'ประยุทธ์'ชี้อยากเห็นกลุ่มการเมือง หันหน้าเข้าหากัน

'ประยุทธ์'ชี้อยากเห็นกลุ่มการเมือง หันหน้าเข้าหากัน

“นายกรัฐมนตรี” ชี้อยากเห็นกลุ่มการเมือง หันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือ ปชช. นำไปสู่ปชต. ที่แท้จริง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกัวหน้าคณะรักษาควสมสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ถึงแก้ไขปัญหาทางการเมืองและการปฎิรูปประเทศว่าเราทุกคนต่างรู้ดี และต่างปรารถนาว่า วันหนึ่งคนไทยด้วยกันเอง จะไม่มีอะไรติดค้างในใจ ไม่มีอดีตที่เจ็บปวด มีแต่อนาคตอันสดใส วันนี้ เราต่างเรียกร้อง “การปรองดอง” ซึ่งต้องรับฟังทุกฝ่าย ทั้งความเห็นตรง และความเห็นต่าง ทั้งจากนักกฎหมาย พรรคการเมือง ประชาสังคม ประชาชน ทั้งนี้ เพื่อหาคำตอบของประเทศให้ได้ว่า เราจะเดินหน้าประเทศไทยไปข้างหน้า และจะช่วยกันได้อย่างไรเจตนารมณ์ของตน คือ อยากเห็นทุกฝ่าย รวมทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง “หันหน้าเข้าหากัน” ร่วมมือกับประชาชนทุกคน ผลักดันประชาธิปไตยที่แท้จริงสู่สังคมไทย และนำพาบ้านเมืองสู่ความสงบสุข และสันติ เราเสียเวลากันมามากแล้ว เราต้องจับเข่าคุยกัน แสดงความจริงใจ ความเสียสละ และแสดงความรักชาติ 

"การแสดงความจริงใจ ความเสียสละ และแสดงความรักชาติผมเชื่อว่ามีอยู่ในสายเลือดคนไทยทุกคนช่วยกันหาแนวทางเดินหน้าประเทศ ด้วยความปรองดอง ในทุกมติ ทั้งความคิด จิตใจ การบังคับใช้กฎหมาย และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต ที่เป็นไปได้จริง แสดงให้ลูกหลานเห็นว่า “ทุกปัญหามีทางออก” ไม่ใช่ว่า “ทุกทางออก...มีแต่ปัญหา” ต้องหาให้เจอ แล้วดำเนินการให้ได้ อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน เรารู้ว่าไม่ง่ายเหมือน “พลิกฝ่ามือ” แต่ก็ต้องเริ่มนับ “1” วันข้างหน้าก็จะครบ “100” หรือสมบูรณ์ ในที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังจาก 2 ปีกว่าที่ รัฐบาลและ คสช. ได้ดำเนินการร่วมกับ “แม่น้ำ” ทั้ง 5 สาย ในมิติที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายรับผิดชอบ “คู่ขนาน” กันไปพร้อมๆ กัน โดยไม่รีรอ แต่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างการรับรู้ เป็นระยะๆ อีกทั้ง เราจำเป็นต้องสร้าง “ความเชื่อมโยง” นำสิ่งที่แต่ละฝ่าย แม่น้ำแต่ละสายได้ทำไว้ ซึ่งแยกย่อยเป็นกิจกรรมย่อยๆ หลายกิจกรรมเราจะนำกิจกรรมเหล่านั้น “ทั้งหมด” มาจัดกลุ่ม จัดระเบียบ ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ภายใต้กรอบใหญ่ กรอบใหม่ที่ร่วมกันกำหนดขึ้น เพื่อให้เกิด “ความประสานสอดคล้อง” ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริม หรือเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องการปฏิรูปของ สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ), การร่างยุทธศาสตร์ชาติ และงานในความรับผิดชอบของ กรธ. (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เราจะเอา “ทุกอย่าง” ที่กล่าวมานั้น มาต่อเป็น “จิ๊กซอว์” เดียวกัน ที่สมบูรณ์ เติมเต็มกัน เป็น “ภาพอนาคตประเทศไทย” ที่เราอยากเห็น เป็นความหวังของเรา เป็นสิ่งที่เราเป็นในวันนี้ ช่วยกันสร้างไว้ ให้กับลูกหลานในอนาคต ปัจจุบันนั้น มีทั้งสิ่งที่ทำแล้ว สำเร็จแล้ว เริ่มต้นแล้ว อาจจะต้องทำต่อ หรือ ยังไม่ได้ทำ แต่ริเริ่มไว้ เตรียมการไว้ เพื่อส่งต่อ ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ต้องนำมาดำเนินการ ให้มีผลในทางปฏิบัติ ให้ได้โดยเร็ว โดยอาจบรรจุไว้ในแผนงานโครงการ และมีงบประมาณรองรับ โดยจัดลำดับความเร่งด่วน ให้ความสำคัญ ให้มีความชัดเจน และทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน มีเป้าหมายร่วมกัน และมีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ที่จะสร้างความยั่งยืน ในรัฐบาลต่อๆ ไป 

