‘Prime’ วันสต็อบในเรื่อง ‘นาโน’

‘Prime’ วันสต็อบในเรื่อง ‘นาโน’

“นาโนมันกว้างมาก ซึ่งเราคงไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง แต่จะสามารถให้คำแนะนำได้ในทุก ๆเรื่องเกี่ยวกับนาโน”

ณัฐพล คุปต์เสถียรวงศ์ (นิว) ผู้ก่อตั้ง,ซีอีโอ Prime nano technology (ไพร์ม นาโน เทคโนโลยี) บอกถึงเป้าหมายใหญ่ที่ได้ตั้งใจ เพราะว่าค้นพบความชื่นชอบของตัวเองแล้วว่า "ชีวิตนี้มีแต่นาโน"

ตัวเขาสอบเข้าเรียน สาขาวิศวกรรมนาโน คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรุ่นที่สอง เรียกว่าตอนนั้นนาโนยังเป็นเรื่องใหม่ เป็นเทรนด์แห่งอนาคต

"ผมยังเป็นรุ่นแรกที่สอบเอเน็ต โอเน็ตอีกด้วยซึ่งก็วุ่นวายมาก และมีช้อยส์ให้เลือกเยอะ มีให้สอบตรงได้ด้วย ผมสอบติดทั้งคณะบัญชี และวิศวะนาโน แต่ก็เลือกนาโนเพราะมันใหม่น่าสนใจเลยอยากลองดู ตอนเรียนเราก็ไม่รู้อะไรมากว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร รู้แค่ว่าก็เรียนแล้วสนุก"

ซึ่งในการเรียนมีข้อกำหนดว่าเมื่อเรียนถึงปีสามจะต้องมีฝึกงาน และถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตนิวเลยก็ว่าได้ เพราะเพื่อน ๆส่วนใหญ่วางแผนจะไปฝึกงานที่ต่างประเทศ บ้างก็ไม่ไปไกลเลือกบริษัทใหญ่ ๆในไทย ขณะที่นิวตัดสินใจเดินตรงไปหา “ศ.ดร. สนอง เอกสิทธิ์” ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อขอฝึกงาน

"ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าไปฝึกงานเมืองนอกแค่สองสามเดือนคงไม่ค่อยได้อะไร แต่ก่อนหน้านี้ทางภาควิชาเคยอาจารย์สนองมาพูดให้ฟังเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซิลเวอร์นาโนให้ผลิตภัณฑ์ของเปาซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ดังมากในตอนนั้น ก็มองว่าอาจารย์คนนี้แหล่ะที่อยากทำงานด้วย"

ตั้งแต่ตอนนั้นเลยทำให้นิวได้เรียนรู้และลงลึกในเรื่องของซิลเวอร์ นาโน จนมีความต้้งใจว่าจะไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอกด้านนาโน เวลานั้นเขาอยากจะเป็นคนแรกที่เรียนจบตรี โท เอก ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาโน คือถ้าใครคิดถึงเรื่องนาโนก็ต้องเดินเข้ามาหาเขา

นิวเลือกไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยซานดิเอโก แต่ระยะเวลาหนึ่งปีในการเตรียมตัว เขาก็ได้ไปช่วยอาจารย์สนองทำเรื่องสิทธิบัตร และเมื่อบินไปเรียนต่อที่อเมริกาเขาก็ได้เข้าเวิร์คชอบเรื่องของสิทธิบัตร และทำให้ปิ๊งกับแนวคิดที่ว่า ถ้าตัดสินใจเรียนนาโนยาวๆไปถึงปริญญาเอกแน่นอนว่าปลายทางต้องเป็นนักวิชาการ ซึ่งเอาเข้าจริงเขารู้สึกได้ว่าชีวิตคงไม่สนุกนัก

"เลยไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยว่าขอจบแค่โทก่อนแล้วกัน ผมอยากกลับไทยลองมาทำงานเกี่ยวกับสิทธิบัตรก่อน ถ้าไม่ชอบก็ค่อยไปเรียนต่อ แล้วก็ได้มาช่วยงานคณะวิทย์ช่วยรวบรวมงานวิจัยทั้งหมดว่าอะไรบ้าง มีจดสิทธิบัตรกี่อัน อันไหนที่พร้อมขายแล้วผมก็ช่วยไปดีลงานกับเอกชน ซึ่งผมก็แฮบปี้ดี และได้ค้นพบว่างานวิจัยขายได้ แต่ที่ผ่านมามันขึ้นห้างไม่ได้เพราะขาดคนกลางที่คอยเชื่อมระหว่างเอกชนกับอาจารย์ซึ่งมักแฮบปี้ในบทบาทของนักวิจัยเท่านั้น พอคิดอะไรขึ้นมาแล้วใครอยากจะเอาไปทำอะไรต่อก็เชิญ"

