ทรูออนไลน์สู้ศึกบรอดแบนด์-พ่วงคอนเทนท์ปั๊มยอด

ทรูออนไลน์สู้ศึกบรอดแบนด์-พ่วงคอนเทนท์ปั๊มยอด

'ทรูออนไลน์' เมินคู่แข่ง ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มยอดลูกค้า 15% ชี้มาตรฐานสปีดเน็ตฯ เริ่มที่ 30 เมกะบิต

นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ รองหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการพาณิชย์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ปี 2560 จะแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งนอกจากผู้ให้บริการแต่ละรายจำเป็นต้องเน้นคุณภาพและบริการแล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการจะเป็นเรื่องคอนเทนท์ และแอพพลิเคชั่นที่เสริมเข้ามา ส่วนตัวมองว่าผู้ให้บริการจะให้บริการบรอดแบนด์เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

สำหรับตลาดผู้ใช้บรอดแบนด์ของไทยปัจจุบันมียอดรวมอยู่ที่ 6.9 ล้านครัวเรือน เป็นตัวเลข ณ ไตรมาส 3/2559 ซึ่งเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อนที่มียอดผู้ใช้บริการรวม 6.2 ล้านครัวเรือน คิดเป็นการเติบโตราว 12% โดยทรูออนไลน์เองนั้น ณ ไตรมาส 3/2559 มีลูกค้าจำนวนทั้งสิ้น 2.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 38% เป็นผู้นำตลาดในขณะนี้ซึ่งแบ่งเป็นลูกค้าในกทม. 60% และต่างจังหวัด 40% ในส่วนปีนี้เองทรูออนไลน์มีเป้าหมายเพิ่มยอดลูกค้าอีก 15% ด้วย

“ตลาดไทยยังมีโอกาสทำตลาดอีกเยอะมาก เพราะจำนวนครัวเรือนโดยรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 20 ล้านครัวเรือน แต่เรามีประชากรบรอดแบนด์ตอนนี้อยู่ที่ 6.9 ล้านครัวเรือน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการ นอกเหนือจากเรื่องสปีดที่ปีนี้น่าจะเริ่มให้บริการไม่ต่ำกว่า 30 เมกะบิตแล้ว สิ่งสำคัญ คือ เรื่องคอนเทนท์” นายสุภกิจ กล่าว

นายสุภกิจ กล่าวว่า แผนลงทุนทรูออนไลน์ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาใช้งบกว่า 33,000 ล้านบาท พัฒนาโครงข่ายผ่านทรู ซูเปอร์ สปีด ไฟเบอร์ เทคโนโลยีที่มีความเสถียรโดยปัจจุบันมีโครงข่ายครอบคลุมแล้ว 8.6 ล้านครัวเรือน และสิ้นปี 2560 คาดว่าจะมีโครงข่ายครอบคลุมต่อเนื่องเป็น 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะแบ่งเป็นความครอบคลุมในกทม.4 ล้านครัวเรือน และต่างจังหวัด 6 ล้านครัวเรือน ส่วนงบประมาณสำหรับปี 2560 นี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด)


อย่างไรก็ดี กรณีมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างหนักช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นายสุภกิจ ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ผู้ประกอบที่มีในตลาดตื่นตัว และแข่งขันกันเอง ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่หากมองในแง่ธุรกิจ การมีีผู้ให้บริการรายใหม่ ไม่ได้สร้างผลกระทบกับทรู ออนไลน์ เพราะทรูฯ อยู่ในอุตสาหกรรมมามากกว่า 15 ปี

"คนที่เข้ามาแม้ว่าตลาดจะมีช่องทางให้ทำธุรกิจอีกมาก แต่ธรรมชาติของธุรกิจบรอดแบนด์กับโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน โทรศัพท์มือถือเพียงแค่ตั้งเสา ติดตั้งอุปกรณ์ปล่อยสัญญาณก็ให้บริการได้แล้ว เวลาซ่อมบำรุงก็ทำที่สถานีฐานได้เลย แต่ธุรกิจบรอดแบนด์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่า ต้องจ้างซัพพลายเออร์ หาช่างให้บริการ มอนิเตอร์โครงข่ายตลอด 24 ชม. การซ่อมบำรุงที่บ้านลูกค้า การบริการหลังการขายต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์ เป็นสาเหตุให้ทรูออนไลน์มีความแข็งแกร่งในธุรกิจนี้" นายสุภกิจ กล่าว