กทม.รณรงค์รักปลอดภัย รับวัน 'วาเลนไทน์'

กทม.รณรงค์รักปลอดภัย รับวัน 'วาเลนไทน์'

กทม.รณรงค์รักปลอดภัย รับวัน “วาเลนไทน์” เล็งแจกถุงยางฯ 6 ล้านชิ้นตลอดปี คาดมีผู้ติดเชื้อ “เฮชไอวี” เพิ่ม 2 พันคน

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นวันที่คนไทยส่วนใหญ่แสดงความรักต่อกัน โดยจากผลสำรวจต่างๆ พบว่า วัยรุ่นไทยให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ในระดับปานกลาง และคิดว่าจะตัดสินใจหากแฟนขอมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ โดยให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ให้เพราะรัก แต่การมีเพศสัมพันธ์นั้นโอกาสที่ผู้หญิงจะพลาดพลั้งมีสูง และมีความเสี่ยงการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กทม.จึงได้เตรียมกิจกรรมวันวาเลนไทน์ รักเป็น...รักปลอดภัย ที่ หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยจะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง รวมทั้งสร้างความตระหนักให้เกิดทัศนคติในเชิงบวก ต่อการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ ภายในงานจะมีกิจกรรมทอล์กโชว์ ที่จะบอกเล่าเคล็ดลับการดูแลความรัก กิจกรรมเลิฟแฟร์ ประกอบด้วย การให้ความรู้เรื่องถุงยางอนามัย การให้ความรู้เรื่องยาต้านไวรัส ป้องกันก่อนสัมผัส การให้ความรู้เรื่องท้องไม่พร้อม การแนะนำห้อง แชทรูม เลิฟแคร์ สเตชั่น การตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ กทม.ได้คาดการณ์ว่าในปี 2560 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 77,555 คน เป็นกลุ่มทราบว่าตนเองติดเชื้อและมีชีวิตอยู่ 59,118 คน โดยในจำนวนนี้ได้รับยาต้านไวรัส 48,269 คน สำหรับในปี 2560 จะคาดการณ์มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉพาะกรุงเทพฯ มีจำนวน 2,201 คน อายุน้อยกว่า 25 ปี มีจำนวน 1,214 คน คิดเป็นร้อยละ 55.2 ขณะที่ปี 2559 ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 63,471 คน ทราบว่าตนเองติดเชื้อและมีชีวิตอยู่ 33,605 คน โดยในจำนวนนี้ได้รับยาต้านไวรัส 2,631 คน ส่วนสถานการณ์เอดส์ในพื้นที่พบว่ามีจํานวนผู้ป่วยเอดส์สะสมตั้งแต่ปี 2527 ถึงวันที่ 31 ต.ค.2559 พบ 46,939 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 36,870 ราย เสียชีวิต 10,069 ราย โดยผู้ป่วยเอดส์ ส่วนใหญ่พบเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในอัตราส่วน 2.6 : 1 ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 80.03 และส่วนใหญ่ร้อยละ 60.79 มีอายุระหว่าง 25 - 39 ปี เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงาน และร้อยละ 39.24 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาคือ อาชีพผู้ว่างงานร้อยละ 14.62 

นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มอายุที่พบว่ามีการเสียชีวิตมากที่สุดคือ 30-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.15 สําหรับกลุ่มเด็กอายุ 0 - 4 ปี ป่วยเป็นเอดส์ 1,105 ราย เสียชีวิตแล้ว 280 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.78 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเอดส์ที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยเอดส์ คือ การติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธุ์ ร้อยละ 80.03 รองลงมาคือปัจจัยเสี่ยงจากยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นร้อยละ 9.32 พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เท่ากับร้อยละ 8.89 และ 0.43 ตามลําดับ ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการติดเชื้อจากมารดาพบร้อยละ 3.21 และรับเลือด 0.01 สำหรับจํานวนผู้ป่วยเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งได้รับรายงาน ตั้งแต่เดือนม.ค. – ต.ค.2559 แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสูงมี 2 เขต คือ เขตดินแดง มีผู้ป่วยเอดส์มากที่สุด 38 ราย รองลงมาเขตบางกะปิ 30 ราย 

ระดับกลางมี 6 เขต และระดับต่ำมี 41 เขต เขตจตุจักรมีจํานวนผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ 11 ราย

นายทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วง 5 ปีล่าสุดนี้ พบผู้ป่วยเอดส์ในปี 2554 จำนวน 1,234 ราย เสียชีวิตจำนวน 195 ราย ปี 2555 จำนวน 1,038 รายเสียชีวิตจำนวน 126 ราย ปี 2556 จำนวน 900 ราย เสียชีวิตจำนวน 121 ราย ปี 2557 จำนวน 734 เสียชีวิตจำนวน 107 ราย ปี 2558 จำนวน 637 ราย เสียชีวิต 82 ราย ซึ่งพบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปี 2560 กทม.ได้ของบประมาณจัดซื้อถุงยางอนามัย จำนวน 6 ล้านบาท เตรียมถุงยางอนามัย จำนวน 6 ล้านชิ้น เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยได้กระจายอยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน ในการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อม และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย