'เอสซี แอสเสท'ชูนวัตกรรม4.0 ดันยอด2หมื่นล.ปี62

'เอสซี แอสเสท'ชูนวัตกรรม4.0 ดันยอด2หมื่นล.ปี62

"เอสซีฯ" เดินยุทธศาสตร์ 4.0 ดึง "นวัตกรรม-เทคโนโลยี" ผสานพัฒนาโปรดักท์และบริการ ภายใต้แนวคิด "Human – Centric" ดันรายได้ทะลุ 2 หมื่นล.ปี62

สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่แข่งขันสูง จากกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ เริ่มเห็นผู้ประกอบการอสังหาฯ นำ “เทคโนโลยี” เข้ามาผสานการทำธุรกิจ เพื่อการเข้าถึงลูกค้า บริการ รวมถึงการขาย ตอบโจทย์ธุรกิจ ต่อกรคู่แข่ง

นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ปรับแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยืนในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคโลกเชื่อมต่อกันทั้งหมดด้วยระบบดิจิทัล (Connectivity) โดยวางแผนการเติบโตในช่วง 3 ปี (2560-2562) จะมีรายได้เกิน 2 หมื่นล้านบาท และมีรายได้ที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาทในอนาคต

นวัตกรรมตอบโจทย์ลูกค้า

ทั้งนี้ เอสซีฯจะเน้นผสานนวัตกรรม เข้ามาในการพัฒนาโปรดักท์และบริการ ตอบโจทย์ลูกค้า รองรับยุคพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปเร็ว โดยยึดแนวคิด "Human -Centric” สอดคล้องกับยุคโลกที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบดิจิทัล

"เอสซี จะก้าวกระโดด จากยุค 2.0 ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Consumer Centric) เราก้าวไป ยุค 4.0 เป็นแนวคิด Human-Centric การทำความเข้าใจชีวิตลูกค้าอย่างแท้จริงและที่สำคัญต้องหาโซลูชั่นโปรดักท์ และบริการ ที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ยุคที่เสียงลูกค้าจะดังอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน"

เล็งลงทุนธุรกิจ“สตาร์ทอัพ”

นอกจากนี้ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมในธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เอสซีฯอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม "Property Technology (PropTech)" หรืออาจจะเข้าไปในลักษณะร่วมกันพัฒนานวัตกรรม โดยจะเน้นการลงทุนในธุรกิจด้านคุณภาพและนวัตกรรม ซึ่งตั้งงบลงทุนไว้ที่ 50 ล้านบาท ปัจจุบันได้เจรจาบริษัทสตาร์ทอัพในไทยอยู่หลายราย และในอนาคตอาจจะลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพต่างประเทศเพิ่มเติม

รุกขยายตลาด "ทุกเซกเม้นท์"

นายณัฐพงศ์ ยังกล่าวว่า ยังได้วางกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตของยอดขายให้ได้ตามเป้าหมาย โดยรุกขยายตลาดการพัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกระดับราคา ทั้งตลาดไฮเอนด์ ราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งบริษัทเป็นผู้นำตลาด การรุกขยายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทั่วไป (แมส) ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างการเติบโตได้ทุกสถานการณ์

อีกทั้ง การใช้นวัตกรรมพัฒนา "บ้านรู้ใจ" เข้าใจถึงชีวิตการอยู่อาศัยที่แท้จริงของลูกค้า จะเปิดตัวในไตรมาส 3 รวมถึงการรักษามาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการ พร้อมทั้งปรับกระบวนการทำงานทั้งภายในและภายนอกให้เป็นระบบดิจิเซชั่น (Digitzation) เพื่อความแม่นยำ คล่องตัว ปรับโครงสร้างองค์กรสำหรับยุค 4.0

เปิดตัว 17 โครงการ 2.7 หมื่นล.

สำหรับแผนในปีนี้ จะเปิดตัวโครงการใหม่ จำนวน 17 โครงการ มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม เลื่อนเปิดมาจากปีที่แล้ว 2 โครงการ และแนวราบ 15 โครงการ อาคารสำนักงาน 1 โครงการ ครึ่งปีแรกเปิดคอนโด 2 โครงการ

ในส่วนของรายได้ปีนี้ ตั้งเป้า 1.48 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากโครงการแนวราบ 1.1 หมื่นล้านบาท รายได้จากโครงการคอนโด 3,000ล้านบาท และรายได้จากค่าเช่า 800 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายรอโอนอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะโอนเข้ามาราว 10-15% ในปีนี้ อีกทั้งยังมีสต็อกพร้อมขายและโอนทั้งหมด 6,000-7,000 ล้านบาท

"เมกะโปรเจค" ดันอสังหาฯโต

ส่วนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 5% โดยมีแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่จะช่วยให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในทำเลต่างๆขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามจะต้องดูว่าการบริโภคของครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีหรือไม่

"ปีนี้สิ่งต้องจับตาคือ หนี้ครัวเรือน อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ และหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งของบริษัทในโครงการบ้านเดี่ยวอยู่ที่8-10% เริ่มสูง แต่ถ้าเทียบกับตลาดถือว่ายังต่ำ ในส่วนของโครงการคอนโดอยู่ที่1% โดยเฉลี่ยอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทจะอยู่5%"

"แสนสิริ-อนันดา" รุกพร็อพเทค

ทั้งนี้ แนวโน้มของการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานกับการทำธุรกิจอสังหาฯ เริ่มชัดเจนมากขึ้น กลุ่มแสนสิริ เตรียมจัดตั้งบริษัทลูก ร่วมทุนลักษณะของเวนเจอร์ แคปิตอลเป็นรายแรกของวงการอสังหาฯ การจัดตั้งเพื่อมองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจประเภท “Property Tech” เชื่อมโยงกับธุรกิจอสังหาฯของกลุ่มแสนสิริให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้น

ด้านบมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เตรียมที่จะแถลงข่าวในเรื่องนี้ในปลายเดือนนี้ โดยที่ผ่านมามุ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีในวงการอสังหาฯได้นำระบบ บีม(BIM)มาใช้เต็มรูปแบบซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในวงการก่อสร้าง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการก่อสร้างอาคาร ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยให้ข้อมูลการทำงานร่วมกัน และถูกต้องตรงกันมากขึ้น ระหว่าง สถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา