ผู้ถือหุ้นใหญ่บจ.แห่ 'ตุนหุ้น' เข้าพอร์ต

ผู้ถือหุ้นใหญ่บจ.แห่ 'ตุนหุ้น' เข้าพอร์ต

สำรวจแบบรายงาน 59-2 เดือนม.ค. พบ "ผู้บริหารของ12 บจ." ทยอยซื้อหุ้น

จากการสำรวจแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (59-2) ในช่วงเดือนม.ค.2560 จะเห็นว่าผู้บริหารซึ่งมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทได้ทำรายงานการซื้อหุ้นตัวเองอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนการถือครองที่เพิ่มขึ้น โดยจากรวบรวมมีจำนวนทั้งหมด 12 บริษัท โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่รายการซื้อด้วยมูลค่าสูงสุดคือ บริษัท แสนสิริ (SIRI) ด้วยมูลค่ารวมกันถึง 106.37 ล้านบาท ภายในช่วง 3 สัปดาห์แรก

เศรษฐา ทวีสิน รายงานการซื้อมากที่สุดรวม 35.13 ล้านหุ้น รองลงมาคือ วันจักร์ บุรณศิริ รวม 15 ล้านหุ้น และอภิชาติ จูตระกูล รวม 10 ล้านหุ้น ซึ่งราคาหุ้นเฉลี่ยคิดจากการซื้อของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 3 ราย อยู่ที่ราว 1.77 บาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า แนวโน้มผลประกอบการของแสนสิริ ช่วงไตรมาส 4/2559 น่าจะเติบโตขึ้น โดยคาดรายได้ 11,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% จากปีก่อน และ 70% จากไตรมาสก่อน ส่วนกำไรสุทธิน่าจะอยู่ที่ 1,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% จากปีก่อน และ 118.3% จากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตาม ภาพทั้งปี 2559 รายได้ของบริษัทน่าจะลดลง 9.1% จากปีก่อน ทำได้ 33,574 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 11.6% อยู่ที่ 3,098 ล้านบาท

สำหรับบริษัทถัดมาที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ซื้อหุ้นเพิ่ม คือบริษัททีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) ด้วยมูลค่ารวม 70.26 ล้านบาท จากการซื้อของ สมัย ลี้สกุล และภาสิต ลี้สกุล ที่ราคาเฉลี่ย 1.48 บาท

ทั้งนี้ ภาสิต ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ยอมรับก่อนหน้านี้ว่า รายได้รวมในปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางเคยวางไว้เติบโต 20% โดยจะทำได้เพียง 4,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีรายได้ 3,955 ล้านบาท เนื่องจากงานประมูลหลายโครงการล่าช้าทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ในปี 2560 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้แตะระดับ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทจะเริ่มเซ็นสัญญาโครงการเหมืองอาเซียนโปแตช (APOT) มูลค่ารวม 33,3372 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดรอรับรู้รายได้ (Backlog) ของบริษัทให้สูงขึ้นถึงระดับประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยงานก่อสร้างโครงการเหมืองอาเซียนโปแตช (APOT) คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2560 ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่เหลืออีก 10 แห่ง ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่เข้าไปเก็บหุ้นเพิ่มในช่วงต้นปีนี้ ได้แก่บริษัทสตาร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (SMT) โดยพูนพรรณ ไชยกุล และสมนึก ไชยกุล รวม 2.79 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 7.81 ล้านบาท

บริษัท โมโน เทคโนโลยี (MONO) โดย พิชญ์ โพธารามิก จำนวน 4 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 3.49 ล้านบาท บริษัทซีซีเอ็น-เทค (CCN) โดย ดุลภาค เพ่งพันธ์พัฒน์ จำนวน 4 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 3 บาท

บริษัทแม็คกรุ๊ป (MC) โดย สุณี เสรีภาณุ จำนวน 7.63 แสนหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 14.45 บาท บริษัทวนชัย กรุ๊ป (VNG) โดย สมประสงค์ สหวัฒน์ จำนวน 5 แสนหุ้น ราคาเฉลี่ย 15.7 บาท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง (GEL) โดย ธิติพงศ์ ตั้งพูนผลวิวัฒน์ จำนวน 7.67 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 0.53 บาท บริษัท นิปปอนแพ็ค (NPP) โดย สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย จำนวน 3.02 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 1.22 บาท บริษัทอาร์เอส (RS) โดย สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จำนวน 1.46 แสนหุ้น ราคาเฉลี่ย 8 บาท

บริษัทห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด (ASIAN) โดย สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล จำนวน 1.88 แสนหุ้น ราคาเฉลี่ย 4.46 บาทและบริษัทผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) โดย ประทีป ทีปกรสุขเกษม จำนวน 1 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 0.59 บาท

จากข้อมูลดังกล่าวอาจจะสะท้อนได้ว่า ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงว่า การทยอยซื้อหุ้นในครั้งนี้ของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นย่อมมีส่วนต่างจากกำไรราคาอย่างแน่นอน