ยุทธการตลาด สะกดใจสาววัย 18+

ยุทธการตลาด สะกดใจสาววัย 18+

ประชากรไทยกว่า 60 ล้านคน เป็นนักศึกษาหญิง 1.2 ล้านคน สัดส่วนเล็กๆ ทว่ามีรายได้ 150,000 ล้านบาทต่อปี โอกาสธุรกิจสนอง Need กิน เที่ยว ช้อป

“กล้าใช้จ่าย มีกำลังซื้อ ปี 1 ถือหลุยส์ ปี 4 ถือบาลอง ชอบของจริง ‘ไม่เฟค’ ฉลาด รู้ทัน อย่ามาหลอกกันซะให้ยาก ต่อให้แบรนด์ทำผิด แต่ถ้ากล้าออกมายอมรับ สารภาพกันตรงๆ ก็ให้อภัยได้”

นี่คือตัวอย่าง พฤติกรรมและทัศนคติ ของสาวมหาวิทยาลัย วัย 18-22 ปี ที่รวบรวมได้จากงานวิจัย “The Campus Girl 's Insight เจาะตลาดสาวมหาลัยวัย 18+” ของ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)

ทำไมตลาดกลุ่มนี้ถึงน่าสนใจนัก และดูท้าทายแบรนด์สินค้ากับนักการตลาดยุคนี้เอามากๆ ส่วนหนึ่งมาจากความหอมหวาน ที่หลบซ่อนอยู่ในกระเป๋าสตางค์ของนักศึกษาสาวเหล่านี้ กับกำลังซื้อที่ไม่เบาะไม่เบาเลยสักนิด 

โดยทั่วประเทศเรามีสาวมหา'ลัยอยู่ประมาณ 1.2 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตกคนละ 1,0200 บาท (ตั้งแต่ 6,000- 50,000 บาท) เด็กส่วนหนึ่งไม่ได้มีแค่เงินเดือน ทว่ายังมี “เงินเสริม” ทั้งจากการทำงานพาร์ทไทม์ เงินพิเศษ และบัตรเสริมที่ได้จากพ่อแม่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นค่าที่พักไม่ถึง 10% ที่เหลือใช้เพื่อสนอง Need (ความต้องการ) ของตัวเองล้วนๆ

“เงินเกือบ 90% ถูกใช้เพื่อตัวเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะ กิน เที่ยว ช้อป โดยมีไม่ถึง 10 % ที่จ่ายเป็นค่าที่พัก ส่วนที่เหลือคือเงินที่น้องใช้เพื่อตัวเอง สมมติได้เงินจากคุณแม่มา 1 หมื่นบาท บางคนใช้เต็มหมื่น ขณะที่บางคนก็ใช้มากกว่านั้น"

คำบอกเล่าของ “ชุตินันท์ ลีละฉายากุล” นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด CMMU ตัวแทนผู้วิจัย เจาะตลาดสาวมหาลัยวัย 18+ สะท้อนความน่าสนใจของตลาดนักศึกษาสาว ที่ยอมจัดหนักจัดเต็มไปกับสินค้าและบริการที่พวกเธอชอบ

ยกตัวอย่าง การเดินเข้าร้าน Eveandboy มัลติแบรนด์ด้านความงามชื่อดัง อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง เสียเงินต่อครั้งก็ 300-1,000 บาท เข้าร้านอาหารญี่ปุ่น 1-2 ครั้งต่อเดือน จัดไปเบาๆ ครั้งละ 400-500 บาท บางคนเข้า After You สูงถึง 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่าขนมอาจหลักร้อย แต่ถ้าสั่งมาแชร์กันหลายๆ คน ก็จ่ายกันแค่หลักสิบ เลยไปบ่อยได้ไม่ลำบากกำลังทรัพย์

ของราคาแพงสุดที่พวกเธอยอมซื้อคือ “กระเป๋า” ซึ่งบางคนยอมทุ่มทุนสูงถึง 8 หมื่นบาท! ที่สำคัญเก็บเงินเองไม่ได้รบกวนพ่อแม่ เสียงสะท้อนจากสาวๆ คือ รู้นะว่าแพงแต่ก็อยากมีไว้ครอบครองสักใบ เห็นเพื่อนมีก็อยากมีบ้าง และมองของพวกนี้เป็นสัญลักษณ์ในการเข้ากลุ่มด้วย รองลงมาคือ “ไอโฟน” จ่ายไปเบาๆ ก็แค่เกือบ 4 หมื่นบาท! ส่วนสาวกกิมจิ ก็ยอมควักเงินไปกับ บัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีที่ชอบ สูงถึง 7,000 บาท!

