สื่อสารเชิงบวกในยุคออนไลน์

สื่อสารเชิงบวกในยุคออนไลน์

กรมสุขภาพจิต แนะ วัยรุ่นเปลี่ยนบรรทัดฐาน สร้างสังคมเชิงบวกในยุคออนไลน์

กรมสุขภาพจิต แนะ วัยรุ่นเปลี่ยนบรรทัดฐาน สร้างสังคมเชิงบวกในยุคออนไลน์

นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงพฤติกรรมการเลียนแบบของวัยรุ่นในยุคสังคมออนไลน์ ว่าเป็นเรื่องปกติ ที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่แสวงหาต้นแบบต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูงและสังคมมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ในบางเรื่องตามแนวโน้ม และบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งบุคคลต้นแบบ หรือไอดอล จะเป็นคนรอบข้าง พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือ ดารา นักร้อง นักแสดงที่แต่ละยุคแต่ละสมัยจะมี idol แตกต่างกันไป เช่น สมัยคุณพ่อคุณแม่ ไอดอลคือ เอลวิส เพรสลีย์ เสื้อผ้า หน้าผมของวัยรุ่นสมัยนั้นก็จะออกแนว ร็อก แอนด์ โรล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน เมื่อ โซเชี่ยลมีเดียได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้บุคคลทั่วไปเป็นไอดอล หรือ เน็ตไอดอลได้ง่ายขึ้น ทุกคนเป็นดาราได้ ผ่านการใช้ Instragram, Facebook หรือ YouTube เป็นต้น ซึ่ง ถ้าต้นแบบมีการสื่อสารในทางที่ดี สื่อสารเชิงบวก คนในสังคมก็ย่อมจะคิดบวก ทำความดีแต่หากสังคมยอมรับต้นแบบที่ไม่ดีมากๆ คนในสังคมก็ย่อมชินชาเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนเกิดเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีของสังคม

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การสื่อสารผ่านโซเชี่ยลมีเดียสามารถสื่อสารออกไปได้ง่ายและรวดเร็ว ในวงกว้าง เป็นสื่อแบบ One to Manyการควบคุมจึงลำบาก ไม่มีมาตรฐานจริยธรรมกำกับ เหมือนสื่อหลักการเผยแพร่สิ่งต่างๆ ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย จึงขาดการกลั่นกรองขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง กลายเป็นข่าวลือ ข่าวลวง สร้างความตระหนกให้เกิดขึ้นในสังคมได้ อีกทั้งการโพสต์การแชร์ด้วยคิดว่าเดี๋ยวจะตกข่าว ตก Trend โดยรีบเผยแพร่/ส่งต่อข้อมูลหรือภาพต่างๆ ในทันทีไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น การส่งต่อภาพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์หรือ ภัยพิบัติต่างๆ เป็นการซ้ำเติมครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจขึ้นได้


ดังนั้น จึงต้องมีสติให้มากคิดไตร่ตรอง สืบค้น หาข้อเท็จจริง ที่มาที่ไปให้ดีก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์ ตลอดจนเลือกรับแต่สิ่งที่ดี จากต้นแบบที่ดีวัยรุ่น จึงควรพยายามเปลี่ยนบรรทัดฐานของกลุ่มโดยชื่นชอบบุคคลต้นแบบที่ดี เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเข้าสู่วังวนที่ไม่ดี เช่น ใช้คำพูดรุนแรง ยกพวกตีกันซึ่งหากบรรทัดฐานในกลุ่มเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมจะขยายวงกว้างขึ้นกลายเป็นสังคมที่มีแต่การทะเลาะวิวาท ดังสุภาษิตที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” เข้าเมืองไหนก็เป็นแบบนั้นหากอยู่ในสังคมที่มีแต่เพื่อนติดยา ก้าวร้าว อันธพาลเราก็จะกลายเป็นแบบนั้น แต่หากวัยรุ่นเปลี่ยนบรรทัดฐานของสังคมที่ดีให้เกิดขึ้นในกลุ่มเล็กๆ ของตัวเองได้ พฤติกรรมและสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นนี้ย่อมขยายวงกว้างออกไป เป็นสังคมที่มีแต่สิ่งดีๆ

ซึ่งกรมสุขภาพจิตเอง ก็มีโครงการ To Be Number One Idolเยาวชนต้นแบบเก่งและดี ที่เราต้องการสร้างต้นแบบให้กับเยาวชนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นดารา แต่ต้องมีความใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา มีพฤติกรรมที่ดีไม่เป็นอันธพาล ไม่ทำร้ายผู้อื่นซึ่งพวกเขาจะกลายเป็นวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ของประเทศที่จะช่วยสร้างสังคมเชิงบวกต่อไปได้รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว