พระบรมฉายาลักษณ์ ณ วัดที่สูงที่สุดในโลก

พระบรมฉายาลักษณ์ ณ วัดที่สูงที่สุดในโลก

จากการเดินทางครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 จนมาถึงภารกิจล่าสุด ในการอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ไปสถิตอยู่ ณ วัดที่สูงที่สุดในโลก

ใครๆ ก็บอกว่าหมออีม – ทพญ.นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ โชคดีที่ทำความฝัน ในการอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปเชิดชู ณ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกได้สำเร็จในปี 2559 ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

หมออีม ป๋าคมรัฐ - คมรัฐ พิชิตเดช ผู้ร่วมทางและผู้นำการผลักดันให้เกิดโครงการขึ้นยอดเอเวอร์เรสต์ครั้งที่ผ่านมาร่วมกลุ่มเพื่อนนักเดินป่า กลุ่ม Thai Everest Team ทุกคนก็รู้สึกว่าพวกตนโชคดีมากที่ครั้งหนึ่งได้ทำเพื่อในหลวง รัชกาลที่ 9

ไม่ต่างกับอีกหลายบุคคล องค์กร และหน่วยงานที่ยังคงแสดงออกถึงความอาลัยและความระลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 ในแนวทางที่ตนเองถนัด ในฐานะที่เป็นนักเดินป่าปีนเขา พวกเขาก็ดำริถึงโครงการที่จะทำเพื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 อีกครั้ง

สู่วัดที่สูงที่สุดในโลก

หลังจากที่หมออีมและป๋าคมรัฐจบโครงการพิชิตยอดเอเวอร์เรสต์แล้ว ได้มีนักธุรกิจชาวจีนเจ้าของแบรนด์น้ำดื่มจากเทือกเขาแห่งนั้นติดต่อเข้ามาเพื่อจัดทริปโปรโมทแบรนด์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้นมา ทุกอย่างจึงถูกพักไว้ แต่ด้วยความที่ “คุณเกา” เจ้าของธุรกิจนั้น ผู้ทำงานและอาศัยอยู่ในเมืองไทยมากว่า 20 ปี เขาจึงเคารพในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นอย่างมาก และต้องการจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นการตอบแทนที่เขาอาศัยอยู่ใต้ร่มพระบารมีมายาวนาน คุณเกามาปรึกษากับ Thai Everest Team จึงได้เกิดทริปเดินทางไปปฏิบัติภารกิจเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของพวกเขา และคนไทยที่ได้รับรู้

การอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช และพระพุทธรูปไม้ศิลปะเชียงแสนไปประดิษฐานยังวัดพุทธที่สูงที่สุดในโลก

ทริปนี้คิดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 และตัดสินใจไปอย่างแน่นอนเพื่อให้ทันวันที่ 5 ธันวาคม 2559 การเตรียมการทุกอย่างจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความยากไม่ได้อยู่ที่การเดินขึ้นเขา เพราะวัดรงบุค (Rongbuk Monastery) วัดพุทธที่สูงที่สุดในโลกนั้นอยู่ในทิเบต ซึ่งทางการจีนได้สร้างถนนไว้จึงสามารถขับรถขึ้นไปได้ แต่ระหว่างการจัดทริปให้เกิดขึ้นภายในเวลาอันสั้น ทั้งการขอวีซ่า การติดต่อขออนุญาตเข้าทิเบตอันเป็นพื้นที่เปราะบางด้านการเมืองซึ่งใช้เวลานาน รวมถึงการเดินทางที่ต้องต่อเครื่องบินถึง 3 ต่อ และการขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ซึ่งเสี่ยงต่อการที่สมาชิกจะเกิดแพ้ความสูงขึ้นมา ทุกอย่างคือสิ่งที่พลาดไม่ได้ หากพลาดจุดใดจุดหนึ่งจะกระทบแผนทั้งหมดจนอาจทำให้ภารกิจนี้ไม่สำเร็จตามวันเวลาที่วางไว้