นี่คือตัวอย่างกำลังซื้อ “ไม่ธรรมดา” ของกลุ่มสาวมหา'ลัยวัย 18+ ที่มองข้ามไม่ได้เลยสักนิด

เห็นมีแต่ของราคาแพง แต่ใครจะคิดว่า สาวมหา'ลัยเจนนี้จะใจกว้างและเปิดรับ โดยพวกเธอไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ แต่ติดใน “คุณภาพ” ง่ายๆ คือ ถ้าของดีจริง สื่อสารได้โดนใจ แม้เป็นแบรนด์ “ไท้ยไทย” แค่ไหนก็พร้อมจะเข้าร่วมเป็นสาวก

ดูตัวอย่างผลสำรวจ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่สาวมหา'ลัยสุดปลื้ม แม้ 3 อันดับแรก จะยังเป็นแบรนด์คุ้นตลาดดี อย่าง นีเวีย เรโซนา และโดฟ แต่สาวๆ ส่วนหนึ่งกลับปันใจให้ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยอย่าง สารส้ม และแป้งตราเต่าเหยียบโลก..อ่ะจิงดิ!

“อย่างปัจจุบันสารส้มผลิตออกมาในรูปแบบโรลออน หรือลูกกลิ้ง เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น สูตรก็มีให้เลือกหลากหลาย และเป็นธรรมชาติ ซึ่งเขาก็ชอบนะ หรืออย่างแป้งตราเต่าเหยียบโลก แป้งดับกลิ่นที่เป็นผงใช้ง่าย เน้นทาบริเวณใต้วงแขน ชื่อก็แปลก กระแทกใจเขา แม้เป็นแบรนด์คนไทยทำเอง แต่ถ้าโดนใจ เขาก็เลือก”

ตอกย้ำว่า เด็กสาวยุคนี้ ใช้เพราะ “เนื้อแท้” ของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่แค่กลยุทธ์การตลาดแบบ “ฉาบฉวย” เท่านั้น

เด็กสมัยนี้ยังใช้เงินเก่ง รสนิยมดี กินอาหารทีก็ขอ “อร่อย เลิศ หรู” จะกินร้านไหนบรรยากาศต้องดูดีไว้ก่อน ถ้าแบบฟาสต์ฟู้ดทั่วไป “ไม่ใช่ทาง” ของเด็กยุคนี้ แต่ที่นักการตลาดต้องให้ความสนใจมากๆ เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้พกมาแค่รสนิยม 

ทว่ายังรู้จักหาเงินมาสนองความความต้องการของตัวเอง

สอดรับคำบอกเล่าของ “ดร.จิราพร พฤกษานุกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิโก คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่เคยสะท้อนคาแรคเตอร์เด็กเจน Z  (เกิดระหว่างคศ.1995-2009) ซึ่งไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาแบบประคบประหงมเหมือนเจนY ไม่ว่าจะเกิดมาในครอบครัวร่ำรวยหรือยากจน แต่เด็กกลุ่มนี้จะเลือกไปทำงานพาร์ทไทม์ (หารายได้เสริม) 

โดยรู้สึกว่าการได้ทำงานพิเศษคือ เจ๋ง สามารถทำงานหาเงินใช้เองได้

ขณะที่ผลงานวิจัยของ CMMU ระบุชัดว่า เด็กสาวถึง 38.6% มีรายได้พิเศษ โดยส่วนใหญ่มาจากการทำงานพาร์ทไทม์ เช่น พนักงานในร้านฟาสต์ฟู้ด รองลงมาคือ ทำธุรกิจส่วนตัว อย่าง ขายของออนไลน์ เด็กส่วนหนึ่งทำงานฟูลไทม์ (เต็มเวลา) พร้อมกับเรียนไปด้วย บางคนสอนพิเศษ และส่วนเล็กๆ ยังรู้จัก “ลงทุนทางการเงิน” เพื่อเติมเม็ดเงินใส่กระเป๋าของตัวเองด้วย