นิวจึงไปขออาจารย์สนองเพื่อนำเอาซิลเวอร์ นาโน มาทำเป็นธุรกิจและได้รับความเมตตา จากนั้นก็ไปชวนเพื่อนๆ 5 คนมาลงขันคนละหนึ่งแสนบาทก่อตั้ง ไพร์ม นาโน เทคโนโลยี ในปี 2556 ทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์ คอยป้อนวัตถุดิบนาโนให้กับโรงงานผลิตของเอสเอ็มอี รวมถึงอาจารย์ ตลอดจนนักวิจัยที่ต้องการนำเอาไปค้นคว้า ศึกษา

“แผนในวันนั้นกับวันนี้ของเรายังเป็นเหมือนเดิม คือเป็นวันสต็อบเซอร์วิสของนาโน แม้จะไม่ใช่ซิลเวอร์นาโนแต่เป็นวัตถุดิบอื่นที่เป็นนาโนซึ่งเราไม่ได้ทำเอง เราก็จะไปช่วยเสาะหา และเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้า”

ยอมรับว่าในช่วงแรก ๆ เป็นการมอง “โลกสวย” คือคิดว่าทุกอย่างน่าจะทำได้โดยง่าย เพราะซิลเวอร์นาโนมีชื่อเสียงแล้ว แค่นำเอามาปรับจูนเพื่อให้สอดคล้องกับโรงงานผลิตสินค้าไลน์อื่นๆ เท่านั้น ซึ่งใครอยากทำก็ไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่เพื่อไลเซนส์ เพราะไพร์มฯ ไลเซนส์มาแล้วและสามารถขายเป็นผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้เลย

"ตอนแรกเราโฟกัสทำซิลเวอร์นาโนเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งก็ได้ลูกค้าตั้งแต่วันแรกเลย เป็นคอนเน็คชั่นที่เคยคุยกับอาจารย์สนองตั้งแต่แรก แต่เราก็มาเจอโลกความจริงว่ามันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะความแตกต่างอย่างหนึ่งเวลาโรงงานเดินมาหาแล็บหรืออาจารย์สนองก็คือ เขาจะเปิดข้อมูลระดับหนึ่ง ว่ามีเครื่อง มีระบบ มีสูตรอย่างไร การพูดคุยก็เป็นแบบหนึ่ง แต่พวกเราเป็นเด็กท่าทีมันก็เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นกว่าเราจะปิดจ็อบหนึ่งได้จึงเป็นความยาก"

  เหตุผลมีสองข้อ ข้อแรกเพราะลูกค้าไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ข้อสอง โรงงานเอสเอ็มอีไม่มีอาร์แอนด์ดี ซึ่งการซื้อวัตถุดิบนาโนไปนั้นใช่ว่าจะทำสินค้าได้เลย ต้องมีการวิจัยพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมกับเครื่องจักร หรือระบบต่างๆที่โรงงานมีอยู่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางไพร์มฯ ที่จะต้องพัฒนาให้กับลูกค้า

"ปีสองปีแรกเหมือนเราพายเรือวนในสระ แต่พอปลายปี 2558 เราก็คิดว่าต้องทำโปรดักส์เป็นของตัวเองเพื่อสร้างความรับรู้มากขึ้น เพราะเวลาไปออกบูธและแค่โชว์วัตถุดิบที่เป็นซิลเวอร์นาโนอย่างเดียวคนมักไม่ค่อยเก็ท เราเลยทำโปรดักส์ที่จะโชว์ประโยชน์จากซิลเวอร์นาโนว่า มันทำอะไรได้บ้าง มันเจ๋งอย่างไร อย่างเช่น Be Jeans สเปรย์ระงับกลิ่นและฆ่าเชื้อแบคทีเรียสำหรับยีนส์"

นิวบอกว่าที่เป็นกางเกงยีนส์ เพราะเป็นความสนใจส่วนตัว เนื่องจากตัวเขาเองนิยมชมชอบการใส่ยีนส์ ทำให้รู้ว่าถ้านักเลงยีนส์จริงๆ ไม่คิดจะซักอย่างดี เพราะทั้งเหงื่อ หรือฝุ่นที่สะสมกันนานๆเข้า ยีนส์มันจะเกิดเป็นลายของตัวเองที่ไม่ซ้ำแบบกับใคร

"ถ้าเราจับตลาดรองเท้าก็มีสินค้าดับกลิ่นที่วางขายในราคาไม่กี่สิบบาทอยู่แล้ว แต่ซิลเวอร์ นาโนเป็นนวัตกรรมและเราก็อยากรักษาภาพลักษณ์ซึ่งมันควรเป็นอะไรที่เป็นลิมิเต็ดเอ็ดดิชั่น ราคาไม่ควรโลว์ ยีนส์มันแพงตัวละสองสามหมื่น กับสเปรย์ที่เราทำขายสามสี่ร้อยบาทก็สมเหตุสมผล"

