'สุวิทย์' เผย25ม.ค. ถกตัวแทนแม่น้ำ3สาย กรองวาระปฏิรูป

'สุวิทย์' เผย25ม.ค. ถกตัวแทนแม่น้ำ3สาย กรองวาระปฏิรูป

"สุวิทย์" เผย25ม.ค. ถกตัวแทนแม่น้ำ3สาย กรองวาระปฏิรูป รับ "อำพน" นั่งเลขาฯ พีเอ็มดียู ย้ำปรองดองไม่คุยเรื่องนิรโทษ

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ว่า ในวันที่ 25 ม.ค. จะเป็นการประชุมตัวแทนแม่น้ำ 3 สาย หรือวิป 3 ฝ่าย คือ ตัวแทนสนช. สปท. และรัฐบาล เพื่อผลักดันการปฏิรูปที่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพราะขณะนี้ต่างคนต่างขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งการหารือในวันดังกล่าวเพื่อเตรียมประชุมเชิงปฏิบัติการ ในวันที่ 1 ก.พ. โดยมีวาระสำคัญที่หารือกันคือ นำงานที่เกิดจากการปฏิรูปของทั้ง 3 ส่วนมารวมกันและดู ในเรื่องสำคัญสูงสุด ที่จะออกม่เป็นรูปธรรมในปีนี้ และจะดูบทบาทของแม่น้ำ 3 ฝ่าย โดยมีสปท. เป็นพระเอกในการขับเคลื่อน ในเรื่องสำคัญ 5 เรื่อง และกรอบการปฏิรูปที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญใหม่คือการปฏรูปการศึกษา และปฏิรูปตำรวจ                                                    

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ขณะที่บางส่วนจะต้องผลักดันเป็นกฎหมาย ก็ให้สนช.รับไปดำเนินการ นอกจากนั้นจะหารือถึงองค์ประกอบคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมนั้นจะประกอบด้วยใครบ้าง และจะปรับปรุงการทำงานของวิป 3 ฝ่าย ให้เข้ามาเป็นคณะทำงาน ของคณะกรรมการแต่ละชุดหลังมีการกำหนดวาระเรื่องการปฏิรูปแล้ว โดยจะมีกรรมาธิการของสนช. และสปท.เข้ามาเป็นกรรมการร่วมด้วย โดยผลที่ได้จากการคุยในวันดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่ใช้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ                                                       

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อสังเกตว่าคณะกรรมการเตรียมการปรองดองมีสัดส่วนของทหารเป็นจำนวนมาก นายสุวิทย์ กล่าวว่า ในภาพรวมของป.ย.ป. นายกฯจะนั่งเป็นประธาน และมีรองนายกฯ รมต.ประจำสำนักนายกฯ รมว.คลัง รมว.มหาไทย เป็นตัวยืน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เมื่อแยกเป็นชุดย่อย 4 คณะก็มีรองนายกฯ เป็นตัวหลัก ซึ่งคณะเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ดูแล ส่วนที่เหลืออาจมีการปรับเปลี่ยนได้ โดยประธานสปท. เข้ามาร่วม หากไปเกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมายจะมีฝ่ายกฤษฎีกาเข้ามาร่วม อย่างไรก็ตามสำหรับรายชื่อคณะกรรมการป.ย.ป.ทั้งหมดที่อยู่ระหว่างหารือ แต่ต้องดำเนินการให้ทันวันที่ 1 ก.พ.นี้ โดยวันที่ 30 ม.ค. จะมีการประชุมมินิคาบิเนตครั้งที่ 2 จะมีการหารือเรื่องของกระทรวงคมนาคม จะมีทั้งเรื่องรถไฟ รถไฟฟ้า ขณะที่คณะกรรมการชุดปรองดองคาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการพูดคุยกัน                                       

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายห่วงว่าการปรองดองมีเงื่อนไขหลายอย่างอาจทำให้เกิดผลสำเร็จยาก นายสุวิทย์กล่าวว่า จากที่นายกฯและพล.อ.ประวิตรเคยระบุไว้ว่าการปรองดองเกิดจาก 1.เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างไรเพราะเราต้องมองอนาคตประเทศเป็นสำคัญ 2.อะไรที่ผิดกฎหมายคงไม่เอา และยืนยันว่าคสช.และรัฐบาลไม่ใช่คู่กรณีใคร ซึ่งการปรองดองไม่ได้จำกัดอยู่แค่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเท่านั้น แต่เราเปิดกว้างให้กับทุกฝ่าย อาทิ นักวิชาการ ประชาชนทุกฝ่าย เพียงแต่ว่าครั้งนี้เราเปิดกว้างให้ในลักษณะมองที่เหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และหลังจากนั้นเงื่อนไขความขัดแย้งได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะความขัดแย้งเริ่มคลายตัวลงและมีทิศทางมากขึ้น รวมถึงเห็นอนาคตของประเทศ จึงอย่างให้ทุกอย่างฝ่ายมาช่วยกันในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งความสามัคคีปรองดองเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่เราต้องคำนึงถึงการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติจึงทำให้พล.อ.ประวิตรได้หยิบยกเอา 10 ประเด็นสำคัญๆ เอามาเป็นตัวตั้งในพูดคุยกันมากกว่าการนำเอาประเด็นความขัดแย้งเดิมของทั้ง 2 ฝ่าย เราทุกฝ่ายต้องเปิดใจและเดินไปข้างหน้าด้วยกัน                                                  

นายสุวิทย์ กล่าวว่า การที่ทุกฝ่ายเข้ามาหารือเรื่องการปรองดองหรือไม่นั้นอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจไม่ใช่เรื่องการบังคับกัน เพราะเมื่อเรามานั่งคุยกันเสร็จหน้าที่ของรัฐบาลคือการรับฟังว่าแต่ละฝ่ายว่ามองเห็นอะไรบ้าง มีอะไรที่เป็นจุดร่วมและอะไรที่เป็นจุดต่างเราก็ถกกันต่อ ส่วนจุดต่างบางจุดที่จำเป็นจะต้องปลดล็อกด้วยกฎหมาย บางเรื่องต้องปลดล็อกด้วยมาตรา 44 ก็ขอให้บอกรัฐบาลมาเราจะทำเท่าที่เราทำได้ตามกรอบที่ 1.ไม่มีเรื่องที่ผิดกฎหมาย 2.ไม่พูดถึงการเรื่องอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมกันตั้งแต่ต้น เพราะเราอยากให้ทุกฝ่ายมองอนาคตและเดินหน้าประเทศไปด้วยกันมากกว่า เน้นการสร้างจุดร่วมสงวนจุดต่างกันมากกว่า ไม่มองแต่อนาคตและคู่ขัดแย้ง แต่เรามองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ                                            

เมื่อถามว่า ขณะนี้นายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกฯ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ตอบรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกฯ (พีเอ็มดียู) นายสุวิทย์กล่าวสั้นๆ ว่า “ผมว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”