นอกจากนี้ บางคนยังมีบัตรเครดิตเสริมจากพ่อแม่ วงเงินเฉลี่ยก็อยู่ที่ 20,000 บาท

สวย และรวยมาก คอนเซ็ปต์โดนใจนักการตลาดยุคนี้

แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ คิดว่าเด็กสาวยุคใหม่จะเป็นตลาดที่หวานหมู และถ้าใครเคยพยายามรู้จักเด็กรุ่นใหม่เมื่อ 3-4 ปี ก่อน บอกเลยว่า “แตกต่าง” จากเด็กรุ่นใหม่ในวันนี้

“เอาแค่เด็กเจน M (Millennial Generations) เมื่อ 4 ปีก่อน กับเด็กวันนี้ ก็ต่างกันแล้ว โดยเราเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะพฤติกรรม การใช้ชีวิต ความเชื่อ ความชอบ และการยอมรับต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิมมาก” 

“สุพรรณี วาทยะกร” อาจารย์สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกความท้าทายของการเข้าใจเด็กสาวเจนใหม่ ที่แตกต่างไปจากคนรุ่นใหม่เมื่อไม่กี่ปีก่อน

อย่างเด็กสาววันก่อน อาจปลื้มปิ้งย่าง ทว่าเด็กสาววันนี้ ต้องซูชิ ชาบู กินอาหารสุขภาพ 

เด็กสาววันโน้นอาจปลื้มพระเอกแสนดี แต่เด็กสาวยุคนี้ชอบตัวละครที่สมจริง ดี เลว แรง ร้าย ได้ เพราะเขาอยู่กับความเป็นจริง 

เด็กสาวยุคก่อน อาจยังพอเชื่อพรีเซนเตอร์ เชื่อฟังบล็อกเกอร์ แต่เด็กสาวยุคนี้ เชื่อแม่ เชื่อเพื่อนแนะนำ กับคนใช้จริงมากกว่า ชัดเจนว่า “ไม่ซื้อของตามบล็อกเกอร์” ที่สำคัญพวกเธอ ฉลาด แยกแยะออกว่า ใครใช้จริงหรือรับจ้างมาพูด

“Wongnai” เคยเป็นเว็บและแอพที่ช่วยค้นหาร้านอาหารซึ่งเคยได้รับความนิยมจากเด็กยุคหนึ่ง แต่เด็กวันนี้เขาติดตามไอจีและเฟซบุ๊ค “Starvingtime” ดูรีวิวอาหารที่เน้นความเที่ยงตรง และของจริง ไม่มีเตี๊ยม ไม่มีผักชีโรยหน้า ไม่ได้ทำเพื่อการโฆษณา

เด็กยุคก่อนไม่ชอบโฆษณา และพร้อมจะกดข้ามทันทีที่เห็น แต่เด็กยุคนี้ ถ้าทำดี มีครีเอทีฟ ดราม่ากินใจ ตลกขบขัน ทำเรื่องชวนให้ติดตาม และสื่อสารในภาษาเขา ก็พร้อมจะเปิดรับ

เด็กรุ่นก่อนพูดกันมากเรื่อง “จริยธรรม จรรยาบรรณ”  แบรนด์ไหนไม่มีจริยธรรมเขาจะไม่ใช้ 

ทว่าเด็กวันนี้กลับคิดต่างไป พวกเขาเชื่อว่าคนมีทั้งด้านดีและไม่ดี ถ้าแบรนด์กล้าออกมายอมรับผิด ก็พร้อมจะให้อภัย

“เด็กยุคนี้อยู่กับความเป็นจริง แยกแยะออก ชั่งน้ำหนักได้ และใจกว้าง ฉะนั้นถ้าแบรนด์ทำผิด เขามีโอกาสยอมรับหรือให้อภัยได้เร็วกว่าเด็กยุคก่อน ถ้าคุณออกมาขอโทษ ออกมายอมรับ เขาก็พร้อมจะให้อภัย แต่ถ้ายังดื้อไปเรื่อยๆ แล้วเขาจับได้ เขาจะแชร์เรื่องแย่คุณจนไม่มีเหลือ และไปเร็วมาก”

เด็กยุคนี้ใจร้อน ชอบการสื่อสารที่ชัดๆ ตรงๆ ไม่ซับซ้อน พวกเธอชอบแบรนด์ที่บอกหมด ราคาเท่าไรประกาศให้ชัดไปเถอะ ถ้าชอบก็ซื้อ ขอแค่รู้ราคาหน่อย แต่ถ้าไม่รู้ก็จะไม่ถามต่อ..ไปล่ะนะ