ยังมีสินค้าอีกสองสามตัวที่ไพร์มฯทำขึ้นมา อย่างไรก็ตามนิวบอกว่าไม่คิดทำสินค้าหรือสร้างแบรนด์ให้มากมายไปกว่านี้ เพราะไพร์มฯ ได้กำหนดบทบาทตัวเองว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ป้อนวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรม  ด้วยมีพื้นฐานเป็นความเชี่ยวชาญด้านการผลิต การควบคุมคุณภาพ แต่ไม่ได้เก่งเรื่องสร้างแบรนด์หรือการเข้าถึงลูกค้า

  "แต่นาโนมันก็มีปัญหาในเรื่องต้นทุน วัตถุดิบมีราคาแพงซึ่งกำลังแก้ไขอยู่ เพราะอยากให้วัตถุดิบเราไปถึงทุกคน ในราคาที่ไม่สูง ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม แต่อีกทางหนึ่ง เราก็ไม่ได้ต้องการขายวัตถุดิบเพื่อให้ลูกค้าทุกรายเอาไปทำสินค้าที่เหมือนกัน เราอยากได้ลูกค้าที่มีไอเดียมาก่อนว่าอยากทำอะไร และเขากับเราก็มาช่วยกันคิดว่าจะเอาซิลเวอร์นาโนไปพัฒนาต่อได้อย่างไร เราอยากให้เอสเอ็มอีเมืองไทยเป็นแบบนี้"

ส่วนแผนการเติบโตของไพร์มฯ ในวันข้างหน้า นิวบอกว่าที่ตั้งใจไว้คืออยากได้นักลงทุนเองเจิ้ล ยิ่งเป็นคนที่อยู่ในวงการเคมี และเชี่ยวชาญเรื่องการนำเข้าส่งออกก็ยิ่งดี เพราะน่าจะเป็นหุ้นส่วนที่ลงตัวที่สุด

“และถ้าเขามีความเชี่ยวชาญเรื่องอาร์แอนด์ดีก็ยิ่งดีมากๆ เพราะไพรม์ฯ มันคืออาร์แอนด์ดีเฮ้าส์ เหมือนเป็นซอฟท์แวร์เฮ้าส์ของธุรกิจสายเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้เรามีโปรเจ็คที่อยากทำเยอะมาก แต่แม้นาโนจะมีประโยชน์ มีแวลลูมากแต่มันเป็นแค่กิมมิคเท่านั้น เอาเข้าจริงประเด็นสำคัญที่เราต้องคิดก็คือ การตอบโจทย์ของลูกค้าให้ได้จริงๆ”

พางานวิจัยขึ้นห้าง

ภารกิจผลักดันงานวิจัยมาขึ้นหิ้งของไพร์มฯ เวลานี้ดำเนินมาเป็นเวลาสามปีแล้ว ซึ่งนิวบอกว่าประสบการณ์ที่ผ่านมายืนยันว่า ตลาดนวัตกรรมขาดคนตรงกลางที่เชื่อมระหว่างนักวิจัยกับเอกชนอย่างที่ได้รู้มาตั้งแต่แรก

"ตอนนี้ตัวผมเองก็พยายามสนับสนุนนักวิจัยที่รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ให้มีทักษะในการนำผลงานนำเอามาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อจะได้ช่วยลดปัญหางานวิจัยขึ้นหิ้งให้มากขึ้น เพราะเด็กรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจส่วนตัวก็น่าจะมีโอกาส ผมว่าเป็นทางออกที่ดี"

ขณะเดียวกัน ภาครัฐ มหาวิทยาลัยก็ต้องให้การสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องของกฏหมายระเบียบต่างๆ เพราะนาโนไม่ต่างกับสมุนไพรไทยซึ่งแม้มีผลเทสต์ในเบื้องต้นว่าดี มีความปลอดภัย แต่พอคิดเอามาทำเป็นสินค้าขายจริงๆ ก็ต้องฟันฝ่าด่านมาตรฐานต่างๆอีกมากมาย

"บางทีค่ามาตรฐานก็ไม่เที่ยงเพราะใช้ดุลยพินิจของคน และคนที่ทำเป็นคนแรกมักลำบากเสมอ ต้องพยายามเทสต์จนผลมันโอเค ซึ่งคนมาทำทีหลังไม่ต้องทำอะไรเลยทางโล่งสะดวก  ผมว่าน่าจะมีอะไรที่ช่วยหรือต้องให้คนที่สองผ่านกระบวนการเดียวกัน ไม่ใช่ให้คนทำคนแรกต้องเหนื่อย พอทำได้คนอื่นก็มาก้อบปี้ได้ง่าย"

นิวบอกว่าอีกทางหนึ่งที่ทำอยู่ก็คือ เร่งสร้าง “คอมมูนิตี้นาโน” โดยคอนเน็กเครือข่ายนาโน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่ทำนาโน หรือบริษัทที่ทำสินค้านาโนทั้งหมด เพราะชุมชนนาโนจะต้องเติบโตก้าวไปข้างหน้าร่วมกันถึงจะยั่งยืน