชิญยื่นข้อเสนอประกวดราคาในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (โมโนเรล) สายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน) จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 3.บริษัทชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ4.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเคที ได้กำหนดให้ยื่นข้อเสนอการประกวดราคาในวันที่ 19 ม.ค.2560 ปรากฎว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย คือบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคา ได้เปิดซองเอกสารแสดงคุณสมบัติของผู้เสนองานดังกล่าวแล้วพบว่า บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามข้อกำหนด การจ้างก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน)

ทั้งนี้เคทีได้กำหนดประกาศผู้ผ่านคะแนนทั้งด้านเทคนิคตามลำดับคะแนน ในวันที่ 23 ม.ค.2560 และกำหนดการเปิดซองราคา เฉพาะผู้ผ่านคะแนนทางเทคนิค ในวันที่ 24 ม.ค.2560 แต่ในวันดังกล่าวไม่สามารถเปิดซองราคาได้ เนื่องจากคณะกรรมการประกวดราคา ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคยังไม่แล้วเสร็จ จึงขอเลื่อนกำหนดออกไปก่อนและจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เคทีอยู่ระหว่างต่อรองราคาและให้การก่อสร้างเป็นไปตามที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ศึกษา คาดว่าภายในเดือนม.ค.นี้ จะแล้วเสร็จ จากนั้นจึงจะเสนอพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. พิจารณาให้ความเห็นชอบให้เคที ลงนามในสัญญาจ้าง เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองธนบุรี – ประชาธิปก เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเขตกรุงธนบุรี ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 โดยให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ดำเนินการรวมทั้งการเดินรถสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ระยะได้แก่ ช่วงที่ 1 จากสถานีธนบุรี – ตากสิน ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2,512 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จและให้บริการในปี 2561 และช่วงที่ 2 จากสถานีตากสิน – วัดอนงค์คาราม ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1,333 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566 โดยรถไฟฟ้าเส้นทางนี้จะใช้ระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (โมโนเรล) นำทางอัตโนมัติ (AGT) ที่ควบคุมการเดินรถด้วยระบบคอมพิวเตอร์ใช้ระบบไฟฟ้า ใช้ล้อยางจึงไม่เกิดเสียงดัง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 1 ตู้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 80-100 คนหรือขนส่งผู้โดยสารได้ 4,000-1.2 หมื่นคนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ซึ่ง 1 ขบวนสามารถต่อพ่วงได้ 6 ตู้

"จากผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(Economic Internal Rate of Return : EIRR 28.5%) มูลค่าการลงทุนทั้งเส้นทาง 3,845 ล้านบาท คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561 จะช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและประหยัดเวลาในการเดินทางคิดเป็นมูลค่าประมาณ 830 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มเป็น 2,417 ล้านบาทต่อปีในปี 2581 โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการในระยะที่ 1 ในปี 2561 ประมาณ 4.7 หมื่นคนต่อเที่ยว-วัน และในระยะที่ 2 ในปี 2566 ประมาณ 8.1 หมื่นคนต่อเที่ยวต่อวัน" รายงานข่าวระบุ