ไม่ว่าจะร้านออนไลน์ หรือช็อปทั่วไป ก็ขอให้มีสินค้าที่หลากหลาย ส่วนร้านแบบที่ชอบแปะป้าย ห้ามหยิบ ห้ามแตะ ห้ามลอง ระวังสาวๆ เขาจะเมินใส่ เพราะพวกเธอชอบแบบมีสินค้าให้ทดลอง เพราะแค่มองก็คงไม่ซื้อ แต่ถ้าได้ลองแม้ไม่ได้ตั้งใจมาซื้อ หรือของยังไม่หมด ก็อาจพ่ายความอยากควักเงินออกจากกระเป๋าได้

เห็นแบบนี้แล้วจะใช้กลยุทธ์อะไรดีมาดึงจิตมัดใจสาวรุ่นใหม่วัย 18+ ? 

บทสรุปของงานวิจัยแนะกลยุทธ์ที่เรียกว่า "COSMETIC" คือ 

1.C–Content ดึงดูดด้วยเนื้อหา ผ่านการนำเสนอคลิปวิดีโอ ภาพ หรือข้อความที่น่าสนใจ กระชับ และสามารถสื่อสารถึงผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ได้อย่างชัดเจน
2.O –Online สื่อสารผ่านออนไลน์ ช่องทางที่สามารถเข้าถึงเด็กสาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.S–Small เน้นขนาดพกพา หาซื้อง่าย โดยเฉพาะพวกของใช้ส่วนตัว
4.M–Multibrand หลากหลายแบรนด์ให้เลือก ณ จุดขาย มีคุณสมบัติสินค้าอธิบายอย่างชัดเจน สามารถเปรียบเทียบความต่างได้
5.E–Easy & Convenience ครบวงจรในที่เดียว
6.T–Tester มีให้ทดลองสินค้า กระตุ้นให้ตัดสินใจซื้อได้รวดเร็วขึ้น
7.I–Influence from Friends & Mom เชื่อแม่ เชื่อเพื่อน
และ 8.C–Confident เน้นสร้างความมั่นใจ


ได้อาวุธมาแล้วก็ไม่ต้องคิดไกลถึงไอเดียโฆษณาคูลๆ โปรดักส์ชั่นเทพๆ ฝีมือระดับผู้กำกับมือรางวัล เพราะแม้แต่ตัวแบรนด์หรือผู้ประกอบการเอง ก็สามารถลุกมาทำการตลาดกับสาวๆ มหา'ลัยได้ง่ายๆ 

ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ครีเอทีฟ”

ดูตัวอย่าง “ร้านบิ๊กเต้” ร้านขายของชำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ขวัญใจนักศึกษารุ่นใหม่ ที่เลือกใช้คอนเทนต์ทำมือแบบง่ายๆ โดยเขียนคำโฆษณาคมๆ ลงบนกระดาษโพสต์อิทแล้วแปะเรียกลูกค้า สื่อสารในภาษาที่ถูกใจเหล่านิสิตสาว เช่น ขายนมสดยี่ห้อ “ทำนม” ก็แปะข้อความโฆษณาโดนๆ ว่า 

“ทำนม นมสดแท้ 100% ไม่ผสมซีลิโคน 25 บาท”  หรืออย่างเครื่องดื่ม “เย็น เย็น” ที่เห็นโฆษณากันอยู่ทั่วไป แต่ร้านบิ๊กเต้ครีเอทให้ใหม่ว่า “น้ำจับเลี้ยงเข้มข้น เย็น เย็น โกลด์ แก้อาการร้อนใน แต่ไม่ช่วยอาการร้อนเงิน”  เรียกว่าเจาะลึกถึงอินไซด์ของน้องๆ แล้วมาสนองด้วยคอนเทนต์ที่โดนจุดพวกเขา

เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ค “หมอแนน แพทย์จีน TCM” ที่สลัดภาพความเชย แก่ ของการรักษาแบบแพทย์แผนจีนโดยวิธีกดจุด ให้เข้าถึงและโดนใจกลุ่มนักศึกษาสาวมากขึ้น ด้วยการคิดคอนเทนต์สนุกๆ มาใช้สื่อสารกับเด็กยุคนี้ เช่น ใช้คำ “เรือล่มในหนองปวดท้องต้องจงหว่าน” หรือ “เข้าตามตรอก อึไม่ออกบอกจือโกว” เพื่อสอนวิธีรักษาอาการแก้ปวดท้องแบบง่ายๆ ด้วยแพทย์แผนจีน ด้วยคอนเทนต์ที่น่ารัก ภาพประกอบที่เข้าใจง่าย เลยเรียก ไลค์และแชร์ จากเหล่าสาว 18+ได้ไม่ยาก