ป๋าคมรัฐเล่าให้ฟังว่า “ขาไปเรานั่งเครื่องบินทั้งหมด 3 ต่อ คืนแรกไปถึงนอนที่สนามบิน รอต่อเครื่อง พอขึ้นเครื่องเสร็จ ก็ไปลงที่ลาซา หลังจากนั้นยังไม่หมด เราต้องขึ้นรถออกจากลาซาไปทันที เพื่อให้ทันกำหนดการที่เราตั้งเอาไว้ เดินทางตลอดจนถึงจุดหมาย ถึงที่พักไม่ต่ำกว่า 3 ทุ่มทุกคืน”

เมื่อไปถึงหมู่บ้านรงบุค ผู้ร่วมทริปทั้งหมด 12 คน เริ่มต้นเดินเท้าที่ความสูง 4,900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ไปที่วัดรงบุค ซึ่งอยู่สูงราว 5,150 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งพวกเขาไปถึงทันกำหนดการที่วางไว้อย่างฉิวเฉียด

ทางทีมติดต่อวัดรงบุคไปล่วงหน้า เพื่อขอดำเนินการตามภารกิจ ซึ่งทางวัดก็ยินดีอย่างยิ่ง นอกจากจะนำพระบรมฉายาลักษณ์และพระพุทธรูปไปประดิษฐานแล้ว ยังมีการนำเงินและสิ่งของไปบริจาคที่วัดรงบุค เพราะมีผู้ที่อยากไปร่วมทริปแต่ไม่สามารถไปได้ก็ร่วมทำบุญในกุศลครั้งนี้

แสงสว่างแห่งใจของนักปีนเขา

วันที่ 5 ธันวาคม 2559 ภายในวิหารของวัดรงบุคที่ต้องปิดประตูหน้าต่างทุกบานให้สนิทเพื่อป้องกันลมหนาว ในความมืดนั้นมีความสว่างเรืองรองของแสงเทียนหลายดวง รวมถึงเทียนที่วางเรียงต่อกันเป็นเลข ๙ ท่ามกลางพิธีทางศาสนาซึ่งภิกษุชาวทิเบตตั้งใจทำให้อย่างเต็มที่

“วันนั้นมีพระมารวมกันราว 9 รูป ซึ่งก็คือทั้งวัด เราขอให้เขาทำพิธีทางศาสนาเพื่อในหลวง ตามพิธีกรรมของเขา ท่านบอกว่าจะทำพิธีให้ดีที่สุด พวกเราประทับใจมาก” หมออีมเล่าให้ฟัง

หนึ่งในสมาชิก Thai Everest Team เสริมว่าแม้จะไม่เข้าใจภาษาของบทสวด แต่พิธีกรรมของทางทิเบตสร้างความรู้สึกเปี่ยมมนต์ขลัง ยิ่งมีเสียงเครื่องดนตรีประเภทเป่าบรรเลงอย่างหวนไห้ชาวไทยก็ยิ่งสะเทือนใจ หมออีมบอกว่าระหว่างพิธี ความรู้สึกที่เก็บกลั้นมาตลอดก็เหมือนจะทะลายตรงนั้น เพลงสรรเสริญพระบารมีที่ร่วมร้องกันเกือบร้องไม่จบ แม้บรรยากาศของพิธีจะขับเน้นความเศร้าและความคิดถึง แต่ทุกคน ณ ที่นั้นก็รู้สึกอิ่มใจที่ได้ทำอะไรเป็นการเทิดพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 อีกครั้ง

ภิกษุทิเบตแห่งวัดอันเก่าแก่ให้คำมั่นว่าพระพุทธรูปและพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 จะประดิษฐานอยู่ที่วัดรงบุคไปตลอดตราบเท่าที่วัดจะคงอยู่

แม้วัดรงบุคจะไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่ใครๆ จะมากัน เพราะอยู่นอกเส้นทางของแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ใครก็ตามที่มาถึง ณ จุดนี้ มักเป็นนักปีนเขาที่ใช้เส้นทางผ่านไปยังจุดหมายอย่าง Everest Base Camp ฝั่งทิเบต และหากพวกเขาเป็นคนไทยที่ได้เข้ามาเยี่ยมเยือนวัดรงบุค ก็จะได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ และพระพุทธรูปไทย พวกเขาก็น่าจะเกิดความยินดี ระลึกถึงพระองค์ และอาจได้แรงใจในการปีนเขา หรือทำสิ่งต่างๆ กลับไปไม่ต่างจากหมออีม และผู้ร่วมทริปสู่วัดที่สูงที่สุดในโลกครั้งนี้