'ฟินเทค'จุดท้าทาย'แบงก์' ปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4.0

'ฟินเทค'จุดท้าทาย'แบงก์' ปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4.0

นายแบงก์หลายคนมองว่า การเข้ามาของฟินเทคทำให้ ธุรกิจ “ธนาคารพาณิชย์” กลายเป็นคนอ้วนที่ดู “อุ้ยอ้าย”

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี หรือที่เรียกกันว่า “Disruptive Technology” แม้จะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานมากขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการแล้ว หากก้าวไม่ทันเทคโนโลยีเหล่านี้ หรือไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่พร้อมจะก้าวตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ ธุรกิจดังกล่าวอาจต้องล้มหายตายจากไปในท้ายที่สุด

สถาบันการเงินถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ “ตื่นตัว” กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ เทคโนโลยีการเงิน หรือ “ฟินเทค” ..นายแบงก์หลายคนมองว่า การเข้ามาของฟินเทคทำให้ ธุรกิจ “ธนาคารพาณิชย์” กลายเป็นคนอ้วนที่ดู “อุ้ยอ้าย” จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งหันมาให้ความสำคัญกับฟินเทค

“ธนา เธียรอัจริยะ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัน เวนเจอร์ส จำกัด เป็นธุรกิจในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า “แบงก์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบที่รวดเร็วและรุนแรงภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ new normal ที่เสมือน “แม่น้ำที่กำลังเปลี่ยนทิศ”

ในช่วง4-5ปีที่ผ่านมา ด้วยพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป พบว่า คนจะยกโทรศัพท์ขึ้นมาดู 400 ครั้งต่อวัน และการพัฒนาของธุรกิจในรูปแบบโมเดลใหม่ที่มีนวัตกรรมใหม่ หรือ ฟินเทค ที่พยายามทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนโลก "ในขณะที่"แบงก์" แม้ยังเป็นธุรกิจที่มีกำไร แต่ "อุ้ยอ้าย"

ธนา มั่นใจว่า ฟินเทค และเทคโนโลยีที่มีจำนวนฐานผู้ใช้ผ่านระบบจำนวนมาก อย่างเช่น ไลน์ จะมีผลกระทบ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบแบงก์และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องอย่างแน่นอน

“เชื่อหรือไม่ว่า ในวันที่ สตาร์ทอัพฟินเทคของไทย อย่าง ”Refin“ เป็นระบบวิเคราะห์สินเชื่อ เปิดตัวครั้งแรก ชื่อRefin เป็นหัวข้อที่คนไทยสนใจอ่านมากที่สุด เป็นอันดับ3ในวันนั้น แน่นอนว่า จะกระทบแบงก์ และปัจจุบัน บล็อกเชน กำลังเป็นฟิคเทคที่น่าสนใจอย่างมาก และมองว่า จะกระทบระบบแบงก์ อย่างมีนัยสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”

ส่วนปัญหาด้านความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี นายธนา มองว่า “เทคโนโลยีไม่ผิด ผิดที่คนใช้” อาจไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ระบบของแบงก์ ถือได้ว่ามีระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสี่ยงในระดับสูงมากกว่ามาตรฐานอยู่แล้ว รวมถึงสามารถตรวจสอบข้อมูลที่อาจจะพบความผิดปกติได้ก่อนด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารเองได้จัดทำโรดแมพรองรับการเปลี่ยนผ่านยุค 4.0 และฟินเทคเข้ามามีบทบาท ด้วยการแยกธุรกิจและใช้โมเดลทดลองใหม่ คือ “ ดิจิทัลเวนเจอร์ส” มุ่งแนวคิดใหม่ว่า “รู้ว่า ตัวเองไม่รู้” จัดตั้งเป็นเวนเจอแคป เพื่อสนับสนุนบริษัทที่มีนวัตกรรมใหม่ ขณะนี้เริ่มเฟสแรกแล้วช่วง7-8เดือนที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งศูนย์ฝึกอบรมและสร้างห้องทดลองฟินเทค

ธนา ย้ำว่า โมเดลนี้ในช่วงแรกก็เห็นต้นกล้าที่เริ่มออกมาได้ดีกว่าเมื่อตอนที่ยังรวมเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจแบงก์

ด้าน “อำพล โพธิ์โลหะกุล” รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย มองว่า "ฟินเทค“ เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับแบงก์ เพราะแบงก์ทำการเปลี่ยนแปลงได้เชื่องช้า แต่แบงก์ยังมี2จุดแข็งของในแง่ ”ความเชื่อมั่น และจำนวนฐานลูกค้าจำนวนมาก เป็นอันดับหนึ่งทั้ง โมบายแบงก์กิ้งและเอสเอ็มอี

ดังนั้น ธนาคาร จึงสร้างโมเดล Real Digital Partnership แบบ win-win กับคู่ค้าต่างๆ ซึ่งในวันนี้ ฟินเทค มีความชัดเจนขึ้น แน่นอนว่า เราคงโตไปด้วยกัน และเราจะไม่ยอมตาย เพราะสุดท้ายสิ่งที่ต้องทำ คือ การเลือกทำธุรกรรมร่วมกันที่ให้ประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากสุด

“โจทย์ตอนนี้คนไม่อยากไปสาขา คนกลางจะถูกบีบมากขึ้น แน่นอนว่า ฟินเทคมาตอบโจทย์นี้ได้มากกว่าระบบของธนาคาร ทำให้เราพร้อมที่จะพัฒนาและสร้างบุคคลกรเข้ามาตอบโจทย์เทคโนโลยีใหม่นี้เช่นกัน”

สำหรับมุมมองความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี นายอำพล มองว่า โมบายแบงก์กิ้ง เป็นระบบที่มีความปลอดภัยระดับสูงและบริการใหม่ พร้อมเพย์ ที่จะเริ่มภายในไตรมาสแรกปีนี้ จะช่วยป้องกันและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า นับว่า เป็นวิวัฒนาการใหม่ที่จะปฏิวัติ ระบบการรับ-โอนเงินและชำระเงินของไทย

“ธนาคารเตรียมขยายวงกว้างนำฟินเทคไปใช้ในบริการและธุรกรรมต่างๆ เช่น อีมันนี่ แน่นอนว่าฟินเทคจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในไทยอีกมากและเป็นโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆให้กับธนาคารด้วย”

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย มองว่า ฟิคเทค คงไม่ได้เข้ามาตีธนาคารจนเจ๊งไป แต่เป็นสิ่งที่ธนาคารไม่สามารถหลบเลี่ยงได้และต้องอาศัยฟินเทคมาช่วยเสริมศักยภาพการบริการ “เราต้องเข้าใจฟินเทคก่อนว่าทำอะไรกันได้”

ทั้งนี้ ฟินเทค คือ บริษัทเล็กๆที่มองหาจุดอ่อนในการให้บริการธุรกรรมของระบบธนาคาร โดยฟินเทคจะพัฒนานวัตกรรมออกมาเป็นส่วนๆและจะมาอย่างรวดเร็ว มีความเชี่ยวชาญ และตอบโจทย์ช่องว่างของระบบ แต่สิ่งที่ ฟินเทค สร้างไม่ได้ คือ ความมั่นใจ เพราะต่อให้สร้างนวัตกรรมได้ทุกอย่าง แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ “ความมั่นใจ” ได้เท่าธนาคาร

ดังนั้น คำถามจึงอยู่ที่ว่า “ธนาคาร”จะปรับตัวเร็วเท่าไหร่ หรือจะมีธนาคารไหนนำนวัตกรรมของฟินเทคมาประกอบใช้ เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนบริการของตัวเอง