The Inside Line : จักรยานเป็นกีฬาเศรษฐี?

The Inside Line : จักรยานเป็นกีฬาเศรษฐี?

ผมเชื่อว่าหลายคนที่ขี่จักรยานที่มีราคาประมาณหนึ่ง มักจะเหนื่อยในเวลามีคนถามว่า “คันนี้กี่บาท” “แพงมั้ย”

 เพราะทุกครั้งที่ตอบ ปฏิกิริยาจากผู้ฟังมักจะเป็น “แพงจัง, นั่นซื้อมอเตอร์ไซค์, รถ eco car ได้เลยนะ!” อะไรทำนองนั้น โดยเฉพาะพวกจักรยานระดับแข่งขันที่มีราคาหกหลักเป็นเรื่องธรรมดา ถึงจะเป็นจักรยานถนนหรือเสือภูเขาระดับกลางๆ ก็แพงกว่ามอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นแล้ว

มุมมองของสังคมบางส่วนมองนักปั่นว่าเป็นพวก “มีตังค์” เป็นกีฬาคนรวยเหมือนคนตีกอล์ฟ แต่ทำไมเขาถึงคิดเช่นนั้น? จริงครับ ที่ว่าจักรยานแข่งขัน ที่ทำจากวัสดุน้ำหนักเบาหวิวอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งคันนั้นมีราคาพอสมควร ซึ่งมันก็น่าจะย้อนแย้งกับทรรศนะของสังคมที่มีต่อ “จักรยาน” - ยานพาหนะธรรมดาที่ขับเคลื่อนด้วยพลังมนุษย์ ไม่ได้มีเครื่องยนต์หลายร้อยแรงม้า ไม่ได้อำนวยความสะดวกชีวิตในฐานะยานพาหนะเหมือนรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ มันเลยดูเป็นสิ่งของที่มีราคาสูง

      การเหมารวมแบบนี้ออกจะดูง่ายไปนิด เพราะถ้าเราคิดจริงๆ แล้วอุปกรณ์ระดับ “มืออาชีพ” ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะ อุปกรณ์กีฬา เครื่องมือต่างๆ ก็มีราคาสูงทั้งสิ้น ถ้าจะเทียบมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นคันละห้าหมื่นกับจักรยาน เราก็คงต้องเทียบกับจักรยานแม่บ้าน หรือเสือภูเขาที่ทำจากอลูมิเนียมธรรมดา น้ำหนักมาก มีที่ติดบังโคลนและตะแกรงใส่ของ ไม่ใช่เทียบกับจักรยานเสือหมอบคาร์บอนไฟเบอร์ ที่น้ำหนักทั้งคันไม่เกิน 7 กิโลกรัม ออกแบบมาเพื่อแข่งขันในระดับสูงสุด ตอบสนองแรงกดแบบทันท่วงที ผ่านการวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนหลายร้อยล้านบาท

    เพราะถ้าเทียบแบบนั้นก็อาจจะต้องเปรียบเทียบระหว่างมอเตอร์ไซค์ดูคาติตัวลงสนามแข่งจริง หรือรถสปอร์ตแบบเฟอร์รารีราคาหลายสิบล้าน

      หากมองในมิตินี้แล้ว จักรยานแข่งขันกลับกลายเป็นยานพาหนะเกรดมืออาชีพ ที่คนทั่วไปพอจะซื้อได้ในชีวิตจริงมากเสียยิ่งกว่ายานพาหนะอื่นๆ!

      กฎสำคัญข้อหนึ่งในวงการจักรยานแข่งขัน ที่รับรองโดยสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) ก็คือ อุปกรณ์ที่มืออาชีพใช้แข่งทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงรถ ล้อ ยาง หลักอาน ต้องมีวางจำหน่ายสาธารณะ

      นั่นหมายความว่าคนสามัญชนอย่างเราสามารถซื้ออุปกรณ์ที่เทียบเท่า หรือดีกว่ามืออาชีพมาใช้ได้ในชีวิตจริงครับ ทีมนักปั่นอาชีพไม่สามารถใช้อุปกรณ์ทดลองที่ไม่มีวางขายได้เลย ถ้าเทียบกับวงการอย่างรถแข่ง หรือรถสูตรหนึ่งแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่คนธรรมดาจะได้ใช้เทคโนโลยีระดับเดียวกับมืออาชีพ นั่นก็เพราะเขาไม่อยากให้เกิดสภาวะที่นักปั่นแข่งกันด้วยเทคโนโลยี มากกว่าความสามารถส่วนบุคคล และยึดหลักที่ว่า จักรยานควรจะเป็นยานพาหนะที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะจุดเริ่มต้นของกีฬาจักรยานแข่งขันนั้นก็มาจากชนชั้นล่างระดับแรงงานเหมือง ไม่ใช่กีฬาสำหรับคนมีเงินอย่างที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนี้ครับ

      แล้วการที่นักปั่นจะเข้าถึงเทคโนโลยีจักรยานระดับอาชีพนี้ต้องมีเงินหลักแสนเลยหรือเปล่า? เรื่องนี้ก็ไม่จริงอีก แน่นอนคุณอาจจะไม่ได้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด เบาที่สุด ลู่ลมที่สุด ในจักรยานราคาหลักห้าหมื่น แต่จักรยานระดับกลางนั้นมักจะได้เทคโนโลยีและโมลด์เดียวกับจักรยานระดับท็อป เพียงแค่ใช้วัสดุที่อาจจะหนักกว่าเล็กน้อยเท่านั้นเอง เรียกได้ว่าได้ประโยชน์ของสินค้าเกรดท็อปประมาณ 80% ในราคาที่ถูกกว่าเกินครึ่ง

     เอาจริงๆ แล้วด้วยราคาสมาร์ทโฟนดีๆ หนึ่งเครื่องนั้น คุณสามารถซื้อจักรยานที่พร้อมลงแข่งทุกสนาม และดีเกินพอจะใช้ออกกำลังกายทั่วไป แข็งแรงทนทานใช้ได้นานเป็นสิบปีครับ จริงว่ามีกลุ่มคนที่ชื่นชอบจักรยานราคาแพง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณอาจจะไม่ทราบคือจักรยานส่วนใหญ่ที่ขายได้ในโลกนั้น เป็นระดับเริ่มต้น entry level ครับ!