'สามารถ'ปรับทัพรุกดิจิทัล หลังไอ-โมบายทำรายได้สูญกว่า50%

'สามารถ'ปรับทัพรุกดิจิทัล หลังไอ-โมบายทำรายได้สูญกว่า50%

"การปรับตัวให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลง คือ กุญแจสำคัญของการอยู่รอดในโลกธุรกิจ"

ยิ่งอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นผู้รอด

ที่ผ่านมา ได้บทเรียนจากธุรกิจไอ-โมบาย จากที่เคยขายเครื่องได้กว่า 4-5 ล้านเครื่อง แต่ปีที่ผ่านมาลดลงเหลือไม่ถึงล้านเครื่อง ทำให้ “กลุ่มบริษัทสามารถ” ต้องเปลี่ยนแผนธุรกิจและมองกลุ่มใหม่ๆ ที่สร้างรายได้ในกลุ่มบลู โอเชี่ยน

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2560 โดยประกาศเป้าหมายรายได้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากทิศทางอุตสาหกรรมและธุรกิจขายมือถือของกลุ่มสามารถลดลงอย่างเห็นได้ชัด
จากปี 2559 กลุ่มสามารถ ประกาศเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 30,000 ล้านบาท โดยกำลังหลักมาจากยอดขายจากกลุ่มไอ-โมบายราว 7,000 ล้านบาท แต่ปีนี้ ผู้บริหารตั้งเป้าหมายไว้เพียง 4,500 ล้านบาท

นายวัฒน์ชัย กล่าวยอมรับว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ดังนั้นบริษัทจำเป็นต้องปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับยุคทรานฟอร์มเมชั่นของเทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น โดยบริษัทมีเป้าหมายจะขยับตัวเองไปสู่ผู้ให้บริการในระดับเวิลด์คลาส โดยนอกจากจะมีสินค้าและบริการระดับสากล จำเป็นต้องมีบริการครบวงจรและมีโซลูชั่นที่หลากหลาย

เป้าหมายรายได้ปีนี้ จะมาจากสายธุรกิจไอซีที โซลูชั่น 9,000 ล้านบาท สายธุรกิจโมบาย-มัลติมีเดีย 4,500 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่มาจากสามารถไอ-โมบาย โดยเดือนมี.ค.นี้จะเปิดตัวรูปแบบใหม่ ทั้งแนวทางการทำตลาด และภาพลักษณ์ของแบรนด์ สายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 2,300 ล้านบาท และสายธุรกิจยู-ทราน 4,200 ล้านบาท

สำหรับสายธุรกิจโมบาย-มัลติมีเดียเป็นสายธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงด้านทิศทางและโครงสร้างธุรกิจมากที่สุด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการก้าวสู่ยุคดิจิทัล ประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มโมบาย และซิเคียวริตี้ ดำเนินธุรกิจจำหน่ายมือถือ และแกดเจ็ตที่ตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟสไตล์ ด้วยคุณสมบัติเด่นทางด้านความปลอดภัย, การดูแลสุขภาพและอื่นๆ

ล่าสุดหลังจากเกิดกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดจากการเปิดตัวแบล็คโฟน2 ในประเทศไทย บริษัทยิ่งมั่นใจในการขยายธุรกิจ โมบาย ซิเคียวริตี้ แอพพลิเคชั่น และโซลูชั่น โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการพัฒนาและนำเสนอสินค้าบริการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะขยายตลาดไปยังประเทศลาว เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา

ส่วนการจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือนั้น นอกเหนือจากแบรนด์ไอ-โมบายแล้ว บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายหลักให้แก่มือถือแบรนด์ดังระดับโลกหลายแบรนด์ โดยอาศัยศักยภาพช่องทางการขายและการให้บริการซึ่งครอลคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งจะพัฒนาช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างคล่องตัวผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น

2. โอเปอเรเตอร์ & อินฟราสตรักเจอร์ ประกอบด้วยธุรกิจเอ็มวีเอ็นโอบนเครือข่าของบมจ.กสท โทรคมนาคม

“ตอนนี้ผมมานั่งเป็นซีอีโอในบมจ.สามารถ ไอ-โมบายเพราะต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่มีแอร์ไทม์รองรับเหมือนโอเปอเรเตอร์ที่แจกเครื่องฟรี ดังนั้นรายได้ในกลุ่มโมบาย-มัลติมีเดียจึงตกลงมาจากเดิมที่เรามีไอ-โมบายเป็นพระเอก เราจึงหันจับตลาดในเฉพาะกลุ่มของเรา ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1 ล้านเครื่อง ซึ่งการทำตลาดเอ็มวีเอ็นโอเรามองที่เรื่องเอ็มทูเอ็ม และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (ไอโอที)”

3. ดิจิทัล คอมเมิร์ซครอบคลุมธุรกรรมออนไลน์ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง โดยบริษัทจะเปิดตัวบริการขายฝากสินทรัพย์ออนไลน์ผ่านเวบไซต์ Zazzet อย่างเป็นทางการในเดือนมี.ค.ปีนี้ 4. ไอ-สปอร์ตอีกหนึ่งบริษัทลูกที่โดดเด่นของกลุ่มสามารถไอ-โมบาย นอกจากจะมีรายได้ประจำที่สม่ำเสมอจากสัญญาการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก มูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปีแล้ว ยังเตรียมการขยายธุรกิจด้านสปอรต์ มาร์เก็ตติ้งอย่างจริงจังโดยจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในไตรมาส 1 ปีนี้ และวางแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 2560

ส่วนบมจ. สามารถเทลคอม ตั้งเป้ารายได้ 9,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือแล้วมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท ล่าสุดได้งานโครงการสัญญาเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลัก กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลค่า 2,639 ล้านบาท และจากนโยบายส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐ ประกอบกับโครงการขนาดใหญ่ที่เลื่อนประมูลมาปีนี้ จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจไอซีทีอย่างชัดเจน ด้วยโอกาสเข้าร่วมประมูลโครงการมูลค่ารวมกันกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

สายธุรกิจยู-ทราน ซึ่งประกอบธุรกิจสาธารณูปโภค และการไฟฟ้าพลังงานทดแทน CATS, Kampot Power Plant และ Teda ตั้งเป้ารายได้รวม 4,200 ล้านบาท โดยนอกจากรายได้ประจำจาก CATS ประมาณ 1.8 พันล้านต่อปีแล้ว ยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากธุรกิจสายส่งไฟฟ้า

ล่าสุด Teda ได้เซ็นสัญญาจัดหาและก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) รวมมูลค่าโครงการประมาณ 1.2 พันล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือ 2,000 ล้านบาท

ธุรกิจด้านพลังงาน ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อลงทุนอีกหลายโครงการ อาทิ ระบบควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศลาว, โครงการสายส่งไฟฟ้าที่ประเทศเมียนมา, โรงไฟฟ้าขยะ, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ที่ประเทศกัมพูชา และมีแผนเข้าประมูลในโครงการอื่นๆ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

สายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้ารายได้รวม 2,300 ล้านบาท โดยบมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1,300 ล้านบาท อีก 1,000 ล้านบาทจะมาจากวิชั่นแอนด์ ซีเคียวริตี้ ซิสเต็ม