“พูดง่ายๆก็คือ เป็นการร่างรูปแบบของการทำงานของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับถาวร ทั้งนี้ เพื่อให้การ เปลี่ยนผ่านประเทศ และ ส่งต่อ แผนงาน โครงการที่รัฐบาลนี้ และ คสช. ได้เริ่มไว้แล้ว ไปยังรัฐบาลต่อไป อย่าง ไร้รอยต่อ จึงมี คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่เรียกว่า ป.ย.ป. จัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันสำหรับดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมา จะเป็นการวางรากฐาน การเตรียมการสู่อนาคต เพื่อให้การเดินหน้าประเทศ และการบริหารราชการแผ่นดิน มีความต่อเนื่อง” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทหารไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ที่ผ่านมาเมื่อทุกอย่างติดล็อก จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ อาจจะกล่าวอ้างกัน ทุกคนทราบดีแก่ใจ ก็อยากให้พิจารณาให้ลึกซึ้ง

นายกฯ ยังกล่าวต่อว่า การชุมนุมประท้วงโดยเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันนั้นตนเห็นว่าจุดเริ่มต้น ของความปรองดองนั้น ก็คือ ความเข้าใจ อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือเพื่ออยู่อย่างสันติสุขในอนาคต สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากให้ทุกคนได้คิด อาจเป็นอุทาหรณ์ เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ที่ผ่านมานั้น ในยามที่พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ก็มักจะมีการรวมกลุ่ม ตั้งเวที ปิดถนน เรียกร้อง ต่อรองให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา เอาประชาชนเป็น ตัวประกัน เอาความเดือดร้อนจากการจราจรเป็น เงื่อนไข เร่งรัดให้ต้องมีการดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะมี ผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจเป็นผู้หวังดีหรือไม่หวังดีต่อสังคมก็ตาม และอาจเป็นผู้ที่หวังผลทางการเมือง แบบนี้ เป็นแนวทางที่ไม่ปรองดอง และนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แนวทางที่ถูกต้อง ปรองดอง และยั่งยืน ซึ่งอยากจะบอกให้ทุกคนทราบก็คือ 1.ประชาชนทั่วไปต้องเข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกรเสียก่อน เมื่อเข้าใจกัน ก็จะให้อภัยกัน ไม่โกรธกัน 2.การปิดถนนเป็นการกระทำผิดที่กฎหมาย เพราะละเมิดสิทธิผู้อื่น ดังนั้น ผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ยกเว้นไม่ได้ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะมีความผิดอีก เนื่องจากเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และหากปล่อยให้เกิดขึ้น ก็จะเป็น ตัวอย่างผิดๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ในสังคมไทย และ 3.เราต้องให้ความรู้กับเกษตรกร ถึงช่องทางสื่อสาร ที่ถูกต้อง กับผู้ที่รับผิดชอบ เช่น รัฐบาลปัจจุบันมี OSS ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 เป็นต้น จะได้ไม่เป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือของใคร ที่ไม่หวังดี และไม่ทำผิดกฎหมายอีก ทั้งเจตนาและไม่เจตนาทั้งนี้ หากทำได้ ตาม 3 ข้อนี้ก่อน ตนเชื่อว่า ปัญหาก็จะไม่บานปลาย ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็เอาเวลาไปแก้ปัญหา ดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญ ก็คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วความเข้าใจก็จะเกิด ความปรองดอง ก็จะอยู่คู่สังคมไทย อยู่เสมอ พูดง่ายๆ การปรองดองคือการร่วมกันคิดว่าเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไปเมื่อเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์