"การสื่อสารกับเด็กยุคนี้ต้อง ชัดเจน สั้น และง่าย เพราะต้องยอมรับว่าเขาไม่ได้อ่านเยอะ ต้องนั่งคุยกับเด็ก ถึงจะตามเด็กทัน ฉะนั้นถ้าใครที่จะคิดงานโฆษณาหรือทำการตลาด อยากให้ดึงเด็กกลุ่มนี้มานั่งทำโฟกัสกรุ๊ปด้วย เป็นการ Co-creation (การสร้างคุณค่าร่วมกัน)ซึ่งอาจจะทำให้เราได้อะไรที่โดนๆ ขึ้นมา และวิธีนี้ลงทุนถูกด้วย

เด็กสาวมหา'ลัยยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดย อาจารย์สุพรรณี บอกต่ออีกว่า แม้จะเป็นกลุ่มที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากพลังของดิจิทัล แต่ถือว่าเป็นตลาดที่ยังมีความหวังและเป็นอนาคต เพราะกลุ่มผู้หญิงยังเป็นตลาดใหญ่ และมีแนวโน้มที่ผู้หญิงจะขึ้นมาเป็นผู้บริหารมากขึ้น เด็กสาววันนี้ต่างฝันที่อยากทำงานให้ได้เงินเยอะๆ อยากเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินดีๆ อยากทำธุรกิจส่วนตัว อยากทำอาชีพอิสระที่ตอบทั้งเงินและความสุข 

ที่สำคัญ พวกเธอพยายามสูงเสียด้วยที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น

นั่นหมายความว่า ในอนาคตเด็กสาวกลุ่มนี้จะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและกำลังทรัพย์ ถ้าแบรนด์หรือสินค้าสามารถพิชิตใจเด็กสาวกลุ่มนี้ได้ เขาก็พร้อมเป็นตลาดผู้ภักดีให้กับธุรกิจในอนาคต

“มองว่าผู้หญิงไทยเก่งขึ้น และอนาคตเราจะมีผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้บริหารมากขึ้น ฉะนั้นลองจับเขาได้ตั้งแต่วันนี้ และจับเขาต่อเนื่องไปได้ ก็เป็นโอกาสให้ธุรกิจของท่านในอนาคต”

กับอีกหนึ่งความหวังที่พร้อมปลุกกำลังซื้อยุคนี้ให้คึกคัก ขอแค่ “รู้จัก” “เข้าใจ” และ “ใช้เป็น” ก็พร้อมพิชิตโอกาสในตลาดสาวเจนใหม่วัย 18+

---------------------------------

กลยุทธ์พิชิตใจ สาวมหา'ลัย

“สาวมหา'ลัย” กลายเป็นโจทย์ท้าทายของบรรดาเจ้าของธุรกิจหรือนักการตลาด ที่ต้องเริ่มทำการบ้านกันอย่างหนัก เพื่อให้แบรนด์ของตัวเองเข้าไปครองตำแหน่งในใจสาวๆ ลองดูตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการพิชิตตลาดนี้

แฟชั่น สตรีทแวร์ กำลังเป็นที่นิยมอย่างเหลือเชื่อในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะร้าน “CARNIVAL” ที่มี “อนุพงศ์ คุตติกุล” เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คาร์นิวาล ซัพพลาย จำกัด (CARNIVAL BKK) ขวัญใจวัยรุ่นที่ชื่นชอบแฟชั่น หรือ รองเท้า Sneaker ถือเป็นร้าน Multi Brand ที่รวบรวมเสื้อผ้ารองเท้าหลากหลายแบรนด์ เน้นรุ่นที่เป็น Exclusive มีขายเฉพาะที่ร้านนี้เท่านั้น

กลุ่มนักศึกษาหญิงมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ด้วยลักษณะการตัดสินใจซื้อของผู้หญิงที่มักง่ายกว่าผู้ชาย ทำให้ร้าน CARNIVAL เลือกมีสินค้าที่หลากหลายรองรับสาวมหา'ลัยซึ่งเดินเข้ามาให้สามารถซื้อได้ทันที และอยู่ในราคาที่จับต้องได้ เน้นการบริการที่สบายๆ มีความเป็นกันเองกับลูกค้า ทำให้รู้สึกเหมือนมีเพื่อนคอยให้คำแนะนำ พร้อมทั้งมีวิธีที่ทำให้กลุ่มนี้กลับมาซื้อซ้ำ ด้วยการใช้ระบบสมาชิก เพื่อสะสมแต้มใช้เป็นส่วนลด เป็นโปรโมชั่น ซึ่งช่วยส่งเสริมการขายได้อย่างดีด้วย

อีกหนึ่งธุรกิจขวัญใจสาววัย 18+ คือ ร้านเครื่องเขียน “สมใจ” ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 50 ปี ล่าสุดได้ขยับตัวเองสู่โลกยุคดิจิทัล ด้วยฝีมือของทายาทรุ่น 3 “นพนารี พัวรัตนอรุณกร” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Somjai Online ทายาทได้เข้ามาช่วยดูแลปรับปรุงร้าน และโมดิฟายให้ร้านไม่ตกยุคตกสมัย กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นสาวมหา'ลัยที่ชื่นชอบเครื่องเขียน และกลุ่มนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับแบรนด์และบริการ ซึ่งทางสมใจก็ทำร้านให้มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ให้บริการที่ดี จนลูกค้าได้รับบริการที่ดีกลับไปอย่างประทับใจ ในส่วนของช่องทางออนไลน์ มีการสร้าง branding และสื่อสารออกมาในรูปแบบ “Minimal” ที่ดูเรียบง่าย เว้นพื้นที่เยอะๆ ให้เกิดความรู้สึกน่าซื้อน่าจับต้อง 

ขณะเดียวกัน ยังเล่นสีให้ความรู้สึกอบอุ่น และมีความเป็นเอเชียมากขึ้น วิธีคิดที่เรียบง่ายแต่นับว่าได้ใจสาว 18+ แถมยังเลือกพัฒนาช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างทันยุค

ขณะที่ “ศุภเจตน์ ตระการศิริวานิช” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Growth Café and Co ธุรกิจพื้นที่ให้เช่า ที่กลายเป็นร้านอ่านหนังสือขวัญใจนักศึกษาเมืองกรุงไปแล้ว โดยร้านแห่งนี้ตอบโจทย์สาวรุ่นใหม่ได้อย่างตรงจุด ด้วยบริการที่ดี การจัดองค์ประกอบของร้าน ให้ดูน่าสนใจและน่ารักน่าชัง จนดึงดูดเหล่านักศึกษาหญิงได้อยู่หมัด พร้อมสร้างอารมณ์ร่วมให้ทุกคนรู้สึกว่าสามารถเข้ามาใช้บริการได้ จนเกิดการอยากบอกต่อ โดยเฉพาะกลุ่มสาว 18+ ที่มักจะแชร์เรื่องราวประทับใจให้กลุ่มเพื่อนๆ ฟังอยู่เสมอ ซึ่งที่นี่เองก็ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักขึ้นได้ในเวลารวดเร็วก็เพราะการบอกต่อของสาวๆ

“ธุรกิจของเราคือการให้บริการ สิ่งที่ทำให้บริการมีความโดดเด่นได้ก็คือ การเอาใจใส่ดูแลลูกค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจหลัก หากปราศจากส่วนนี้ Growth Café and Co ก็จะเป็นเพียงแค่ห้องแถวที่ให้คนมาอ่านหนังสือเท่านั้น” เขาย้ำ

เพียงแค่หาทางพัฒนาสินค้าและบริการที่มัดใจสาวมหาลัยได้ ก็จะพบโอกาสเติมเม็ดเงินสู่ธุรกิจได้ไม่รู้จบ

----------------------------------

ทำความรู้จัก สาวเจนใหม่วัย 18+

การทำตลาดกับสาวมหาลัยวัย 18+ อาจไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเพียงได้รู้จักกับเด็กเจนนี้มากขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ได้สัมภาษณ์ “น้องจาน่า-จันทร์จิรา โคตรวัน” นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 3 วัย 21 ปี จากคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เพื่อเรียนรู้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและ ทัศนคติที่มีต่อสินค้าและบริการของเด็กยุคนี้

