รอยสตั๊ด : คำตอบสุดท้ายฟุตบอลไทย?

รอยสตั๊ด  :  คำตอบสุดท้ายฟุตบอลไทย?

มีคำกล่าวที่ว่า “เงินสามารถซื้อทุกอย่างได้" ในความเป็นจริง อาจจะใช่ในบางเรื่อง

 แต่กับการบริหารองค์กรลูกหนังนั้น เงินเพียงอย่างเดียว ก็มิอาจสร้างความสำเร็จดังใจหวัง เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน นั่นก็คือการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส 

น่าเสียดาย ในยุคที่ฟุตบอลไทยมีมูลค่าทางธุรกิจ แต่เราก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ในสมัยที่ ฟีฟ่า องค์กรผู้ควบคุมกีฬาลูกหนังของโลกใบนี้ ยังมีกฎข้อห้ามไม่ให้สโมสรและทีมชาติของแต่ละประเทศ ขอรับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ในทุกรูปแบบ ทั้งการแข่งขันระดับสโมสรและระดับชาติ จึงยิ่งเป็นเรื่องยากลำบาก ต่อวงการฟุตบอลไทยสมัยก่อนปี พ.ศ. 2500

จนเมื่อ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ระหว่าง พ.ศ. 2504-2516 นั้น สมาคมมีหนี้สินหลายแสนบาท ก่อนที่ “ลุงต่อ” ของนักข่าวกีฬาสมัยนั้น พร้อมด้วยเลขาฯคู่บารมี คือ มรว.แหลมฉาน หัสดินทร จะเข้ามาบริหารจัดการ จนทำให้สามารถปลดหนี้สินได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี นอกจากนี้ยังมีเงินเหลือเก็บกว่า 1 ล้านบาท

การหารายได้ของสมาคม คือการจัดแข่งขันฟุตบอลแมทช์พิเศษ ระหว่างทีมกรุงเทพผสม กับสโมสรจากยุโรป เอเชีย อเมริกาใต้ รวมถึงทีมชาติระดับโลก ภายหลังจบรายการทุกถ้วยภายในประเทศแล้ว จึงเรียกเก็บเงินค่าผ่านประตูได้เป็นกอบเป็นกำ ตามด้วยการขอรับเป็นเจ้าภาพลูกหนังเยาวชนแห่งเอเชียเป็นครั้งแรก ด้วยความศรัทธาของแฟนบอลชาวไทย ทำให้สามารถขายบัตรได้อีกกว่า 2 ล้านบาทตลอดทัวร์นาเมนท์

นอกจากนี้ เมื่อทีมชาติไทยเดินทางไปแข่งขันนอกประเทศ จะมีการหักเงินรางวัลหรือเงินสนับสนุนทีมส่วนหนึ่งเข้าสมาคม จนสามารถรวบรวมเงินไปซื้อที่ดินเพื่อเตรียมสร้างสนามฟุตบอลและสำนักงานถาวรของสมาคม หากแต่ “ลุงต่อ” หมดวาระลง กลับมีคนนำที่ดินดังกล่าวไปขายจนเป็นคดีความ และนั่นจึงเป็นการสิ้นสุดอีกหนึ่งยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลเมืองไทย

ขณะที่ในปัจจุบัน ยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อกลุ่มทุนเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนบริหารอย่างเต็มรูปแบบ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จึงเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ มีการสนับสนุนทั้งทุนทรัพย์และสิ่งของในรูปแบบต่างๆ ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท 

น่าเสียดายที่ในหลายยุคหลายสมัยของสภาลูกหนังที่ผ่านมา เม็ดเงินมหาศาลเหล่านั้น ดูเหมือนจะยังไม่ได้สร้างอะไรเป็นรูปธรรม ให้ปรากฏเป็นที่น่าเชื่อถือว่าเราได้เข้าใกล้ความเป็นมืออาชีพอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คงมีแต่แผนงานสวยหรูบนหน้ากระดาษเท่านั้นเอง