‘ซีไอเอ็มบีไทย’วูบ เพิ่มทุนกดมูลค่าหุ้นทรุด

‘ซีไอเอ็มบีไทย’วูบ เพิ่มทุนกดมูลค่าหุ้นทรุด

นักวิเคราะห์ระบุ การเพิ่มทุนของซีไอเอ็มบีไทย ทำให้มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นลดลง

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) CIMBT เตรียมเพิ่มทุนจดทะเบียน จาก 12,387.36 ล้านบาท เป็น 15,140.113 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 5,505.495 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 9 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาเสนอขาย 1 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่าการระดมทุน 5,505.495 ล้านบาท โดยจะประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติในวันที่ 3 ก.พ. นี้

การเพิ่มทุนในครั้งนี้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตามแผนที่บริษัทประกาศออกมา เพราะสัดส่วนการถือหุ้นกว่า 90% อยู่ในมือนักลงทุนรายใหญ่ และจากการปิดสมุดทะเบียนเมื่อเดือน มี.ค. 2559 มีสัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อย (Free float) เพียง 6.29%

ส่วนทางเลือกของนักลงทุนรายย่อยนั้น นักวิเคราะห์ มองว่า การตัดสินใจที่จะเลือกเพิ่มทุนหรือไม่นั้น คงจะต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การลงทุนของนักลงทุนแต่ละราย คงจะไม่มีทางเลือกใดที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกคน หากเป็นนักเก็งกำไร บางรายอาจจะพิจารณาที่จะขายออกไปก่อนที่จะมีการเพิ่มทุน เพราะราคาหุ้นในปัจจุบันก็มีส่วนต่างราคาหุ้นพอสมควร

หากนักลงทุนระยะยาว ถ้ารับเพิ่มทุนจะทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าราคาในกระดาน ก็อาจจะเลือกถือต่อไปและใช้สิทธิเพิ่มทุนในครั้งนี้ หรือหากเป็นกรณีของกองทุน ก็ขึ้นอยู่กับสถานะและข้อจำกัดของแต่ละกองด้วย อย่างกองทุนถ้าหากใช้สิทธิเพิ่มทุนแล้วอาจทำให้สัดส่วนถือครองมากเกินไป ก็อาจจะมีการขายออกมาได้ แต่บางกองทุนที่ยังมีเงินลงทุนเพียงพอ และไม่ได้ติดข้อจำกัดเรื่องของสัดส่วนการถือก็อาจจะถือลงทุนต่อไปได้

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินว่า การที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เตรียมเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมนี้ เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนให้เหมาะสม ทั้งนี้ บริษัทมีผลขาดทุน 630 ล้านบาทในปี 2559 ทำให้มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (BV) ปรับลงเหลือ 1.08 บาท ฉะนั้น ราคาหุ้นยังมีความเสี่ยงขาลงในเชิงพื้นฐาน เพราะมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นจะยิ่งลดลงหลังเพิ่มทุน และผลการดำเนินงานยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน เพราะเอ็นพีแอลยังอยู่ในระดับสูงกว่า 6% จึงแนะนำสลับไปลงทุนหุ้นทิสโก้ (TISCO)หุ้นกสิกรไทย (KBANK) หุ้นทหารไทย (TMB)

ราคาหุ้นซีไอเอ็มบี ไทย หลังจากประกาศเพิ่มทุนเมื่อ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ราคาหุ้นร่วงลงทันที 5% มาอยู่ที่ 1.31 บาท อย่างไรก็ตามราคาหุ้นหุ้นก่อนหน้าปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยวิ่งขึ้นจากราว 1 บาท ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 1.73 บาท

กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเพิ่มทุนจะทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) แข็งแกร่งขึ้นเป็น 18.5% จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 16.1% ซึ่งจะเป็นการเสริมความมั่นคงของฐานเงินกองทุนและงบดุลของธนาคารมากยิ่งขึ้นส่วนแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ มั่นใจว่าจะพลิกกลับมีกำไรจากปี 2559 ที่ขาดทุน 629.50 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว โดยธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโตที่ 5-10% จากปี 2559 สินเชื่อเติบโต 3.7%

ธนาคารอยู่ระหว่างการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 2,600 ล้านบาท คาดกระบวนการแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. นี้ ซึ่งจะทำให้เอ็นพีแอลลดลงจากสิ้นปี 2559 ที่อยู่ 6.1% เหลือ 4.8% และตั้งเป้าสิ้นปีนี้เอ็นพีแอลต้องอยู่ต่ำกว่า 5%