น้องจาน่าเป็นเด็กกรุงเทพฯที่แยกจากครอบครัวมาอยู่หอพักตามลำพังเพราะบ้านอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัย เธอเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง สนใจเรียนรู้และลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ชอบเต้นและเต้นเก่งจนถูกเรียกว่า “แดนซิ่งควีน” แม้แต่วันที่ให้สัมภาษณ์ก็อยู่ระหว่างเป็นบัดดี้พานักศึกษาเกาหลีไปทำกิจกรรมที่ต่างจังหวัด

ในแต่ละเดือนเธอมีรายได้รวมค่าหอพักจากครอบครัวที่ประมาณ 7,000 บาท แต่น้องจาน่าก็ยังมีรายได้พิเศษจากการทำงานพาร์ทไทม์ ทั้งเป็นพนักงาน PC แนะนำสินค้าเวลาแบรนด์ไปออกบูธตามห้างต่างๆ ครั้งละ 3-4 วัน โดยได้รายได้ตกวันละ 500-800 บาท เคยสมัครเป็นตัวประกอบในละครซีรีส์วัยรุ่น และงานพิเศษอื่นๆ ที่หาได้ตามเพจในเฟซบุ๊ค

เธอทำงานพิเศษ เพราะไม่อยากให้ชีวิตว่างเกินไป และมองว่าประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่คือความภูมิใจเวลาได้ซื้อของด้วยเงินตัวเอง โดยที่ผ่านมาไม่ค่อยเสียเงินไปกับของชิ้นใหญ่ แต่ชอบแบรนด์ระดับกลาง ที่ราคาสมเหตุสมผล อย่างรองเท้าก็ขอไม่เกิน 1,500 บาท เธอประหยัดและใช้เงินเป็น

ในการเลือกซื้อสินค้า เธอว่า ไม่ต้องเป็นแบรนด์หรู แต่ขอของดี มีคุณภาพ และไม่เอาของก็อปเพราะใช้แป๊บเดียวก็พังต้องเสียเงินซื้อหลายครั้ง ถ้าจะซื้อแบรนด์แพงหน่อยก็จะซื้อตอนลดราคา ไม่ยึดติดในแบรนด์ แต่ขอให้ของคุณภาพดี ราคารับได้ ก็ยอมควักเงินซื้อ ให้ความสำคัญกับคำว่า “คุ้มค่า” มากที่สุด

เธอติดโซเชียล เล่นโซเชียล แต่ก็เชื่อว่า ถ้าใช้เป็นก็หาประโยชน์จากมันได้ เหมือนที่เธอหางานพิเศษทำจากช่องทางนี้

ความฝันของน้องจาน่าคือการได้เป็นแอร์โฮสเตส อาชีพในฝันของสาวๆ โดยมีสายการบินในดวงใจคือ สายการบินเอมิเรตส์ ตรงๆ คือได้เงินเยอะกว่าไทย และการดูแลพนักงานก็ดีมากๆ เธอมุ่งมั่นทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จ ด้วยการเรียนเอกภาษาอังกฤษ และฝึกทักษะภาษาของตัวเองจนเชี่ยวชาญ โดยหลังจบปี 4 ก็จะเดินหน้าสมัครเป็นแอร์ เวลาเดียวกันก็ทำงานพิเศษอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ชีวิตไปด้วย

คนรุ่นอื่นชอบบอกว่า เด็กเจนนี้อดทนน้อย ก้าวร้าว ไม่จงรักภักดีในอะไรสักอย่าง แต่น้องจาน่าบอกเราว่า ไม่ได้ขึ้นกับเจนไหนแต่ขึ้นกับตัวบุคคลมากกว่า ว่าเติบโตมาแบบไหน อย่างเธอและเพื่อนๆ เอง ก็มีความตั้งใจ และขยัน ชอบเรียนรู้งานหลายๆ อย่าง เธอเองจบพาณิชย์มาด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ใช่เด็กที่แรงเหมือนที่คนอื่นเขามองกัน กลับชอบทำกิจกรรม และมุ่งมั่นกับฝันของตัวเองอย่างเต็มที่ และใจกว้างพอที่จะเปิดรับกับสินค้าและบริการใหม่ๆ

ถ้าดี มีคุณภาพ ในราคาที่รับได้ ก็พร้อมที่จะจงรักภักดีกับแบรนด์นั้น